วันนี้ (2 เมษายน 2561) นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานพัฒนาระบบข้อมูลการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ (Long Term Care) วาระพิเศษ ณ ห้องประชุมกำธร สุวรรณกิจ ชั้น 1 อาคาร 1 กรมอนามัย ว่า จากมติที่ประชุมติดตามความก้าวหน้าของโครงการ LTC ครั้งที่ 1/2561 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธาน ได้มอบหมายให้กรมอนามัยร่วมกับกองยุทธศาสตร์และแผนงาน ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกันพิจารณาจัดการข้อมูลกลาง และระบบรายงานที่เป็นมาตรฐาน (Standard report) นำไปสู่การออกแบบระบบรายงาน และการบริหารจัดการข้อมูล LTC ที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้ง Software ที่เหมาะสม พร้อมจัดตั้งคณะทำงานพัฒนาระบบข้อมูลการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ (Long Term Care) เพื่อเริ่มดำเนินการภายในปีงบประมาณ 2561 โดยมีคณะทำงานพัฒนาระบบข้อมูลการดูแล ระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ (Long Term Care) ร่วมจัดทำ Long Term Care Standard Data Set เพื่อใช้ในการเชื่อมข้อมูลระหว่างหน่วยงานและระบบรายงานที่เป็นข้อมูลเดียวกันทั่วทั้งประเทศ Data Set เพื่อใช้ในการเชื่อมข้อมูลระหว่างหน่วยงานหรือระบบปฏิบัติการให้เป็นข้อมูลแหล่งเดียวกัน
นายแพทย์วชิระ กล่าวต่อไปว่า กรมอนามัย และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ร่วมกันออกแบบและพัฒนาระบบโปรแกรมการขึ้นทะเบียน Care Manager Caregiver และจัดทำแผนการดูแลผู้สูงอายุรายบุคคล (Care plan) สำหรับการรายงานข้อมูล และดำเนินการขึ้นทะเบียน Care Manager, Caregiver พร้อมทั้งจัดทำแผนการดูแลผู้สูงอายุรายบุคคล (Care plan) รวมถึงการอบรมการใช้โปรแกรมการขึ้นทะเบียน Care Manager,Caregiver และจัดทำแผนการดูแลผู้สูงอายุรายบุคคล(Care plan) โดยศูนย์อนามัยเขตที่ 1-12 และสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง โดยปัจจุบันมีการขึ้นทะเบียนผ่านระบบโปรแกรมการขึ้นทะเบียน Care Manager จำนวน 6,059 คน และ Caregiver จำนวน 10,917 คน ส่วนโปรแกรมการจัดทำแผนการดูแลผู้สูงอายุรายบุคคล (Care plan) มี 2 รูปแบบ คือ แบบที่ 1 เสนอคณะอนุกรรมการ Long Term Care เพื่ออนุมัติจ่ายค่าบริการเหมาจ่ายรายหัวให้กับหน่วยบริการ และแบบที่ 2 เพื่อใช้ในการปฏิบัติงานการดูแลผู้สูงอายุรายบุคคลของ Care Manager ซึ่งสามารถช่วยลดภาระงานของ Care Manager โดย Care Manager ที่ขึ้นทะเบียนแล้วสามารถเข้ามาใช้งานได้ โดยข้อมูล แผนการดูแลผู้สูงอายุรายบุคคล (Care plan) ทุกฉบับจะถูกจัดเก็บในระบบ สามารถตรวจสอบ และสั่งพิมพ์มาเพื่อใช้ในการวางแผนการดูแลผู้สูงอายุรายบุคคล โดย Care Manager ซึ่งในส่วนของฐานข้อมูลผู้สูงอายุตามสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UC) ใช้ฐานข้อมูลเดียวกันกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่ต้องคีย์ข้อมูลซ้ำ และระบบนี้ก็สามารถจัดทำแผนการดูแลผู้สูงอายุรายบุคคล (Care plan) ให้กับกลุ่มที่ไม่ใช่สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UC) ได้
"ทั้งนี้ การพัฒนาระบบโปรแกรม Long Term Care การขึ้นทะเบียน Care Manager, Caregiver และจัดทำแผนการดูแลผู้สูงอายุรายบุคคล (Care plan) ซึ่งการพัฒนาระบบโปรแกรมดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือเป็นอย่างดี จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งเป็นผู้พัฒนาระบบโปรแกรมให้กับกรมอนามัย ร่วมกับคณะทำงานพัฒนาระบบข้อมูลการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ (Long Term Care) ของกระทรวงสาธารณสุขโดยมีกรมอนามัยเป็นผู้รับผิดชอบหลัก ซึ่งการพัฒนาระบบโปรแกรมดังกล่าวได้ดำเนินการโดยทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ส่งมอบลิขสิทธิ์การใช้โปรแกรมดังกล่าวให้ทางกรมอนามัย เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินงาน Long Term Care ในระดับพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพต่อไป" อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด