ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ประสบการณ์ที่ยาวนานในอุตสาหกรรมกุ้งแปรรูป
บริษัทซีเฟรชอินดัสตรีเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลา 30 กว่าปีที่ผ่านมาในฐานะผู้แปรรูปและผู้ส่งออกกุ้ง รายได้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 2,034 ล้านบาทในปี 2550 เป็น 7,495 ล้านบาทในปี 2560 หรือคิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีที่ 14% บริษัทมีฐานการผลิตและห่วงโซ่อุปทานที่ได้รับการรับรองจากองค์กรระหว่างประเทศหลายสถาบันทั้งในด้านความปลอดภัยของอาหาร การตรวจสอบย้อนกลับตลอดห่วงโซ่อุปทาน และการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้นสินค้าของบริษัทจึงได้มาตรฐานเพื่อการจำหน่ายในห้างค้าปลีกชั้นนำทั่วโลก
ธุรกิจมีการกระจายตัวในระดับปานกลาง
ธุรกิจของบริษัทมีการกระจายตัวในระดับปานกลางทั้งในส่วนของตลาดและฐานการผลิต แม้ว่าบริษัทต้องพึ่งพาสินค้ากุ้งแต่เพียงประเภทเดียวก็ตาม บริษัทมีโรงงานแปรรูปกุ้ง 2 แห่ง โดย 1 แห่งตั้งอยู่ในเขตจังหวัดชุมพร ประเทศไทย และอีก 1 แห่งตั้งอยู่ในเมืองวูสเตอร์ สหราชอาณาจักร โดยมีกำลังการผลิตรวม 30,000 ตันต่อปี ในปี 2560 บริษัทมีอัตราการใช้ประโยชน์เท่ากับ 50% บริษัทมีตลาดส่งออกสินค้าใหญ่ที่สุดคือสหภาพยุโรปซึ่งมียอดขายอยู่ระหว่าง 69%-74% ของยอดขายรวมในช่วงปี 2558-2560 ในขณะที่ยอดขายในประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดาอยู่ที่ 13%-16% และในทวีปเอเชียอยู่ที่ 12%-14% ส่วนยอดขายในประเทศอื่นๆอยู่ที่เพียงประมาณ 1% ของรายได้รวมในช่วงเวลาเดียวกัน
การแข่งขันและการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนทำให้กำไรของบริษัทลดลง
อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทลดลงเล็กน้อยจาก 14.4% ในปี 2559 มาอยู่ที่ระดับ 12.2% ในปี 2560 ความผันผวนของกำไรขั้นต้นเป็นผลอันเนื่องมาจากหลายปัจจัย เช่น ความผันผวนของราคากุ้งสด ภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดที่เรียกเก็บจากผู้นำเข้าสินค้า การเปลี่ยนแปลงในระบบการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปที่ประเทศพัฒนาแล้วให้แก่สินค้าที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศกำลังพัฒนา (Generalized System of Preferences -- GSP) ความสามารถในการแข่งขันของประเทศส่งออกอื่น และการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนกลุ่มสินค้าระหว่างสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม เช่น ซูชิ และสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น กุ้งสดแช่แข็ง เป็นต้น
การอ่อนค่าของเงินปอนด์สเตอร์ลิงและดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2560 เป็นอย่างมาก โดยมูลค่าของเงินปอนด์สเตอร์ลิงและเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 9% และ 4% ตามลำดับเมื่อเทียบกับเงินบาท บริษัทรายงานผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่จำนวน 146 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลทำให้บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิเท่ากับ 8 ล้านบาทในปี 2560
ความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนที่สูงขึ้นส่งผลทำให้ภาระหนี้ของบริษัทปรับตัวสูงขึ้น
ระดับสินค้าคงคลังของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นเกิน 140 วันในปี 2560 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยที่ 120 วันในช่วงปี 2558 และปี 2559 บริษัทต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนเพิ่มอีกประมาณ 400-500 ล้านบาทจากเงินกู้ระยะสั้นสำหรับสินค้าคงคลังที่เพิ่มสูงขึ้นดังกล่าว ดังนั้น อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจึงปรับตัวสูงขึ้นเป็น 55.4% ในปี 2560 จาก 48.3% ในปี 2558 และ 50.6% ในปี 2559 บริษัทวางแผนใช้เงินลงทุนอยู่ที่ประมาณ 120 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2561-2563 ทั้งนี้ คาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นโดยลำดับเนื่องจากบริษัทจะมีการจำกัดการลงทุนและคาดว่าบริษัทจะมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ระดับ 500-600 ล้านบาทต่อปี
เงินสดส่วนเกินสำหรับรองรับการชำระหนี้จะปรับตัวดีขึ้น
อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับ 10.3% ในปี 2560 จาก 21.0% ในปี 2559 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายปรับตัวลดลงแต่ยังคงอยู่ในระดับดีที่ 6.1 เท่าในปี 2560 เมื่อเปรียบเทียบกับ 7.4 เท่าในปี 2559
ยอดขายในอนาคตของบริษัทจะยังคงผันผวนในช่วงระยะสั้น ๆ จากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราและราคาต้นทุนกุ้ง อุตสาหกรรมกุ้งในประเทศไทยกำลังฟื้นตัวจากโรคระบาดในกุ้งทั้ง 2 โรค คือโรคตายด่วน (Early Mortality Syndrome -- EMS) และโรคที่เกิดจากเชื้อโปรโตซัวไมโครสปอริเดียน (Enterocytozoon Hepatopenaei -- EHP) การฟื้นตัวจากโรคระบาดดังกล่าวจะช่วยทำให้ปริมาณผลผลิตกุ้งเพิ่มขึ้นและต้นทุนกุ้งก็คาดว่าจะปรับตัวลดลง ซึ่งจะส่งผลทำให้เงินสดส่วนเกินสำหรับรองรับการชำระหนี้ของบริษัทปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทจะอยู่ในระดับ 20%-25% ในปี 2561-2563 ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายคาดว่าจะอยู่ที่ 6-10 เท่าในช่วงเวลาเดียวกัน
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันและสถานะทางการตลาดในธุรกิจกุ้งได้ต่อไป ทั้งนี้ ฐานะทางการเงินของบริษัทยังคงมีปัจจัยสนับสนุนจากภาระหนี้ที่อยู่ในระดับปานกลางและความสามารถในการชำระหนี้ต่อดอกเบี้ยจ่ายที่เพียงพอ
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
บริษัทยังคงไม่มีแนวโน้มที่จะได้รับการปรับอันดับเครดิตเพิ่มขึ้นในระยะสั้น ความสามารถในการทำกำไรและสภาพคล่องที่ดีขึ้นจะช่วยปกป้องความผันผวนของผลการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งพัฒนาการที่ดีขึ้นดังกล่าวนี้บริษัทต้องมีการปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรมเสียก่อนที่จะมีการพิจารณาปรับเพิ่มอันดับเครดิต ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่บริษัทขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราอย่างต่อเนื่องซึ่งจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันและการทำกำไรของบริษัทลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือในกรณีที่ผลการดำเนินงานของบริษัทลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน
บริษัท ซีเฟรชอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) (CFRESH)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
CFRESH215A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable