ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและแนวโน้ม “บล. ธนชาต” ที่ “A+/Stable”

อังคาร ๑๐ เมษายน ๒๐๑๘ ๑๑:๑๒
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ "A+" โดยอันดับเครดิตดังกล่าวได้รับการปรับเพิ่มขึ้นจากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทในฐานะที่เป็นบริษัทลูกซึ่งมีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของกลุ่มธนชาต ทั้งนี้ อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทมาจากการมีคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์และมีแนวทางการบริหารที่ระมัดระวัง ตลอดจนความสามารถในการทำกำไรที่ดีในธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง รวมถึงการมีสภาพคล่องที่เพียงพอและฐานทุนที่เข้มแข็ง นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงประโยชน์ที่บริษัทจะได้รับจากเครือข่ายของธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ที่มีอยู่อย่างกว้างขวางทั่วประเทศและความสัมพันธ์กับกลุ่มลูกค้าในธุรกิจต่าง ๆ ของธนาคารธนชาตด้วย

อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากลักษณะที่เป็นวงจรขึ้นลงและความผันผวนของธุรกิจหลักทรัพย์ รวมทั้งแรงกดดันด้านอัตราค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ภายใต้การแข่งขันที่ทวีความรุนแรงในปัจจุบัน

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

เป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของกลุ่มธนชาต

ในฐานะเป็นบริษัทลูกที่ถือหุ้นทั้งหมดโดยธนาคารธนชาตและเป็นสมาชิกที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของกลุ่ม

ธนชาต บริษัทจึงได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มธนชาตทั้งในด้านการดำเนินธุรกิจและในด้านการเงิน โดยบริษัทได้ใช้ประโยชน์จากสาขาของธนาคารธนชาตในการขยายฐานลูกค้ารายย่อย อีกทั้งยังมีการเสริมให้มีการแนะนำลูกค้าระหว่างกันมาโดยตลอด ทั้งนี้ ในปี 2560 กว่า 17% ของบัญชีเปิดใหม่ของบริษัทในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเป็นลูกค้าที่ผ่านการแนะนำโดยธนาคารธนชาต และรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์จากบัญชีลูกค้าที่ผ่านการแนะนำโดยธนาคารก็คิดเป็น 11% ของรายได้ค่านายหน้าทั้งหมดของบริษัทในปี 2560

บริษัทยังสามารถนำผลิตภัณฑ์ทางการเงินและบริการของธนาคารธนชาตมาใช้ต่อยอดการให้บริการแก่ลูกค้าของบริษัทอย่างครบวงจร อีกทั้งยังมีรายได้จากธุรกิจวาณิชธนกิจและรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์จากบริษัทในกลุ่มธนชาตอีกด้วย

นอกเหนือจากความช่วยเหลือในการดำเนินธุรกิจแล้ว ธนาคารธนชาตยังให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่บริษัทผ่านการให้วงเงินสินเชื่อจำนวนมากด้วยเช่นกัน การเกื้อหนุนเหล่านี้ช่วยทำให้บริษัทมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่งที่ไม่มีความสัมพันธ์กับธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการทางการเงินเต็มรูปแบบ

กำไรและค่าใช้จ่ายดำเนินงานยังคงทรงตัวแม้จะเสียส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์

ตั้งแต่ปี 2553 ส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทผันผวนอยู่ที่ระดับ 4% มาโดยตลอด แต่เนื่องจากการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น อีกทั้งคู่แข่งรายใหม่ก็เข้ามาในตลาด และแรงกดดันด้านอัตราค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่เป็นไปในทิศทางลดลง จึงส่งผลให้ส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทลดลงจาก 4.17% (อันดับ 7) ในปี 2559 มาอยู่ที่ 3.78% (อันดับ 9) ในปี 2560 และอยู่ที่ 3.32% (อันดับ 12) ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2561 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทจะลดลง แต่ส่วนแบ่งรายได้ในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทยังคงไม่เปลี่ยนแปลงโดยอยู่ที่ระดับเดิมที่ 5.5% ในปี 2559 (อันดับ 4) และ 5.1% (อันดับ 4) ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560

ค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์โดยเฉลี่ยของบริษัทลดลงจาก 0.16% ในปี 2559 มาอยู่ที่ 0.14% ในปี 2560 แต่ก็ยังคงสูงกว่าค่าธรรมเนียมโดยเฉลี่ยของอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ 0.11% ในปี 2560

บล. ธนชาตสามารถรักษาความสามารถในการทำกำไรเอาไว้ได้และเทียบเคียงได้กับคู่แข่งในอุตสาหกรรม ทั้งนี้ กำไรสุทธิของบริษัทในปี 2560 อยู่ที่ 609 ล้านบาท ซึ่งลดลงเล็กน้อยจาก 662 ล้านบาทในปี 2559 จากการลดลงของรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 135 ล้านบาทในปี 2559 มาอยู่ที่ 160 ล้านบาทในปี 2560 ซึ่งช่วยชดเชยการลดลงของรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ได้บางส่วน อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยของบริษัทจากตัวเลขที่ไม่ได้ปรับให้เป็นตัวเลขเต็มปีอยู่ที่ระดับ 2.58% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560 อัตราส่วนดังกล่าวสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ระดับ 1.63% ในช่วงเวลาเดียวกันถึงแม้ว่ารายได้รวมของบริษัทจะลดลงก็ตาม บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 6.3% ในปี 2560 นอกจากนี้ บริษัทยังมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรมด้วย โดยอัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้สุทธิของบริษัทเท่ากับ 55.8% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560 เทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 64.5% ในช่วงเวลาเดียวกัน และในปี 2560 บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 52.2%

การพึ่งพารายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์

รายได้รวมของบริษัทโดยส่วนใหญ่มาจากรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ซึ่งมีความผันผวนและได้รับผลกระทบจากแรงกดดันด้านอัตราค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์จากการเปิดเสรีค่าธรรมเนียม โดย 68% ของรายได้รวมของบริษัทมาจากรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560 เทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 61% สัดส่วนของรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ต่อรายได้รวมของบริษัทลดลงจาก 74% ในปี 2559 มาอยู่ที่ 66% ในปี 2560 ในขณะที่สัดส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการต่อรายได้รวมเพิ่มขึ้นจาก 6% ในปี 2559 มาอยู่ที่ 8% ในปี 2560 โดยส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมในการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์และค่าธรรมเนียมการขายและการรับซื้อหน่วยลงทุน สัดส่วนรายได้กำไรจากเงินลงทุนและตราสารอนุพันธ์ต่อรายได้รวมเพิ่มขึ้นจาก 3% ในปี 2559 มาอยู่ที่ 6% ในปี 2560 ฐานรายได้ที่ยิ่งมีการกระจายตัวก็จะช่วยสร้างเสถียรภาพให้แก่ระดับรายได้ของบริษัทมากขึ้นท่ามกลางการแข่งขันที่ทวีรุนแรงยิ่งขึ้นจากการเปิดเสรีค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์อย่างเต็มรูปแบบ

มีแนวโน้มที่จะได้รับความเสี่ยงต่อความผันผวนของราคาหลักทรัพย์และความเสี่ยงด้านเครดิต

บริษัทมีความเสี่ยงต่อความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ไม่มากนักเนื่องจากบริษัทมีนโยบายการลงทุนเพื่อผลตอบแทนแบบ Arbitrage กับการซื้อขายเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ เท่านั้น โดยนโยบายดังกล่าวส่งผลให้บริษัทมีความเสี่ยงต่อความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ต่ำกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรมที่ประกอบธุรกิจเก็งกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์ประจำวัน อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงมีเงินลงทุนที่มีมูลค่าค่อนข้างสูงในตราสารทุนของบริษัทจดทะเบียน 2 แห่ง โดย ณ เดือนธันวาคม 2560 มูลค่าตลาดของเงินลงทุนเหล่านี้อยู่ที่ 1,832 ล้านบาท หรือ 49% ของเงินลงทุนทั้งหมดของบริษัท อีกทั้งบริษัทยังไม่มีแผนจะขายเงินลงทุนส่วนนี้ในอนาคตอันใกล้อีกด้วย แม้ว่าเงินลงทุนในส่วนนี้จะมีต้นทุนที่ต่ำและสร้างรายได้เงินปันผลที่ดีให้แก่บริษัท แต่ก็ทำให้บริษัทมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาหลักทรัพย์อยู่บ้างเมื่อพิจารณาจากขนาดของเงินลงทุนและการกระจุกตัวของการลงทุนที่อยู่ในหลักทรัพย์เพียง 2 ตัวเท่านั้น

