จาก พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวปี.2560 ตามประกาศ คสช.ที่ 33/2560 พร้อมกับการประกาศของกระทรวงแรงงาน การขออนุญาตทำงานและการอนุญาตให้ทำงานตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ที่มีการผ่อนปรนให้กลุ่มแรงงานต่างด้าว ซึ่งผ่านการพิสูจน์สัญชาติต้องได้รับหนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary Passport -TP) เอกสารเดินทาง (Travel Document -TD) หรือเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity -CI) โดยตรวจลงตรา (visa) หนังสือเดินทาง (Passport - PP)
จังหวัดปทุมธานีเป็นหนึ่งในพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญที่มีการใช้แรงงานต่างด้าวในธุรกิจต่างๆ เป็นจำนวนมาก มีตั้งแต่นิคมอุตสาหกรรม ตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรขนาดใหญ่ของประเทศ อาทิ เช่น ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดไท ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ กัมพูชา ลาว และเมียนมาร์ ที่อยู่ในจังหวัดปทุมธานีมีกว่า 102,302 คน "ศูนย์พิสูจน์สัญชาติแรงงานกัมพูชาจังหวัดปทุมธานี" เกิดขึ้นจากความร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและกัมพูชา Government to government (G2G) ที่ได้ลงนาม MOU ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกการบริหารจัดการพิสูจน์สัญชาติแรงงาน เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2561 ตั้งอยู่ ศูนย์การค้าเซียร์รังสิต ชั้น 4 ใกล้บริเวณร้านอมร อิเล็กทรอนิกส์ เปิดให้บริการจันทร์-เสาร์ (หยุดวันอาทิตย์) ตั้งแต่เวลา 10.00 น.-18.30 น. สิ้นสุดให้บริการในวันที่ 30 มิถุนายน 2561
ปัจจุบันศูนย์พิสูจน์สัญชาติแรงงานกัมพูชา เปิดให้บริการที่จังหวัดระยอง 1 แห่ง ห้างอิมพิเรียล ลาดพร้าว 1 แห่ง และศูนย์การค้าเซียร์รังสิต อีก 1 แห่ง นอกเหนือจากนั้นจะเป็นชุดโมบายเคลื่อนที่ให้บริการผู้ประกอบการตามแหล่งนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ หรือจุดที่มีการใช้แรงงานต่างด้าวจำนวนมาก โดยชุดโมบายเคลื่อนที่นี้เป็นการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐไทยร่วมกับทางกัมพูชา เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกด้านการจัดเก็บเอกสารแรงงานไปนำตรวจสอบ หลังจากที่เอกสารผ่านการพิจารณาแล้วจะถูกส่งไปส่วนกลางเพื่อนัดคิวแรงงานให้เข้ามาดำเนินการต่อไป
แหล่งข่าว เจ้าหน้าที่สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว ศูนย์การค้าเซียร์รังสิต เผยว่า สำนักงานบริหารแรงงานต่างด้าว (ส่วนกลาง) ได้ส่งเจ้าหน้าที่ประจำจุดที่ศูนย์ฯ ต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกและประสานงานกับทางเจ้าหน้าที่รัฐของกัมพูชา ความร่วมมือดังกล่าวเพื่อให้การบริหารจัดการของศูนย์ฯ และการทำงานของเจ้าหน้าที่กัมพูชาในการพิสูจน์สัญชาติแรงงานในประเทศตนเองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับผู้ประกอบการ/นายจ้าง ที่ต้องการยื่นเอกสารขอรับคิวเพื่อให้แรงงานของตนเองได้เข้ารับการพิสูจน์สัญชาติ เริ่มต้นนายจ้างต้องดำเนินการยื่นเอกสารขอรับคิวได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพที่เปิดให้บริการ ซึ่งขั้นตอนนี้เอกสารจะส่งให้หน่วยงานกลางของรัฐจะเป็นผู้พิจารณาเอกสาร วันเวลา และสถานที่ก่อนส่งกลับมายังจังหวัดต้นทางนั้นๆ เพื่อดำเนินการติดต่อแจ้งคิววันและเวลากับนายจ้างที่ต้องพาแรงงานต่างด้าวเข้ามาพิสูจน์สัญชาติ
หลังจากแรงงานได้รับคิวนัดวันเพื่อเข้ามาศูนย์พิสูจน์สัญชาติฯ เอกสารสำคัญที่แรงงานจะต้องนำติดตัวมามีทั้งหมด 2 ฉบับ ได้แก่ เอกสารสำคัญของแรงงานกัมพูชา 1 ฉบับ อาทิ บัตรประชาชนสัญชาติเขมร สูติบัตรต้นฉบับ หรือสำเนาสูติบัตร หรือหนังสือครอบครัว ส่วนเอกสารประเทศไทยใช้เอกสาร 2 ฉบับ ได้แก่ หนังสือรับรอง(ใบจับคู่นายจ้าง) และบัตรชมพูที่ยังไม่พิสูจน์สัญชาติ โดยเสียค่าใช้จ่ายเอกสารการเดินทาง (TD) 2,350 บาท ใช้เวลา 1 วัน รับเล่มได้ทันที
ทั้งนี้ ขีดความสามารถในการให้บริการพิสูจน์สัญชาติแรงงานชาวกัมพูชา ศูนย์ฯ สามารถรองรับแรงงานได้ประมาณ 400 คน/วัน ซึ่งที่ผ่านมาศูนย์ฯ เปิดให้บริการ (วันที่ 5-13 มีนาคม) เริ่มให้บริการจริงวันที่ 6 มีนาคม ยอดรวมแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาใช้บริการมีจำนวนทั้งสิ้น 1,417 คน เฉลี่ย 270-300 คน/วัน ถือว่ายังน้อยมากกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ ปัญหาส่วนหนึ่งมาจากนายจ้างอาจไม่ได้สนใจหรือรับข่าวสารที่เกี่ยวกับการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว บางส่วนก็ยังนิ่งนอนใจไม่เร่งเข้ามาดำเนินการให้แล้วเสร็จ หรือปล่อยให้แรงงานต่างด้าวมาดำเนินการเอง อย่างไรก็ตามเพื่อให้ระบบการเช็ดคิวแรงงานต่างด้าวที่นัดเข้ามาเป็นไปอย่างมีประสิทธภาพสูงสุดศูนย์ฯได้นำเทคโนโลยีโมบายออนไลน์ "ระบบนัดดิวพิสูจน์สัญชาติ" เพื่อช่วยในการตรวจสอบรายชื่อ เอกสาร และวันเวลานัดแรงงานเพื่อให้การดำเนินงานภายในศูนย์มีความคล่องตัวและขับเคลื่อนจำนวนผู้เข้ามาใช้บริการให้ตรงตามเป้าหมายที่กระทรวงแรงงานกำหนด
จึงขอประชาสัมพันธ์ฝากถึงผู้ประกอบการทุกๆ จังหวัด ไม่เพียงเฉพาะในจังหวัดปทุมธานีเท่านั้น ที่มีการใช้แรงงานต่างด้าวในธุรกิจขณะนี้มีโอกาสดำเนินการให้ถูกต้องตามกฏหมายแล้ว ควรรีบมาดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนศูนย์จะสิ้นสุดให้บริการสิ้นเดือนมิถุนายน