รายงานฉบับดังกล่าว ศึกษาศักยภาพการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ทางเลือก ซึ่งในที่นี้ หมายถึงอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่นๆ ที่ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์กลุ่มหลักที่ประกอบด้วย ที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า อสังหาริมทรัพย์เชิงอุสาหกรรม โกดัง/ศูนย์จัดเก็บและกระจายสินค้า อพาร์ทเม้นท์ โรงแรม และเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ ตัวอย่างของอสังหาริมทรัพย์ทางเลือก ได้แก่ บ้านพักผู้สูงวัย/ศูนย์ดูแลคนชรา ที่พักนักเรียน/นักศึกษา โรงเรียน ดาต้าเซ็นเตอร์ (พื้นที่จัดวางระบบประมวลผลกลางและระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขององค์กร) ห้องเก็บของส่วนตัวให้เช่า ไปจนถึงห้องแล็บหรือห้องทดลอง เป็นต้น
นายโรหิท เฮมนานี หัวหน้าหน่วยธุรกิจบริการการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ทางเลือกภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกของเจแอลแอล กล่าวว่า "การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ทางเลือก นับเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่สำหรับภูมิภาคเอเชียซิฟิก เมื่อเทียบกับยุโรปและสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี จากการที่นักลงทุนมองหาโอกาสการลงทุนใหม่ๆ และการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น ทำให้สนใจอสังหาริมทรัพย์ทางเลือกในเอเชียแปซิฟิกมากขึ้น ทั้งนี้ รูปแบการลงทุนส่วนใหญ่มักเป็นการสร้างหรือซื้ออสังหาริมทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่ง เพื่อให้เช่าระยะยาวแก่ผู้ประกอบการในธุรกิจประเภทนั้น ทำให้เป็นการลงทุนที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่องและมีความผันผวนต่ำ"
รายงานฉบับดังกล่าวของเจแอลเอลยังระบุด้วยว่า อสังหาริมทรัพย์ทางเลือกหลายประเภท ให้ผลตอบแทนการลงทุนที่สูงกว่าอสังหาริมทรัพย์กลุ่มหลัก ตัวอย่างเช่น ดาต้าเซ็นเตอร์ ให้ผลตอบแทนการลงทุน 6% ที่โตเกียวและสิงคโปร์ และ 6%-7% ที่ซิดนีย์ ในขณะที่การลงทุนในอาคารสำนักงานที่โตเกียวจะให้ผลตอบแทนการลงทุนที่ประมาณ 2.5% และที่ซิดนีย์ให้ผลตอบแทน 4.5% ส่วนการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ประเภทศูนย์กาค้าให้ผลตอบแทนประมาณ 2.5%-3% ที่โตเกียว และประมาณ 5% ที่ซิดนีย์
นอกจากนี้ เจแอลแอลยังคาดด้วยว่า การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ทางเลือกในภูมิภาคนี้มีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากมีปัจจัยหนุนหลายประการ อาทิ การเติบโตของเมือง การเพิ่มจำนวนของประชากรผู้สูงอายุ รวมไปจนถึงกำลังการใช้จ่ายที่สูงขึ้นและการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น
นายเฮมนานี อธิบายว่า "มีการประมาณการณ์ว่า ภายในปี 2570 เอเชียแปซิฟิกจะมีประชากรที่อาศัยในเมืองเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 400 ล้านคน ซึ่งจะทำให้มีความต้องการใช้อสังหาริมทรัพย์ทางเลือกเพิ่มมากขึ้น อาทิเช่น ในอีก 15 ปีข้างหน้า คาดว่าจำนวนโรงเรียนนานาชาติในเอเชียแปซิฟิกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นราว 4-5 เท่าเพื่อรองรับจำนวนนักเรียนราว 10 ล้านคน ซึ่งหมายถึงโอกาสในการลงทุนในโรงเรียนและที่พักสำหรับนักเรียนที่จะมีความต้องการมากขึ้นในออสเตรเลีย จีน อินเดีย และกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกตัวอย่างหนึ่ง ได้แก่ จำนวนผู้สูงวัยในภูมิภาคนี้ ที่คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 146 ล้านคนในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลให้มีความต้องการบ้านพักคนชราและศูนย์ดูแลรักษาพยาบาลผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ การใช้สมาร์ทโฟน คลาวด์ และอินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง (IoT) ที่เพิ่มมากขึ้น ตลอดรวมจนถึงจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในเอเชียแปซิฟิกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 560 ล้านคนในอีก 10 ปีข้างหน้า จะทำให้ภูมิภาคนี้มีความต้องการใช้ดาต้าเซ็นเตอร์มากขึ้น"
ไทยมีศักยภาพแต่ขาดองค์ความรู้และประสบการณ์ในอสังหาฯ ทางเลือกบางประเภท
จากการสังเกตการณ์โดยเจแอลแอลในประเทศไทย พบว่า มีอสังหาริมทรัพย์ทางเลือกหลายประเภทที่มีศักยภาพสูงทั้งในแง่ของความต้องการและการเติบโต ตัวอย่าง เช่น บ้านพักผู้สูงวัย และศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ (wellness center) เป็นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ทางเลือกที่มีแนวโน้มดี เนื่องจากมีศักยภาพในการรองรับความต้องการที่คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น ไม่เฉพาะจากชาวไทย แต่ยังรวมถึงชาวต่างชาติ เช่นเดียวกับดาต้าเซ็นเตอร์ที่คาดว่าจะมีนักพัฒนาโครงการหรือนักลงทุนสนใจมากขึ้น นอกจากนี้ การที่ราคาคอนโดในกรุงเทพฯ แพงมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การจัดเก็บสิ่งของที่ไม่จำเป็นต้องใช้บ่อยๆ ไว้ในคอนโด มีแนวโน้มกลายเป็นการใช้พื้นที่ไม่คุ้มค่า จะส่งผลให้ธุรกิจบริการให้เช่าห้องเก็บของส่วนตัวมีโอกาสขยายตัว เป็นต้น
แม้จะมีศักยภาพที่จะมีดีมานด์หรือความต้องการสูงรองรับ แต่อสังหาริมทรัพย์ทางเลือกหลายๆ ประเภทในไทยไม่ได้เติบโตเท่าที่ควร ซึ่งสาเหตุสำคัญเกิดจากการขาดองค์ความรู้และประสบการณ์ของนักลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ทางเลือกบางประเภทและผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการสร้าง การดำเนินการ การบริหารจัดการ ไปจนถึงการตลาด อย่างไรก็ดี หนึ่งในกลยุทธ์ที่อาจช่วยให้ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ของไทยขยายเข้ามาในตลาดอสังหาริมทรัพย์ทางเลือกได้ง่ายขึ้น คือการเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทต่างชาติที่มีความเชี่ยวชำนาญสูงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ทางเลือกในประเภทนั้นๆ ที่อาจกำลังมองหาโอกาสในการขยายธุรกิจเข้ามาในตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพในการเติบโตดังเช่นประเทศไทย
รายงาน The Rise of Alternative Real Estate in Asia Pacific สามารถดาวน์โหลดได้ที่ http://bit.ly/2upAFrC
เกี่ยวกับเจแอลแอล
เจแอลแอลเป็นบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของโลก มีสำนักงานสาขา 300 แห่งทั่วโลก สำหรับในประเทศไทย เจแอลแอลเริ่มดำเนินธุรกิจมานับตั้งแต่ปี 2533 ปัจจุบันเป็นบริษัทระหว่างประเทศรายใหญ่ที่สุดในธุรกิจบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ด้วยพนักงานมากกว่า 1,600 คน และมีอสังหาริมทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการคิดเป็นพื้นที่รวมทั้งสิ้นกว่า 5 ล้านตารางเมตร นอกจากนี้ เจแอลแอลยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์โดยภาพรวมอันดับหนึ่งของประเทศไทยติดต่อกันเจ็ดปีซ้อน ในการสำรวจความคิดเห็นของคนในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ประจำปี 2560 โดยนิตยสารยูโรมันนี (Euromoney Real Estate Survey 2017)