บริษัทจัดว่ามีความเสี่ยงด้านเครดิตจากการให้สินเชื่อค่อนข้างมาก โดยยอดสินเชื่อของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 3,507 ล้านบาทในปี 2559 มาอยู่ที่ 4,100 ล้านบาทในปี 2560 หรือคิดเป็น 5.9% ของสินเชื่อรวมของทั้งอุตสาหกรรม และ 1.1 เท่าของส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงสามารถควบคุมความเสี่ยงด้านเครดิตในส่วนนี้ได้ต่อไปโดยใช้เกณฑ์การเรียกหลักประกันเพิ่มและการบังคับขายที่เคร่งครัด รวมทั้งคงนโยบายการกำหนดเกณฑ์ของหลักประกันและการพิจารณาสินเชื่อที่เข้มงวด

สภาพคล่องที่เพียงพอและระดับเงินทุนที่แข็งแรง

ณ เดือนธันวาคม 2560 บริษัทมีอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่อง (เงินสดและเงินลงทุน) ต่อสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 33% เมื่อเทียบกับ 23% ณ สิ้นปี 2558 จากการเพิ่มขึ้นของเงินลงทุนเพื่อค้าจากธุรกรรมบล็อกเทรด (Block Trade) ในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า อีกทั้งเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินของบริษัทก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 1,599 ล้านบาทในปี 2558 มาเป็น 2,999 ล้านบาทในปี 2559 และอยู่ที่ 3,419 ล้านบาทในปี 2560 บริษัทมีวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินหลายแห่งซึ่งน่าจะเพียงพอที่จะแก้ปัญหาการขาดสภาพคล่องชั่วคราว ณ ขนาดของธุรกิจในปัจจุบันได้ โดยวงเงินสินเชื่อจากธนาคารธนชาตคิดเป็น 75% ของจำนวนวงเงินสินเชื่อทั้งหมดของบริษัท

ณ เดือนธันวาคม 2560 ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทเท่ากับ 3,674 ล้านบาท โดยฐานทุนขนาดใหญ่ของบริษัทจะช่วยดูดซับความเสี่ยงด้านเครดิตจากเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์และความเสี่ยงจากความผันผวนด้านราคาของหลักทรัพย์ในเงินลงทุนของบริษัท บริษัทมีอัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์ที่ปรับปรุงตัวเลขแล้วอยู่ในทิศทางที่ปรับตัวลดลง ทั้งนี้ อัตราส่วนดังกล่าวเป็นปัจจัยชี้วัดโครงสร้างเงินทุนของบริษัท ซึ่งลดลงจาก 71.1% ในปี 2556 มาอยู่ที่ 48.1% ในปี 2559 และ 44.3% ในปี 2560 ณ สิ้นปี 2560 บริษัทมีอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิต่อหนี้สินทั่วไปอยู่ที่ระดับ 44% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 7% ที่ทางการกำหนด

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ว่าบริษัทจะยังคงสถานะในการเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของกลุ่มธนชาตและจะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากธนาคารธนชาตต่อไปได้

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจถูกปรับลดลงได้หากสถานะเครดิตของธนาคารธนชาตหรือระดับของการได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มธนชาตเปลี่ยนแปลงไป ส่วนโอกาสที่อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทจะปรับเพิ่มขึ้นนั้นมีจำกัดเมื่อคำนึงถึงสถานะเครดิตในปัจจุบันของธนาคารธนชาต

บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) (TNS)

อันดับเครดิตองค์กร: A+

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๕๐ รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๑๖:๑๔ ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๑๖:๑๓ Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๑๖:๑๐ ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๑๖:๕๒ โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๑๕:๒๖ กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๑๕:๐๑ สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๑๕:๒๙ 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๑๕:๐๘ โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๑๕:๕๒ electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version