นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างชายและหญิงโดยเท่าเทียมกันในการจ้างงาน เว้นแต่ลักษณะหรือสภาพของงานไม่อาจปฏิบัติเช่นนั้นได้ ซึ่งเป็นหลักการที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและมาตรฐานสากลที่กำหนดให้ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน รวมทั้งเป็นการคุ้มครองให้ลูกจ้างหญิงและชายได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคเท่าเทียมในเรื่องของสภาพการจ้างการทำงาน เช่น การจ่ายค่าจ้าง กำหนดการเกษียณอายุ เป็นต้น ทั้งนี้หลักการของกฎหมายดังกล่าวให้การคุ้มครองทั้งลูกจ้างไทยและต่างชาติ กสร. จึงขอให้นายจ้างปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท นอกจากนี้นายจ้าง เจ้าของสถานประกอบกิจการ สามารถนำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labour Practices : GLP) และมาตรฐานแรงงานไทย (TLS 8001-2010) ไปใช้ในการบริหารจัดการด้านแรงงานเพื่อให้มีการปฏิบัติต่อแรงงานที่ถูกต้องสอดคล้องกับข้อกฎหมาย และหลักการตามมาตรฐานสากล ลูกจ้างมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสถานประกอบกิจการอีกทางหนึ่งด้วย
นายทศพล กล่าวต่อว่า หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labour Practices : GLP) และมาตรฐานแรงงานไทย (TLS 8001-2010) สอบถามได้ที่หน่วยงานของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทั่วประเทศ หรือที่สายด่วน 1506 กด 3