แนวทางการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางการเงิน (Financial Technology : FinTech)

พุธ ๑๘ เมษายน ๒๐๑๘ ๑๖:๕๔
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังมีนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรม FinTech อย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดแรงขับเคลื่อนในการพัฒนาอุตสาหกรรม FinTech ในวงกว้าง อันจะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น และสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาการให้บริการทางการเงินในระบบการเงินของไทย สอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลที่มุ่งหวังให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศกระทรวงการคลังจึงเสนอแนวทางการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางการเงิน ซึ่งประกอบด้วย3 มาตรการ ได้แก่ 1) พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมทางการเงิน 2) ผลักดันหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้ให้และผู้ใช้ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับ FinTech และ 3) จัดตั้งสถาบันนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงิน (Institute for Financial Innovation and Technology) หรือ InFinIT ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแนวทางดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 แนวทางดังกล่าว สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1) พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมทางการเงิน เพื่อให้ผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการทางการเงินสามารถทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างสะดวกและปลอดภัย โดยกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมอยู่ระหว่างดำเนินโครงการสำคัญ 2 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติที่ส่งเสริมการบูรณาการระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งในระบบภาครัฐและภาคเอกชน และ 2) โครงการพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Identification Platform) เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนและลดขั้นตอนที่ซ้ำซ้อน ซึ่งเป็นภาระแก่ทั้งผู้แสดงตนและผู้มีหน้าที่ในการตรวจสอบความถูกต้องและยืนยันตัวตนในด้านเวลาและทรัพยากร

2) ผลักดันหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้ให้และผู้ใช้ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับ FinTech โดยกระทรวงการคลังจะผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นทั้งผู้ให้และผู้ใช้บริการผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับ FinTech มากขึ้น เช่น การรับจ่ายเงินภาครัฐทางอิเล็กทรอนิกส์การบูรณาการระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ การจ่ายสวัสดิการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ การเพิ่มช่องทางในการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของ SFIs เป็นต้น เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรม FinTech อีกทางหนึ่ง

3) จัดตั้งสถาบันนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงิน (Institute for Financial Innovation and Technology : InFinIT) เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นที่เกี่ยวข้องกับ FinTech (FinTech Startups) และพัฒนาสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศน์ของอุตสาหกรรม FinTech (FinTech Ecosystem) ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 โดย InFinIT จะทำหน้าที่ ดังนี้ 1) บ่มเพาะและส่งเสริม FinTech Startups ให้สามารถต่อยอดความคิดให้เป็นนวัตกรรมทางการเงิน 2) เสริมสร้างความสามารถทางการดำเนินธุรกิจเพื่อให้ FinTech Startups สามารถพัฒนานวัตกรรมในเชิงการค้าได้ 3) สร้างเครือข่ายของภาครัฐและภาคเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ FinTech ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อให้ประเทศไทยมี FinTech Ecosystem ที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรม FinTech 4) ผลักดันให้มีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการให้บริการทางการเงินในประเทศไทยในทุกภาคส่วน ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมการสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับ FinTech ของ SFIs และ 5) ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ รวมทั้งทักษะที่เกี่ยวข้องกับ Fintech เพื่อสร้างผู้ปฏิบัติงานในอุตสาหกรรม FinTech หรือผู้ประกอบการในอนาคต (Talent Pipeline)

ทั้งนี้ InFinIT จะประสานงานกับหน่วยงานที่ทำหน้าที่บ่มเพาะและเร่งการพัฒนา (Incubators and Accelerators) ในระดับนานาชาติ สถาบันการศึกษาชั้นนำ หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศรวมทั้ง สถาบันการเงินเฉพาะกิจและผู้ให้บริการทางการเงินประเภทต่างๆ ในการจัดทำโครงการต่าง ๆ ของ InFinIT

นางสาวกุลยาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า "FinTech และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ FinTech เช่น บล็อกเชน ปัญญาประดิษฐ์ เป็นต้น ได้มีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างยิ่งในการทำธุรกรรมการเงินในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งอุตสาหกรรม FinTech และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องมีความสำคัญไม่เพียงต่อการให้บริการทางการเงินเท่านั้น แต่ยังจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอื่น ๆ ในวงกว้าง รัฐบาลได้เห็นถึงความสำคัญและได้พิจารณาถึงผลกระทบของ FinTech ที่มีต่อประชาชน และผู้ให้บริการทางการเงิน รวมถึงแนวทางในการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรม FinTech เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ"

สำนักนโยบายระบบการเงินและสถาบันการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3219

โทรสาร 0 2618 3366

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๐ คปภ. เปิดตัวคู่มือการทำประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) และการประกันอัคคีภัย แนะแนวทางการกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยอย่างเหมาะสม
๑๖:๒๖ SiteMinder เผย โรงแรมไทยเติบโต ก้าวเป็นผู้นำตลาด หลังนักท่องเที่ยวต่างชาติหลั่งไหลเข้าประเทศ
๑๗:๕๙ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งให้การต้อนรับ เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ณ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง พลับพลาไชย กรุงเทพฯ
๑๖:๐๐ fintips by ttb เผยเคล็ดลับ รถใหม่ป้ายแดงหรือรถมือสอง เลือกแบบไหนให้เหมาะกับเราที่สุด
๑๖:๐๐ มาแล้ว! เปิดตัว Samsung Galaxy S25 ซีรีส์ใหม่ล่าสุด มาพร้อม Galaxy AI ผู้ช่วยส่วนตัวคนใหม่ของคนไทย ตอบโจทย์รู้ใจทุกความต้องการเฉพาะคน
๑๖:๐๐ กทม. เดินหน้ากำจัดปลาหมอคางดำ ลดผลกระทบเกษตรกร-แปรรูปสร้างรายได้
๑๖:๐๐ เดอะไนน์ เซ็นเตอร์ พระราม 9 ร่วมฉลองเทศกาลตรุษจีนยิ่งใหญ่ Chinese Market 2025 ช้อปสินค้ามงคล เสริมดวงโชคดีมั่งมี
๑๖:๐๐ SNPS ต้อนรับ คณะผู้บริหารและนักวิจัยสภากาชาดไทย
๑๕:๒๔ BEST Supply Chain ยกระดับจัดการคลังสินค้ายุคใหม่ ชู BEST Fulfillment เพิ่มประสิทธิภาพจัดการสินค้า จบครบในที่เดียว
๑๕:๐๐ เด็กซ์ซอนผนึกกำลังภาคีเครือข่าย TCCA ตอกย้ำความมุ่งมั่นด้านความยั่งยืน มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero