ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นมหาวิทยาลัยส่วนกลางการวิจัยเพื่อการสร้างองค์ความรู้รวมถึงเป็นแหล่งบริการวิชาการที่มีส่วนร่วมแก้ปัญหาสังคมภาคอีสานสามารถช่วยแก้ปัญหายกระดับการศึกษาเพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนเยาวชนให้ก้าวทันต่อศตวรรษที่ 21 การได้ไปเยี่ยมชมกิจกรรมต่างๆ ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำให้เชื่อว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นมีศักยภาพสูง พอที่จะเป็นโมเดลพัฒนาการศึกษาที่พัฒนาครูและลดความเหลื่อมล้ำโดยการสร้างกำลังคนทั้งของสายสามัญและสายอาชีวะศึกษาอันเป็นกำลังสำคัญในการช่วยยกระดับขีดความสามารถและขับเคลื่อนประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ให้เกิดผลสัมฤทธิ์และเป็นรูปธรรมเพราะโมเดลที่นำมาใช้ได้ตรงกับยุทธศาสตร์ของกระทรวงวิทย์ฯ ทั้ง 3 ประการคือ วิทย์สร้างคน วิทย์แก้จนและวิทย์แข่งขัน ทำให้คนไทยคิดอ่าน หรือมีเหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์ จนเกิดเป็น Scientific Culture และสร้าง Knowledge Worker คือการนำ STEM ศึกษามาใช้เป็นหัวใจในการสร้างคน
"ในวันนี้เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ไม่คิดว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัว หรือสนุก ดังนั้นหน้าที่ของสถาบันการศึกษา สถาบันครอบครัว หรือองค์กรต่างๆ รวมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ต้องร่วมสร้างแรงบัลดาลใจให้นักเรียน รู้สึกว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุก สำคัญ และใกล้ตัว เพราะหากสิ่งนี้ไม่เกิดขึ้นอนาคตอาจไม่สามารถพัฒนาคนให้เท่าทันเทคโนโลยี" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวทิ้งท้าย
รศ. ดร. ลำปาง แม่นมาตย์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ร่วมมือกับโครงการฯ เข้าสู่ปีที่ 3 โดยเกิดกิจกรรมช่วยสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่บุคลากรในพื้นที่ และสานต่อให้เกิดเป็นเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืนในภาคอีสาน ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบาย "รัฐร่วมเอกชน" ภายใต้ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 และแนวทางของรัฐบาลที่มุ่งใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการสร้างคนเพื่อพัฒนาประเทศ การจัดตั้งศูนย์ TVET Food Hub ตรงตามวัตถุประสงค์โครงการฯ ที่ต้องการยกระดับจังหวัดขอนแก่นให้เป็นแหล่งผลิตแรงงานคุณภาพของประเทศ และตรงกับเป้าหมายของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการพัฒนาคนและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นางณัฐพัชร งานไว ครูวิทยาศาสตร์ โรงเรียนพิศาลปุณณวิทยา ต.บ้านหว้า อ.เมือง จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ก่อนการเข้าร่วมโครงการเด็กมีผลการศึกษาอยู่ในระดับดีแต่ขาดการมีส่วนร่วมและกระบวนการคิดในชั้นเรียน ซึ่งหลังจากเข้าร่วมทำให้เด็กมีปฏิกิริยาในการโต้ตอบมากขึ้น โดยใช้กระบวนการสืบเสาะตามกรอบของโครงการ ผ่านการกระตุ้นถาม-ตอบ ทำให้เด็กมีทักษะกระบวนการคิดมากขึ้น ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างเพื่อนและครู ส่งผลให้บรรยากาศในห้องเรียนมีความสนุกสนาน นอกจากนั้นยังมีการวางแผนการสอนโดย นำ 4 วิชา วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ มาบูรณาการในการสอนเพื่อให้ครอบคลุมรูปแบบการสอนในลักษณะ STEM ทั้งนี้โรงเรียนพิศาลปุณณวิทยา ยังถูกรับเลือกให้เป็นโรงเรียนแม่ข่าย ขยายผลแก่โรงเรียนอื่นๆในเขตพื้นที่ใกล้เคียงผ่านทางการถ่ายภาพเคลื่อนไหวรูปแบบวีดีโออีกด้วย
การลงนามข้อตกลงนี้ เพื่อจัดตั้ง ศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพในอุตสาหกรรมอาหาร ถือเป็นการหนุนการเรียนการสอนแบบสะเต็มศึกษาในสายสามัญ อาชีวะ และการศึกษาตามอัธยาศัยแบบครบวงจร เพื่อพัฒนาไปสู่ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมทั้งขนาดใหญ่และย่อย ต่อยอดทั้งด้านการศึกษาและด้านเศรษฐกิจไทยให้เติบโตในอนาคต
MOU
มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) พร้อมทั้ง Chevron จัดตั้ง " ศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพในอุตสาหกรรมอาหาร (TVET Food Hub)" พัฒนาการเรียนการสอนในรูปแบบสะเต็มศึกษาในสายสามัญ อาชีวะ และการศึกษาตามอัธยาศัย โดยได้รับเกียรติจาก ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวเปิดงาน นายสุชัย บุตรสาระ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวต้อนรับ และ รศ. ดร. ลำปาง แม่นมาตย์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนยุทธศาสตร์กล่าวรายงาน พร้อมทั้งบริษัท เชฟรอน ประเทศไทยร่วมพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) ณ ห้องสิริคุณากร 3 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น