สุชาดา สหัสกุล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯเล่าว่า หวังที่จะให้ผู้คนเห็นถึงความสำคัญของหนังสือเล่มต่างๆในประวัติศาสตร์การอ่านของโลกและประเทศไทย ที่มีบทบาทเปลี่ยนแปลงคนและเปลี่ยนแปลงโลก เพราะ "หนังสือสร้างคน คนสร้างโลก"
"การอ่านคือปัจจัยทางด้านความรู้ต่างๆทุกอย่างเริ่มจากการอ่าน นำไปสู่การทดลอง และริเริ่มลงมือทำ สิ่งที่คนอ่านก็คือเนื้อหา แต่อาจจะเปลี่ยนรูปแบบ เราสามารถหาความรู้ได้จากรูปแบบที่หลากหลาย ตั้งแต่หนังสือเล่มถึงออนไลน์ ซึ่งคนก็จะไปเปลี่ยนแปลงโลกจากความคิดที่เขาได้รับจากเนื้อหาต่างๆ ไม่ว่าจะอ่านด้วยรูปแบบใด เพราะทุกรูปแบบทุกเครื่องมือเป็นเพียงสื่อที่บรรจุสารที่มนุษย์คิดค้นขึ้น โดยมีการ "อ่าน" เป็นเครื่องมือในการถอดรหัส
ถ้ายังอยากจะสร้างคุณภาพของคนไทยให้สามารถแข่งขันในโลกใบนี้ได้ เราต้องสร้างวัฒนธรรมการอ่าน ไม่ว่าจะในรูปแบบไหนก็ตาม เราจึงควรจะกลับมาอ่านกันอีกครั้ง เพื่อสร้างคุณภาพคนไทยให้มีความรู้และจินตนาการที่ทันยุคสมัยพร้อมที่จะแข่งขันในเวทีโลก"
ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งนี้ มีนิทรรศการ 2 นิทรรศการที่น่าสนใจมาก คือ "นิทรรศการอ่าน...อีกครั้ง" และ "นิทรรศการ Creative Comic Collection (CCC)" จากไต้หวัน ซึ่งทั้ง 2 นิทรรศการสามารถเชื่อมโยงให้เห็นถึงเส้นทางการอ่านตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และสิ่งที่กำลังจะเป็นอนาคต ที่ไม่ว่าแพล็อตฟอร์มจะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน คอนเทนท์เนื้อหาคือสิ่งที่สำคัญที่สุด และเป็นองค์ประกอบสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมได้ จากคนที่อ่านหนังสือ
อดีต ปัจจุบัน และอนาคตบางส่วนอยู่ในนิทรรศการหลักของงานคือ นิทรรศการ"อ่าน...อีกครั้ง" โดยนอกจากจะเล่าถึงเส้นทางการอ่าน ที่แสดงให้เห็นพัฒนาการของอ่านในรูปแบบต่างๆแล้ว ยังเครื่องพิมพ์โบราณอายุ 187 ปี หนังสือจินดามณีฉบับโบราณมาแสดงด้วย รวมถึง "หนังสือเปลี่ยนโลก" ซึ่งนำเสนอหนังสือเล่มสำคัญที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์ในทุก ๆ ด้าน และ "หนังสือเปลี่ยนไทย" ซึ่งจะนำเสนอหนังสือเล่มสำคัญที่เป็นหลักหมายของสังคมไทยที่ยังมีผลมาจนถึงปัจจุบันด้วย ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบการอ่านใดก็ตาม
หนังสือเปลี่ยนโลก คือการคัดเลือกหนังสือเล่มสำคัญของโลก (ที่มีการแปลเป็นภาษาไทย) ที่นำมาสู่การกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ มีหลายเล่มน่าสนใจมาก อาทิ หนังสือวิทยาศาสตร์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดของยุคสมัยนี้ อย่าง "ประวัติย่อของกาลเวลา (A Brief History of Time) โดย สตีเฟน ฮอว์กิ้ง ที่อธิบายการค้นหาคำตอบต่อปริศนาว่าด้วยเวลาและอวกาศของนักวิทยาศาสตร์ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน หรือหนังสือที่ได้ชื่อว่าเป็นรองแค่คัมภีร์ไบเบิ้ลที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้เท่านั้น อย่าง "ฆ่าม็อกกิ้งเบิร์ด (To Kill a Mockingbird)" โดยธีมหลักของนิยายเล่มนี้คือ เรื่องของอคติ การรังเกียจเดียดฉันท์คนต่างสีผิว และการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ในการสำรวจโดยกลุ่ม the Book of the Month Club ในปี 1991 พบว่า นิยายเรื่องนี้ได้รับคะแนนโหวตว่าเป็นหนังสือที่ "ถูกอ้างถึงมากที่สุดว่าสร้างความเปลี่ยนแปลง" โดยเป็นรองแค่คัมภีร์ไบเบิ้ลเท่านั้น
ในส่วนของ "หนังสือเปลี่ยนไทย" นั้น คือการคัดเลือกหนังสือจากศาสตร์ต่าง ๆ ที่นำมาสู่การกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในมิติต่าง ๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่าพลังของการอ่านนั้นสำคัญเช่นกัน อาทิ
