โดยกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้น LOW VOLATILITY (SCBLEQ) มีผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปี อยู่ที่ 11.48% (ข้อมูล ณ วันที่ 23 เม.ย. 2561) ซึ่งมีนโยบายลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน Low Volatility Equity Portfolio ชนิดหน่วยลงทุน (Share Class) I สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) บริหารโดย AllianceBernstein L.P โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน และอาจลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ กองทุน AB Low Volatility Equity Portfolio ลงทุนในตราสารทุนที่โดยพื้นฐานมีความผันผวนคาดการณ์และความเสี่ยงขาลงคาดการณ์ที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดโดยรวม ซึ่งผู้จัดการกองทุนจะคัดเลือกหลักทรัพย์เข้าพอร์ตการลงทุนโดยการใช้แบบจำลองเพื่อคำนวณค่าความเสี่ยงและผลตอบแทนของหลักทรัพย์ รวมถึงใช้หลักการวิเคราะห์ และประสบการณ์ด้านการลงทุนที่ยาวนาน เพื่อให้ได้มาซึ่งพอร์ตการลงทุนที่ประกอบไปด้วยหลักทรัพย์ที่มีความผันผวนต่ำที่สุด ในขณะที่มีคุณภาพด้านปัจจัยพื้นฐานดีที่สุด โดยจะเน้นลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทที่อยู่ในตลาดที่พัฒนาแล้วเป็นหลัก
ส่วนกองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นญี่ปุ่น (ชนิดจ่ายเงินปันผล) (SCBNK225D) สำหรับผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2560 - วันที่ 30 มีนาคม 2561 ในอัตรา 0.3033 บาทต่อหน่วย ซึ่งนับเป็นการจ่ายปันผลครั้งที่ 7 รวมจ่ายปันผลแล้วทั้งสิ้น 2.6903 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งกองทุนเมื่อ 11 ต.ค.2556)
ทั้งนี้กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นญี่ปุ่น (ชนิดจ่ายเงินปันผล) (SCBNK225D) มีผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปี อยู่ที่ 19.56% (ข้อมูล ณ วันที่ 23 เม.ย.2561) มีนโยบายการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน Nikkei 225 Exchange Traded Fund (กองทุนหลัก) เฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน บริหารงานโดย Nomura Asset Management Co.,Ltd. จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และลงทุนในสกุลเงินเยน (JPY) มีนโยบายเน้นลงทุนในตราสารทุนทั้งหมดที่เป็นส่วนประกอบของดัชนีนิคเคอิ 225 และตราสารทุนที่กำลังจะมาเป็นส่วนประกอบของดัชนีนิคเคอิ 225 ในสัดส่วนการลงทุนเดียวกับจำนวนหุ้นในดัชนีนิคเคอิ 225 (Nikkei 225 Index หรือ Nikkei Stock Average) มีการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าสินทรัพย์ที่ลงทุนในต่างประเทศ
นายสมิทธ์ กล่าวว่า บลจ.ไทยพาณิชย์ ยังมีมุมมองเป็นบวกต่อตลาดหุ้นทั่วโลก ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาจะมีความผันผวนเพิ่มขึ้นจากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ กระแสการกีดกันทางการค้า และแรงเทขายหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี แต่ปัจจัยพื้นฐานยังดีอยู่ โดยล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ประมาณการไว้ว่าเศรษฐกิจโลกจะโตในระดับที่ร้อยละ 3.9 ในปี 2561 ซึ่งจะเป็นระดับที่สูงที่สุดตั้งแต่ปี 2554 อีกทั้งในปี 2562 จะมีการเติบโตที่ร้อยละ 3.9
นอกจากนี้ผลประกอบการของบริษัทในตลาดหุ้นหลักทั่วโลกยังปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยผลประกอบการของตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีปัจจัยหนุนจากการปฏิรูปภาษีในต้นปี สำหรับตลาดหุ้นญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าตลาดได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจโตแค่ร้อยละ 1.4 ในปี 2561 ซึ่งลดลงจากการเติบโตที่ร้อยละ 1.7 ในปี 2560 แต่ตัวเลขเศรษกิจยังถือว่าอยู่ในระดับที่ดี โดยล่าสุดอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 25 ปี อีกทั้งตลาดหุ้นจะได้ผลบวกจากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในกรณีที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ หรือดอกเบี้ยระยะยาวของสหรัฐฯ ขึ้นตาม
ขณะที่ญี่ปุ่นภาพรวมเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งภาคการผลิตและภาคการบริโภค การใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สามารถตอบสนองความต้องการได้ทั้งภายในและต่างประเทศ รวมถึงช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มโอกาสทำกำไรของธุรกิจ โดยผลประกอบการของบริษัทยังคงเติบโตเป็นปัจจัยสนับสนุนหลักต่อมูลค่าพื้นฐานของหลักทรัพย์ ขณะที่ตลาดแรงงานมีความแข็งแกร่ง ด้วยปัจจัยสนับสนุนจากกลุ่มผู้สูงวัยและกลุ่มแรงงานเพศหญิงที่เข้ามามีบทบาทในตลาดแรงงานมากขึ้น นอกจากนี้ดัชนีชี้วัดความมั่นใจทางเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มที่ดี สะท้อนให้เห็นว่าประชากรมีมุมมองเชิงบวกต่อสภาวะเศรษฐกิจโดยรวม