สำหรับผลดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมาย ผ่านกิจกรรมเชิงรุกจากโครงการต่างๆ ตามแผนงาน บสย. รวมถึงการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อ อาทิ การดำเนินโครงการ "มหกรรมเข้าถึงแหล่งเงินทุนแฟร์" 11 จังหวัด ให้คำปรึกษาทางการเงินกับผู้ประกอบการ SMEs และ กิจกรรมแมชชิ่งระหว่างผู้ประกอบการกับสถาบันการเงิน, การเปิดเวทีสัมมนาส่งเสริมความรู้ ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร และการประสานความร่วมมือระหว่าง บสย. กับสถาบันการเงินพันธมิตร ผลักดันโครงการค้ำประกันสินเชื่อ ผ่านสินเชื่อของธนาคารประเภทต่างๆ ที่ช่วยให้ SMEs เข้าถึงสินเชื่อของแต่ละธนาคารมากขึ้น
ผลดำเนินงานดังกล่าวสะท้อนว่ายังมีผู้ประกอบการ SMEs จำนวนมากต้องการเข้าถึงสินเชื่อ ผ่านระบบธนาคาร เพื่อนำไปเป็นทุนต่อยอดธุรกิจ เงินทุนหมุนเวียนและขยายกิจการ จากตัวเลขการอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ สูงสุด 5 หมวดธุรกิจ ได้แก่ 1. ธุรกิจบริการ 5,442 ล้านบาท สัดส่วน 23% 2. ธุรกิจการผลิตสินค้าและการค้าอื่นๆ 2,711 ล้านบาท สัดส่วน 11% 3. ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม 2,310 ล้านบาท สัดส่วน 9% 4. ธุรกิจเกษตรกรรม 2,163 ล้านบาท สัดส่วน 9% 5. ธุรกิจเหล็ก ผลิตภัณฑ์โลหะ และเครื่องจักร 2,020 ล้านบาท สัดส่วน 8%
บสย.มั่นใจว่าผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2561 ได้สะท้อนถึงความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพันธมิตร โดยมีบสย. ซึ่งเป็นหน่วยงานค้ำประกันสินเชื่อเป็นกลไกสำคัญ ช่วยผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ อย่างเต็มที่ ในส่วนของโครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ทวีทุน (PGS6) ปรับปรุงใหม่ ซึ่งจะสิ้นสุดโครงการในวันที่ 30 มิถุนายน 2561 บสย.และ 17 ธนาคารพันธมิตร ได้ร่วมกันผลักดันโครงการเพื่อช่วยผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อ ซึ่งขณะนี้ยังมีวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ รองรับประมาณ 26,000 ล้านบาท
ผลักดัน 3 โครงการใหม่
นายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไป สายงานธุรกิจ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ที่ประสบความสำเร็จและช่วยผู้ประกอบการ SMEs ได้มากคือ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro Entrepreneur ระยะที่ 2 วงเงินที่ได้รับอนุมัติจาก ครม. จำนวน 13,500 ล้านบาท ขณะนี้เหลือวงเงินให้ความช่วยเหลืออีกเพียง 600 ล้านบาท เท่านั้น (ตัวเลข ณ 23 เมษายน 2561) สำหรับแผนงานในไตรมาส 2 บสย. ได้เตรียมนำเสนอโครงการค้ำประกันสินเชื่อใหม่ ประกอบด้วยโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro Entrepreneur ระยะที่ 3 วงเงิน 15,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลัง และโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS7 วงเงิน 150,000 ล้านบาท ขณะนี้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ บสย. เรียบร้อย และอยู่ระหว่างการนำเสนอต่อกระทรวงการคลัง สำหรับความคืบหน้าของโครงการค้ำประกันสินเชื่อ NON BANK ที่ผ่านมา บสย. ได้ร่วมหารือกับธนาคารพันธมิตร โดยมี 2 ธนาคารให้ความสนใจร่วมโครงการ ทั้งนี้ บสย. คาดว่าทั้ง 3 โครงการใหม่นี้ จะสามารถดำเนินการได้ในไตรมาสที่ 3/2561
รับมือ ดิจิทัล แบงก์กิ้ง อนุมัติค้ำประกันเร็ว ภายใน 1 วัน
นายจตุฤทธิ์ จันทรกานต์ รองผู้จัดการทั่วไป สายงานสนับสนุน เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการค้ำประกันสินเชื่อ และการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยแผนงานปีนี้จะให้ความสำคัญกับการปรับปรุงประสิทธิภาพ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ รองรับแผนงานการอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อให้เร็วขึ้นจาก 3 วัน เป็น 1 วันทำการ โดยเบื้องต้นจะเริ่มดำเนินการร่วมกับ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และธนาคารกรุงไทย อนุมัติการออกหนังสือค้ำประกันสินเชื่อให้เร็วขึ้น ภายใน 1 วัน โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ซึ่งเป็นโมเดลใหม่ล่าสุดของ บสย. คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในเร็วๆ นี้