กลุ่มนักวิชาการและแพทย์ ชี้ข้อเท็จจริงว่า พาราควอต จำเป็นต่อการเกษตร

อังคาร ๒๔ เมษายน ๒๐๑๘ ๑๖:๕๖
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร. สันทัด โรจนสุนทร ประธานกรรมการ มูลนิธิวิทยาศาสตร์การเกษตร นำกลุ่มนักวิชาการและแพทย์ โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นายแพทย์สมชัย บวรกิตติ พันเอก นายแพทย์ สุรจิต สุนทรธรรม ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิพนธ์ พวงวรินทร์ และศาสตราจารย์ ดร. รังสิต สุวรรณมรรคา จัดเสวนา "สนทนาพาราควอต" ขึ้น เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริง หวังสร้างความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสารกำจัดวัชพืช พาราควอต ซึ่งยังคงจำเป็นในภาคเกษตรกรรมของประเทศไทย ตามยุทธศาสตร์ชาติ อาหารไทยสู่ครัวโลก

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร. สันทัด โรจนสุนทร ประธานกรรมการ มูลนิธิวิทยาศาสตร์การเกษตร เปิดเผยว่า สารเคมีกำจัดวัชพืชมีความสำคัญต่อเกษตรกรรมของประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ เพราะเป็นการทดแทนแรงงานคนเพื่อจะใช้ในการกำจัดวัชพืช ดังนั้น มูลนิธิฯ ยึดถือผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เพื่อการตัดสินใจและสรุปข้อมูลทั้งผลงานที่ไม่ว่าจะออกทางด้านลบหรือด้านบวก จึงได้เชิญนักวิชาการด้านการแพทย์และเกษตรกร กับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและทำความเข้าใจร่วมกัน นำไปสู่การนำเสนอแนวทางแก้ไขต่อภาครัฐและผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ

ศาสตราจารย์ ดร. รังสิต สุวรรณมรรคา ผู้เชี่ยวชาญด้านวัชพืช ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า คุณสมบัติของพาราควอต จะยึดติดกับดินอย่างเหนียวแน่น และหมดฤทธิ์ ไม่สามารถปลดปล่อยออกมา จึงไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสิ่งมีชีวิตอื่นที่อยู่ในดินและน้ำ อาทิ ไส้เดือน แมลง ปลา รวมทั้ง รากพืชไม่สามารถดูดซึมได้ ขณะเดียวกันการใช้งานในภาคเกษตรกรรม พาราควอต ใช้ในการกำจัดวัชพืช จะออกฤทธิ์เฉพาะส่วนสีเขียวที่ได้รับสารเท่านั้น เช่น หากฉีดโดนใบ ก็จะทำให้ใบไหม้ ส่วนลำต้นหรือส่วนอื่นๆ ที่เป็นสีน้ำตาล จะไม่ได้รับผลกระทบ ไม่เป็นพิษ สามารถเติบโตต่อไปได้ ตลอดจน การใช้สารเคมี พาราควอต ของเกษตรกรมาตลอดระยะเวลา 50 ปี จึงสรุปได้ว่า สารพารา ควอตยังมีความปลอดภัยหากเกษตรกรใช้ตามคำแนะนำที่ถูกต้อง

ขณะเดียวกัน ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของสารพาราควอตนั้น มีข้อกล่าวอ้างที่ขาดข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์มากมาย โดยเฉพาะประเด็น พาราควอตทำให้เกิดโรคเนื้อเน่า บริเวณจังหวัดหนองบัวลำภู นั้น ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะความจริงแล้ว พาราควอตไม่เจือปนในน้ำ เพราะจะถูกดูดยึดไว้กับอนุภาคดินและตะกอนดินในน้ำ รวมทั้งถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ในที่สุด ล่าสุดหน่วยงานภาครัฐถึงสองหน่วยงานทั้งกรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมก็ได้ออกมาให้ความเชื่อมั่น ตรวจไม่พบพาราควอตปนเปื้อนในแหล่งน้ำที่จังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งก็เป็นการตอกย้ำความถูกต้องทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้น พาราควอตจึงไม่ใช่สาเหตุของการเกิดโรคเนื้อเน่าอย่างแน่นอน

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นายแพทย์สมชัย บวรกิตติ ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา อดีตแพทย์โรคระบบการหายใจ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่าแพทย์ทั่วไปจะทราบว่า โรคเนื้อเน่าเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย การเดินลุยน้ำที่อาจมีสารพาราควอตปนเปื้อนจากการพ่นกำจัดวัชพืช จะได้สัมผัสกับพาราควอตที่เจือจางมากเพราะสารที่ใช้พ่นต้องเจือจางก่อนและจะถูกเจือจางอีกโดยน้ำที่ขังอยู่ และจะถูกทำให้หมดฤทธ์เมื่อสัมผัสกับน้ำโคลนดิน สารพาราควอตเองโดยปรกติไม่ถูกดูดซึมทางผิวหนังนอกจากมีบาดแผล ส่วนการรายงานผลการตรวจพบพาราควอตในเลือดของหญิงใกล้คลอดและเลือดสายสะดือทารก ก็น่าสงสัยว่าได้มาอย่างไร และในรายงานไม่ได้ระบุว่าแม่และลูกมีความผิดปรกติจากพิษพารา ควอตหรือไม่อย่างไร อนึ่งเท่าที่ทราบจวบปัจจุบันยังไม่เคยมีรายงานการเกิดพิษพาราควอตในผู้ใช้สารพาราควอตฆ่าหญ้าเลย นอกจากไปดื่มกิน

ศาสตราจารย์นายแพทย์นิพนธ์ พวงวรินทร์ ราชบัณฑิตแห่งสำนักราชบัณฑิตยสภา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทและหลอดเลือดสมอง อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคพาร์กินสันว่า ในตำราแพทย์ด้านประสาทวิทยา มีการกล่าวถึงว่า สารเคมีประเภทยาฆ่าแมลงและยาฆ่าหญ้าเป็นสารที่ทำให้เกิดโรคพาร์กินสัน อนึ่งข้อมูลทางระบาดวิทยาในประเทศต่างๆเมื่อราว 30 ปีที่แล้วให้ผลว่า สารเคมีทั้งประเภทยาฆ่าแมลงและยาฆ่าหญ้า อาจทำให้เกิดโรคพาร์กินสันได้โดยมีความเสี่ยงราว 2-5 เท่า แต่ข้อมูลจากการศึกษาแบบสอบถามนี้มีความโน้มเอียงที่จะมีอคติสูง เนื่องจากงานวิจัยเป็นการศึกษาแบบย้อนหลังและใช้แบบสอบถามที่ศึกษาว่าผู้ป่วยพาร์กินสันเคยได้รับสัมผัสกับสารเคมีกลุ่มนี้หรือไม่ในฐานะที่มีอาชีพเป็นเกษตรกร โดยเปรียบเทียบกันคนปรกติที่อายุเท่ากันและไม่ได้เป็นโรคพาร์กินสัน

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยในระยะหลังๆแบบติดตามประชากรที่เป็นเกษตรกรและได้สัมผัสกับสารเคมีกลุ่มนี้ เปรียบเทียบกับประชากรปรกติที่ไม่ได้สัมผัสกับสารเคมีกลุ่มนี้ และติดตามต่อมาอีก 10 ปี พบว่ามีประชากรทั้งสองกลุ่มเกิดเป็นโรคพาร์กินสันในอัตราใกล้เคียงกัน ดังนั้นในปัจจุบันจึงยังสรุปไม่ได้ว่าสารเคมีกลุ่มนี้จะทำให้เกิดโรคพาร์กินสันจริงหรือไม่ ประกอบกับสารเคมีพาราควอตในเลือดจะเข้าไปสู่สมองลำบากเพราะสารนี้ไม่ผ่านตัวกรองกั้นจากเลือดเข้าสู่สมอง (Blood Brain Barrier) และการจะเกิดการทำลายเซลล์สมองต้องมีปริมาณของสารเคมีในขนาดสูง การสรุปที่แน่ชัดในเรื่องนี้คงต้องอาศัยการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมอีกมากในอนาคต

พันเอก นายแพทย์สุรจิต สุนทรธรรม แพทย์ผู้มีความรู้ความชำนาญสาขาเวชพิษวิทยา ผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดลแผนกแพทยศาสตร์ กล่าวว่า ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกในการจำแนกสารกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ตามระดับความอันตรายเฉียบพลันฉบับล่าสุด สารพาราควอตได้รับการจัดอยู่ในกลุ่ม II "อันตรายปานกลาง" (moderately hazardous) ซึ่งจัดว่าเป็นพิษน้อยกว่า "นิโคติน" ที่พบในยาสูบซึ่งได้รับการจัดอยู่ในกลุ่ม Ib อันตรายสูง (Highly hazardous)

อย่างไรก็ตาม ในเอกสารการจำแนกขององค์การอนามัยโลกดังกล่าวได้มีหมายเหตุระบุไว้ว่า โดยสัมพัทธ์แล้วสารพาราควอตนั้นมีความเป็นพิษต่ำเมื่อใช้ตามปกติ แต่หากได้รับสารพาราควอตเข้มข้นโดยการกินหรือป้ายบนผิวหนังและถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายแล้ว อาจมีอันตรายร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิตในระยะเวลา 2-4 สัปดาห์ พันเอก นายแพทย์สุรจิต สุนทรธรรม แสดงความเห็นว่า หากจะยังอนุญาตให้มีการใช้ได้ ต้องมีมาตรการจำกัดการใช้เข้มงวดอย่างยิ่ง กล่าวคือ ต้องห้ามมิให้มีผลิตภัณฑ์ชนิดเข้มข้นวางจำหน่ายในท้องตลาด ห้ามมิให้มีการผสมและถ่ายเทสารพาราควอตนอกโรงงานที่ได้รับอนุญาต คงอนุญาตให้มีแต่ผลิตภัณฑ์ผสมเสร็จที่บรรจุในภาชนะปิดสนิทพร้อมใช้พ่นได้ทันทีเท่านั้น และต้องมีมาตรการแลกเปลี่ยนภาชนะบรรจุในการซื้อแต่ละครั้ง (ทำนองเดียวกันกับแก๊สหุงต้ม) จำกัดปริมาณให้ซื้อได้เฉพาะผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมการใช้และมีใบอนญาตเท่านั้น เป็นต้น

ท้ายที่สุด ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นายแพทย์สมชัย บวรกิตติ ราชบัณฑิตแห่งสำนักราชบัณฑิตยสภาและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินหายใจ กล่าวสรุปว่า การใช้พาราควอตเพื่อกำจัดวัชพืช ไม่น่ากลัว อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชน โปรดพิจารณาข่าวสารอย่างรอบคอบ ติดตามข้อมูลงานวิจัยหรือการศึกษาต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วน ประเด็นถกเถียงด้านสุขภาพจากเอกสารงานวิจัยต่าง ๆ ไม่ได้ระบุว่าพาราควอตเป็นสาเหตุของการเกิดโรค และอาการต่าง ๆ ดังกล่าวอ้าง เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นเท่านั้น ยังไม่มีผลการศึกษาที่ยืนยันแต่อย่างใด

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