สวทช. พัฒนา‘เตาอบไม้’เพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ไม้สนาม โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย(iTAP)

จันทร์ ๐๖ พฤศจิกายน ๒๐๐๖ ๑๒:๑๐
กรุงเทพฯ--6 พ.ย.--สวทช.
สวทช. จัดส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาประสิทธิภาพเตาอบไม้ให้แก่ บ.อุตสาหกรรมดีสวัสดิ์ จำกัด เพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ไม้สนามส่งออก แก้ปัญหาไม้บิดงอ ลดของเสียและตำหนิที่เกิดจากการอบไม้แบบเดิม ช่วยประหยัดเวลาและลดการใช้พลังงานได้ถึง 20% คิดเป็นเงินกว่า 2 แสนบาทต่อปี
นางสาว สนธวรรณ สุภัทรประทีป ผู้อำนวยการโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย หรือ iTAP ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า “อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทย จัดเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับการยอมรับจากตลาดโลกในอันดับต้นๆ และเป็นอีกกลุ่มอุตสาหกรรมหนึ่งที่สร้างรายได้เข้าประเทศปีละหลายหมื่นล้านบาท อีกทั้งมีการจ้างงาน และมีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกว่า 300,000 คน ทำให้ตลาดในกลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์มีขนาดใหญ่ ในจำนวนยอดเฟอร์นิเจอร์ที่ส่งออกทั้งหมดเป็นเฟอร์นิเจอร์จากไม้กว่า 60% แต่เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของไทยยังประสบปัญหาเรื่องคุณภาพของไม้ที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นผลจากการขาดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการผลิต โดยเฉพาะ “เตาอบ” ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญยิ่งสำหรับการส่งออกไม้ ท่ามกลางการแข่งขันที่ทวีความเข้มข้นขึ้นในยุคโลกาภิวัตน์ เพราะไม่ใช่ประเทศไทยเพียงประเทศเดียวที่มีการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้ ยังมีคู่แข่งสำคัญอย่าง จีน และเวียดนาม ที่กำลังมาแรงมาก ทำให้อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้ของไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ฉะนั้น ทางเลือกของผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัวให้แข่งขันได้ ”
นาย จิรวัฒน์ ตั้งกิจงามวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรมดีสวัสดิ์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ไม้สนามส่งออก กล่าวว่า “ ปัญหาของไม้ที่ใช้กันอยู่เกิดจากความชื้น และโรงงานผลิตไม้หลายแห่งที่มีปัญหาก็เพราะไม่มีเตาอบ ด้วยความไม่รู้และไม่มีความเข้าใจเรื่องดังกล่าวมาตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมไม้เพื่อการส่งออก เนื่องจากการส่งออกแต่ละประเทศยังมีการกำหนดค่าความชื้นที่ต่างกัน เตาอบจึงถือเป็นจุดสำคัญของคำว่าคุณภาพ แต่เมื่อหันมาส่งออกจึงต้องนำไม้ไปจ้างโรงอบข้างนอกซึ่งก็ไม่ได้ให้ความสนใจเรื่องเทคนิคการอบที่ได้มาตรฐาน ทั้งระยะเวลา ความชื้น และเทคนิคการอบให้ไม้แห้งที่ถูกต้อง เน้นแต่ปริมาณในการอบครั้งละมากๆ เท่านั้น ทำให้ความชื้นในเนื้อไม้ยังแห้งไม่ได้ที่ กลายเป็นปัญหาหลักของอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้ของไทยที่ไม่มีเตาอบเป็นของตัวเองอยู่ในขณะนี้ ”
ในส่วนของบริษัทฯนั้น ถือว่าได้เปรียบกว่ารายอื่นเพราะมีเตาอบใช้เองถึง 6 เตา แต่เนื่องจากใช้มานานกว่า 30 ปี จึงต้องการพัฒนาเตาอบให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น และที่ผ่านมายังไม่ได้มีการใช้งานเต็มที่ เนื่องจากช่างเทคนิคที่ชำนาญงานเองก็ยังเข้าไม่ถึงเทคนิคบางอย่าง ทางบริษัทฯ จึงได้เข้ารับการสนับสนุนทางด้านผู้เชี่ยวชาญจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยทางโครงการ iTAP ได้จัดส่งคณะผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาวนผลิตภัณฑ์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้ามาเป็นที่ปรึกษา โดยได้แนะนำวิธีการพัฒนาเทคนิคในการอบไม้ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และมีประสิทธิภาพ สามารถลดระยะเวลาในการอบไม้ และประหยัดพลังงานได้ถึง 20%พร้อมกับช่วยลดของเสียและตำหนิที่เกิดจากการอบไม้
สำหรับประโยชน์ที่บริษัทได้รับ นอกจากช่วยลดเวลาในการอบไม้ให้เร็วขึ้นจากปกติ 15 วัน เหลือ 12 — 13 วัน ซึ่งตรงนี้ นายจิรวัฒน์ บอกว่า เวลาที่ลดลงดูเหมือนไม่มาก แต่เป็นที่พอใจสำหรับบริษัทฯ เพราะเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมกับการอบไม้ตามที่บริษัทต้องการ แม้จะสามารถลดระยะเวลาลงได้มากกว่านั้นก็ตาม และเพราะบริษัทฯ มีเตาอบถึง 6 เตา สามารถอบไม้ได้ครั้งละ 60 คิวบิกเมตร / เตา ทำให้บริษัทสามารถประหยัดเวลาในการอบไม้ได้ถึง 6 วัน/เดือน หรือ คิดเป็น 72 วัน / เตา / ปี หากรวมกันทั้งหมด 6 เตา จะทำให้บริษัทสามารถประหยัดเวลาเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลถึง 1 ปีกว่า หรือเท่ากับบริษัทได้เตาอบเพิ่มขึ้นอีก 1 เตา โดยไม่ต้องลงทุนสร้างเตาเพิ่ม ถือว่าคุ้มค่ามากๆ ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถอบไม้ได้เร็วขึ้น ในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น โดยมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 20 % และยังเป็นการประหยัดพลังงานลงได้กว่า 20% หรือ คิดเป็นค่าใช้จ่ายในการอบไม้ลดลงได้ถึงปีละ 2 แสนกว่าบาท
นายจิรวัฒน์ กล่าวเสริมว่า “หลังการพัฒนาประสิทธิภาพเตาอบเดิมที่มีอยู่ ทำให้บริษัทฯ สามารถใช้เตาอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุณค่า เพราะทำงานได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นการพัฒนาทางด้านเทคนิค วิชาการ ข้อมูล และการทำงานที่ให้มีความทันสมัยขึ้น ลดของเสียจากการอบไม้ลดลง ทำให้มีวัตถุดิบที่นำมาใช้งานเพิ่มขึ้น ส่งผลให้บริษัทฯ มีศักยภาพในการรับออร์เดอร์เพิ่มขึ้น สอดรับกับความต้องการของบริษัทที่จะขยายตลาดเพิ่มทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดที่จะต่อยอดโครงการไปสู่การพัฒนาโรงเลื่อย เชื่อว่า จะมีโอกาสร่วมมือกับทางโครงการ iTAP (สวทช.) สำหรับโครงการอื่นๆ ต่อไป”
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้ารับการสนับสนุนในโครงการ ITAP สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร0-2564-8000 หรือ www.nstda.or.th/itap
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