ด้าน นางดาเรศร์ กิตติโยภาส โฆษกกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ได้กำชับให้สำนักงานเกษตรจังหวัดระยอง จันทบุรีและตราด รายงานสถานการณ์การผลิตและการจำหน่ายไม้ผลภาคตะวันออกทุกสัปดาห์ โดยขณะนี้มีทุเรียนออกสู่ตลาดไปแล้ว 112,817 ตัน คิดเป็น 27.93% และผลผลิตที่ยังไม่เก็บเกี่ยว 291,089 ตัน คิดเป็น 72.07% (ข้อมูล ณ วันที่ 23 เมษายน 2561) ซึ่งในช่วงปลายเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2561 จะเป็นช่วงที่ทุเรียนออกสู่ตลาดมากที่สุด ไม่ใช่เป็นช่วงต้นฤดูกาลผลิตที่มักประสบกับปัญหาทุเรียนอ่อน อย่างไรก็ดีได้มีมาตรการป้องกันปัญหาการตัดทุเรียนอ่อนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทุเรียนคุณภาพผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และมีการส่งเสริมในรูปแบบแปลงใหญ่ทุเรียนในภาคตะวันออก จำนวน 23,092 ไร่ มีสมาชิก 3,079 ราย ซึ่งการผลิตทุเรียนคุณภาพในรูปแบบแปลงใหญ่ เป็นการสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการผลผลิตทุเรียนเป็นไปอย่างมีระบบ การลดต้นทุนและเพิ่มคุณภาพผลผลิตตามมาตรฐาน GAP ส่งผลให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิก ถ่ายทอดองค์ความรู้และเชื่อมโยงเครือข่ายด้านการตลาดแก่เกษตรกรที่ยังไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกผ่าน ศพก.เครือข่าย สามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้รับซื้อ ทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศได้
สำหรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทุเรียนคุณภาพ เริ่มตั้งแต่การเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียนที่มีความสุกแก่เต็มที่ หรือเก็บเกี่ยวทุเรียนในช่วงอายุที่เหมาะสมโดยนับจำนวนวันหลังดอกบานจนถึงเก็บเกี่ยวสำหรับพันธุ์กระดุมทอง อยู่ที่ประมาณ 90-100 วัน พันธุ์ชะนีประมาณ 105-110 วัน และพันธุ์หมอนทองประมาณ 120-135 วัน และมีข้อแนะนำในการจัดการผลผลิตด้วยการคัดขนาด คัดคุณภาพ แยกผลผลิตที่ด้อยคุณภาพออก และให้เกษตรกรทำความสะอาดผลทุเรียนอย่างดีก่อนที่จะส่งจำหน่าย
ส่วนมาตรการด้านการป้องกันการตัดทุเรียนอ่อน กรมส่งเสริมการเกษตรในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงาน ป้องกัน แก้ไขปัญหาเรื่องทุเรียนอ่อน เป็นนโยบายหลัก โดยกำหนดออกเป็น 3 แนวทาง ดังนี้ 1. แนวทางเชิงรุก ด้วยการสร้างความเข้าใจและเพิ่มทักษะความรู้ให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรและเกษตรกร การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และความเข้าใจทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค การสร้างทีมเกษตรกรและหน่วยรับตรวจความสุกของทุเรียนก่อนการเก็บเกี่ยว 2. แนวทางเชิงรับ ด้วยการจัดตั้งชุดเฉพาะกิจเพื่อสกัดกั้นทุเรียนอ่อนระดับอำเภอและระดับจังหวัด 3. การนำบทลงโทษทางกฎหมายมาบังคับใช้อย่างจริงจัง ทั้งกฏหมายอาญามาตรา 271 ผู้ใดขายโดยหลอกลวงด้วยประการใดๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ หรือปริมาณแห่งของอันเป็นเท็จนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 47 ผู้ใดเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญประการอื่น อันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่น โฆษณา หรือใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จ หรือข้อความที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ในแต่ละจังหวัดยังมีมาตรการควบคุมอย่างเข้มข้น เช่น จังหวัดจันทบุรี ซึ่งในพื้นที่ที่มีการปลูกทุเรียนมากที่สุด ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพเพื่อการส่งออกและส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าเกษตรคุณภาพของผู้ประกอบการร้านค้าปลีกจังหวัดจันทบุรี ฤดูกาลผลิตปี พ.ศ.2651 โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เป็นประธาน และมีเกษตรจังหวัดจันทบุรีเป็นกรรมการและเลขานุการ เพื่อประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมคุณภาพไม้ผลและสุ่มตรวจควบคุมคุณภาพผลผลิต ซึ่งเป็นมาตรการระดับพื้นที่ที่สอดคล้องกัน
สำหรับผู้บริโภคมีข้อสังเกตง่ายๆ ก่อนซื้อทุเรียนในช่วงนี้ คือ
1. สังเกตก้านผล ก้านผลจะแข็งและมีสีเข้มขึ้น สากมือ เมื่อจับก้านผลแล้วแกว่งผลทุเรียนจะรู้สึกว่า ก้านผลทุเรียนมีสปริงมากขึ้น ก้านผลบริเวณปากปลิงจะบวมโตเห็นรอยต่อชัดเจน
2. สังเกตหนาม ปลายหนามแห้ง มีสีน้ำตาลเข้ม เปราะและหักง่าย ดังนั้น เมื่อมองจากด้านบนของผลจะเห็นหนามเป็นสีเข้ม หนามกางออก ร่องหนามห่าง เวลาบีบหนามเข้าหากันจะรู้สึกว่ามีสปริง
3. สังเกตรอยแยกระหว่างพู ผลทุเรียนที่แก่จัดจะสังเกตเห็นรอยแยกสีน้ำตาลบนร่องพูอย่างชัดเจน ยกเว้น บางพันธุ์ที่พูปรากฏไม่เด่นชัดเช่น พันธุ์ก้านยาว
4. การชิมปลิง ผลทุเรียนแก่จัด เมื่อตัดขั้วผลหรือปลิงออกจะพบน้ำใส ซึ่งไม่ข้นเหนียวเหมือนในทุเรียนอ่อน และเมื่อชิมดูจะมีรสหวาน
5. การเคาะเปลือกหรือกรีดหนาม เมื่อเคาะเปลือกผลทุเรียนที่แก่จัดจะมีเสียงดังหลวมๆ เสียงหนักหรือเบาแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับพันธุ์และอายุของต้นทุเรียน