ฮาวทูฉบับพุทธทาสภิกขุ คือ "คู่มือมนุษย์" โดยพระเงื่อม อินทปัญโญ หรือที่เรารู้จักกันในนาม "พุทธทาสภิกขุ" ซึ่งกลายเป็นชุดความคิดหลักอันแข็งแกร่งซึ่งมุ่งเน้นมาที่ตัวมนุษย์เอง ในขณะที่หนังสืออื่นๆมุ่งเน้นไปที่การจัดการในเชิงสถาบัน อีกเล่มที่รู้จักกันดีคือ "คู่กรรม" โดย ทมยันตี ซึ่งเป็นนวนิยายแนวโศกนาฏกรรมและโรมานซ์ (สิ่งที่โดดเด่นของ คู่กรรม คือการสร้างความรับรู้ร่วมกันของสังคมไทยเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 กับญี่ปุ่น ซึ่งมีแต่ไทยเท่านั้นที่สามารถมีนิยายแนวโศกนาฏกรรมและโรมานซ์เกี่ยวกับทหารญี่ปุ่นออกมาได้ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านในอุษาคเนย์กลับไม่มี และคู่กรรมคือการสร้างคำอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ไม่โหดร้าย
ขณะที่ นิทรรศการ Creative Comic Collection (CCC) คือการอ่านในโลกอนาคต ด้วยเทคโนโลยี AR หรือ Augmented Reality ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยผสานระหว่างโลกความเป็นจริงและเทคโนโลยีให้มาบรรจบกัน ด้วยการนำภาพเสมือนซึ่งเป็น 3 มิติมาประมวลผลผ่านกล้อง ทำให้วัตถุทับซ้อนเป็นภาพเดียว
วันนี้เทคโนโลยี AR ได้ก้าวเข้ามาในแวดวงหนังสือ ให้นักอ่านได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆกันแล้ว เมื่อได้เห็นฉากและตัวการ์ตูนในหนังสือมาปรากฏตัวอยู่บนสมาร์ทโฟน ในนิทรรศการ Creative Comic Collection
การ์ตูนทั้ง 4 เรื่องจากไต้หวัน คือ "ปริศนาหอร้อยภาพ" "ชาอู่หลงกับการผจญภัยในต่างแดน" "บันทึกจากชาวดัตช์" และ "ละครหุ่นผ้าสัประยุทธ์" ที่นำมาจัดแสดงด้วยเทคโนโลยี AR และ Google Tango ซึ่งจับภาพรอบด้านด้วยเซนเซอร์อัจฉริยะ มีธีมหลักคือการเล่าประวัติศาสตร์ของไต้หวันให้เด็กรุ่นใหม่ได้เข้าใจ โดยสร้างพื้นที่ที่วัฒนธรรมประวัติศาสตร์กับเทคโนโลยีทันสมัยสามารถมาอยู่ร่วมฉากเดียวกัน ซึ่งนอกจากการอ่านด้วยตาแล้ว เราจึงยังจะสามารถสื่อสารกับกับตัวละครในการ์ตูนได้ด้วยการมองและการฟัง
ซึ่งจะว่าไปก็เหมือนการเปลี่ยนแพล็ทฟอร์มการอ่านประวัติศาสตร์ จากดั้งเดิมที่เป็นการ์ตูนภาพบนหน้ากระดาษ ก็ขยายสู่การสื่อสารด้วยเทคโนโลยีของสมาร์ทโฟนให้เด็กๆรุ่นใหม่ที่เติบโตในวัฒนธรรม Vitual Culture สามารถเข้าใจได้ง่ายและสนุกสนานกับสารทางประวัตศาสตร์ที่ต้องการสื่อ
เมื่อเดินเข้ามาในส่วนที่จัดนิทรรศการ จะได้รับหูฟังพร้อมสมาร์ทโฟนขนาดเหมาะมือที่มีเทคโนโลยี AR ไว้เรียบร้อยแล้ว โดยภายในห้องจะแบ่งออกเป็นสี่มุม มาจากหนังสือการ์ตูน 4 เรื่องของไต้หวันที่มีสำนักพิมพ์แปลเป็นภาษาไทยแล้วทุกเล่ม แต่ละมุมจะดูเหมือนเป็นห้องว่างๆที่มีฉากและอุปกรณ์ประกอบฉากวางไว้ แต่เมื่อสวมหูฟังและเปิดแอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟนปุ๊บ ตัวละครในการ์ตูนก็จะโผล่ออกมาในฉากว่างๆเหล่านั้น และพูดคุยเล่าเรื่องราวต่างๆในการ์ตูน เมื่อก้าวไปอีกมุมในอีกเรื่อง ก็จะเจอภาพบรรยากาศงานไทเปเอ็กซ์โปอันคึกคัก หนุ่มน้อยที่ใฝ่ฝันอยากขึ้นบิน แหงนหน้าเฝ้าชมการแสดงของเครื่องบินเล็กที่ไร้คนควบคุม เทคโนโลยี Tango Google ที่สร้างพื้นที่เสมือนซ้อนทับอยู่บนความจริง
อยากชวนมาร่วมเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่การอ่าน...อีกครั้ง ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 46 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 16 นี้
งานจัดขึ้นจนถึงวันที่ 8 เมษายนนี้เท่านั้น ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์