นายจารุบุตร เกิดอุดม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อมและพลังงาน ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดกระบวนการผลิต รวมทั้งมีการต่อยอดและพัฒนาการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงได้มีการปรับปรุงประกาศฯปรับเป้าหมายความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมในปี พ.ศ. 2563 ที่กำหนดไว้เดิมโดยใช้ปี 2558 เป็นปีฐาน โดยปรับเป้าหมายลดปริมาณการใช้พลังงานต่อหน่วยน้ำหนักผลผลิตให้ได้ถึงร้อยละ 15 จากเป้าหมายเดิมอยู่ที่ร้อยละ 5 ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้ได้ร้อยละ 15 จากเป้าหมายเดิมอยู่ที่ร้อยละ 5 ลดปริมาณการนำน้ำมาใช้ให้ได้ร้อยละ 25 จากเป้าหมายเดิมอยู่ที่ร้อยละ 10 และลดปริมาณของเสียที่กำจัดโดยวิธีฝังกลบให้ได้ร้อยละ 30 ตามลำดับ
"ซีพีเอฟกำหนดเป้าหมายความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ครอบคลุม 4 ด้านหลัก ประกอบด้วย พลังงาน ก๊าซเรือนกระจก การนำน้ำมาใช้ และปริมาณของเสียที่กำจัดโดยวิธีฝังกลบ ถือเป็นนโยบายที่ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน มีหน้าที่สนับสนุน ผลักดัน และปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทสามารถลดการใช้พลังงานได้เกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ทุกด้าน ทำให้บริษัทพิจารณาปรับเป้าหมายเพิ่มขึ้นอีก" นายจารุบุตร กล่าว
นายจารุบุตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามเป้าหมายที่วางไว้ในปี พ.ศ. 2563 ซีพีเอฟจะมีส่วนร่วมในการช่วยลดการใช้พลังงานได้เท่ากับ 5,770 ล้านเมกะจูล หรือเทียบเท่า 1,600 ล้านหน่วยไฟฟ้า (ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยต่อคนเท่ากับ 2,540 หน่วยต่อปี) ลดการใช้น้ำได้กว่า 69 ล้านลูกบาศก์เมตร ลดก๊าซเรือนกระจกได้เท่ากับ 490,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ หรือเทียบเท่าปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการใช้น้ำมันดีเซลในรถยนต์กว่า 182 ล้านลิตร (ประเทศไทยใช้น้ำมันดีเซลเท่ากับ 64.3 ล้านลิตรต่อวัน) และลดของเสียที่ต้องนำไปฝังกลบกว่า 12,000 ตัน
สำหรับผลการดำเนินงานสะสมของบริษัทฯ ปี 2559-2560 สามารถลดปริมาณการใช้พลังงานต่อน้ำหนักผลผลิตได้ ร้อยละ 11.60 เมื่อเทียบกับปีฐาน 2558 ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ร้อยละ 6.98 ซึ่งเป็นผลจากความพยายามอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาและดำเนินโครงการด้านการประหยัดพลังงานและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน นอกจากนี้ บริษัทฯ สามารถลดปริมาณการดึงน้ำมาใช้ได้ ร้อยละ 23.38 เนื่องมาจากการลดการนำน้ำมาใช้ของสายธุรกิจสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นสายธุรกิจที่มีปริมาณการนำน้ำมาใช้สูงกว่าธุรกิจอื่นๆ และลดปริมาณของเสียที่กำจัดโดยวิธีการฝังกลบได้ร้อยละ 9.08 จากการนำหลักการ 4Rs มาใช้