"งาน Seafood Expo Global 2018 ถือเป็นงานแสดงสินค้าอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีมาเป็นเวลากว่า 25 ปี ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม โดยเฉลี่ยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 26,000 ราย ประกอบด้วย ผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้ค้าปลีก สื่อมวลชน เกี่ยวกับสินค้าประมงและอาหารทะเล จาก 140 ประเทศทั่วโลก ที่นอกจากผู้เข้าร่วมงานเจรจาซื้อขายสินค้า โปรโมทผลิตภัณฑ์ประมงใหม่ๆ และสร้างเครือข่ายมืออาชีพด้านการค้าขายสินค้าประมงแล้ว ยังเป็นที่พบปะหารือระหว่างผู้ค้าขายสินค้าประมงระดับโลก การให้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการประมงของทั่วโลก รวมถึงการจัด กิจกรรมและ สัมมนาเกี่ยวกับสถานการณ์ สถานะ ข้อมูลปัจจุบันด้านการประมงระดับภูมิภาคและระดับโลก ทำให้สื่อมวลชนด้านการประมงระดับโลกสนใจที่จะเข้าร่วมงานและมาหาข้อมูลเพื่อทำข่าวความเคลื่อนไหวด้านการประมงจากงานนี้เป็นจำนวนมาก" นายมนัสวี กล่าว
ด้านนายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า การจัดเวทีชี้แจงข้อมูลให้นานาประเทศรู้รับทราบนับเป็นครั้งที่สองที่ไทยออกมาอธิบายความก้าวหน้าการดำเนินงานเรื่องการขจัดการทำประมงผิดกฎหมาย การแก้ไขปัญหาแรงงาน และการค้ามนุษย์อย่างครบถ้วนทุกแง่มุม ซึ่งผู้แทนจากประเทศผู้นำเข้ามีความสนใจและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โดยเฉพาะผู้แทนบริษัทผู้นำเข้าสินค้าประมงจากไทยรายใหญ่ เช่น บริษัทซีพีเอฟ สหราชอาณาจักร ที่ชื่นชมไทยในการแก้ปัญหาทั้งสองเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจน และยอมรับไทยเป็นผู้นำในการต่อต้านการประมงผิดกฎหมาย แรงงานผิดกฎหมาย แรงงานบังคับ การค้ามนุษย์ เนื่องจากเรามีกฎหมายที่ดี มีระบบจัดการที่ชัดเจน และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่
ขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมง ได้ชี้แจงแนวทางของไทยในการยกระดับไปสู่การทำการประมงที่ยั่งยืน สามปีที่ผ่านมาเราเริ่มต้นด้วยการปฏิรูปการประมงโดยการทำกฎหมายการทำประมงใหม่ และมีการจัดระบบต่างๆ ขึ้นมาเพื่อจัดการประมงได้เป็นอย่างดี เริ่มต้นด้วยการใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในการประกอบการออกใบอนุญาตทางการประมง จัดระบบในการติดตามเฝ้าระวังเรือที่ออกไปทำการประมง ทั้งในและนอกน่านน้ำ จัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อทราบว่าปลาจับจากที่ไหนจากเรือลำไหน ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งระบบทั้งหมดที่ใช้เวลาทำเกือบสามปี และวันนี้ไทยก็จะต้องออกมาบอกกับนานาชาติได้ว่าเราได้เดินทางมาถูกทางแล้ว และก้าวหน้าเป็นอย่างมาก แต่เราไม่หยุดแค่นี้แต่เราจะทำต่อไปให้ทรัพยากรประมงไทย และทรัพยากรประมงโลกมีความยั่งยืนต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะการประกาศเจตนารมณ์ที่ไทยมุ่งเป้าหมายให้ไทยเป็นไอยูยูฟรี หรือ สัตว์น้ำที่จับในประเทศจะไม่มีการทำประมงผิดกฎหมาย สัตว์น้ำที่นำเข้าก็จะไม่มีมาจากการทำประมงผิดกฎหมาย และสัตว์น้ำที่ส่งออกก็จะไม่มีการทำประมงที่ผิดกฎหมาย แต่ในเรื่องไอยูยูฟรีเพิ่งเริ่มต้นซึ่งไทยเป็นประเทศที่นำเข้าปลาจากต่างประเทศเยอะมาก การจับไปพิสูจน์ปลาเหล่านั้นไม่ใช่ปลาไอยูยูไม่ง่ายต้องมีความร่วมมือกับประเทศผู้ส่งปลาให้เรา เราต้องมีกฎระเบียบที่ต้องเกี่ยวพันกับองค์การการค้าโลก ต้องมีการแจ้งเตือนและวางระบบ คงตอบไม่ได้ว่าอีกกี่ปีเพราะขั้นตอนเหล่านี้มีรายละเอียดเยอะมาก แต่เป็นความตั้งใจและนโยบายใหม่ที่รัฐบาลกำลังเริ่มต้นและบรรลุวัตถุประสงค์ได้ แต่ทั้งหมดก็ต้องอาศัยเวลา เราทำมาอย่างรวดเร็วก็มีผลกระทบต่อชาวประมง ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก ก็จะต้องมีความร่วมมือและช่วยกันทำต่อไป เรายังทำไม่สำเร็จที่จะบอกว่าประมงไทยยั่งยืนแล้ว เรื่องทรัพยากรก็ต้องใช้เวลา แต่เราก็มาในเส้นทางที่ถูกต้องและจะเดินต่อไป เป็นความมุ่งมั่นของรัฐบาล และวันนี้ชาวประมง ผู้ประกอบการก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
ด้านนายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ต่างชาติโดยเฉพาะคู่ค้าสำคัญๆ ที่นำเข้าสินค้าประมงของไทยอย่าง อียู อเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ยังมีคำสั่งซื้อเข้ามามากขึ้น แสดงถึงการยอมรับว่านโยบายภาครัฐที่จริงจัง และจริงใจในการแก้ไขปัญหาไอยูยู ทั้งการปรับปรุงกฎหมายและบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมาเรามีมูลค่าการซื้อขายอาหารทะเลดีขึ้น แสดงถึงความเชื่อมั่นของไทยในสายตาของประเทศคู่ค้าสินค้าประมง อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรจะกังวลในเรื่องสถานะในเรื่องใบเหลือง ใบเขียว ซึ่งเป็นส่วนที่สหภาพยุโรปพิจารณา แต่สิ่งที่เราควรทำอย่างต่อเนื่อง คือ การร่วมกันฟื้นฟูทรัพยากรประมงทะเลให้ฟื้นกลับคืนมาสมบูรณ์ เพื่อให้อาชีพประมงและการทำประมงไทยมีความยั่งยืน
ด้านนายบ็อบ มิลเลอร์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร ประจำสหราชอาณาจักร เปิดเผยว่า ในฐานะผู้ประกอบการที่นำเข้าสินค้าประมงจากไทย ขอชื่นชมประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย และปัญหาแรงงานที่เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน โดยเฉพาะการควบคุมเรือประมงด้วยระบบติดตามเรือ หรือ วีเอ็มเอส กระบวนการทางกฎหมายมาบังคับใช้มีประสิทธิภาพ ใบรับรองการจับสัตว์น้ำ ที่ทำให้ผู้นำเข้าเกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ภาคเอกชนจึงมีความเชื่อว่าไทยจะเป็นผู้นำในเรื่องการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้