ซีพี ออลล์ จัดเสวนาพิเศษ “จากนวนิยายรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดสู่ละครดัง” กนกวลี, รอมแพง, ปราปต์ ร่วมเผยเคล็ดลับเทคนิคสร้างงานเขียนสุดดัง

พฤหัส ๒๖ เมษายน ๒๐๑๘ ๑๔:๔๗
ซีพี ออลล์ จัดงานเสวนาพิเศษเซเว่นบุ๊คอวอร์ด หัวข้อ "จากนวนิยายรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดสู่ละครดัง" โดยมี "กนกวลี พจนปกรณ์" นายกสมาคมนักเขียนฯ "รอมแพง" และ "ปราปต์" นักเขียนรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ผู้สร้างปรากฏการณ์การเขียนแห่งยุคสมัย ร่วมเผยเคล็ดลับเทคนิคการเขียนนวนิยายให้กลายเป็นละครดัง เพื่อเป็นต้นแบบให้นักเขียนรุ่นใหม่ๆ

นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในประเทศไทย กล่าวว่าตลอดระยะเวลา 15 ปี ที่ซีพี ออลล์ ได้ดำเนินโครงการประกวดหนังสือดีเด่นรางวัล เซเว่นบุ๊คอวอร์ด โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อช่วยส่งเสริมนักเขียนคุณภาพ และสนับสนุนผลงานที่มีเนื้อหาจรรโลงสังคม โดยได้รับเกียรติจากท่านคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านวรรณกรรมจำนวนมากมาร่วมตัดสิน เพื่อคัดสรรหนังสือดีมีคุณภาพทั้ง 7 ประเภทสู่สังคม ประกอบด้วย กวีนิพนธ์, นวนิยาย, นิยายภาพ (การ์ตูน), รวมเรื่องสั้น, วรรณกรรมสำหรับเยาวชน, สารคดี (ทั่วไป) และประเภทนักเขียนรุ่นเยาว์

ล่าสุดจัดเสวนาพิเศษหัวข้อ "จากนวนิยายรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดสู่ละครดัง" โดยมี นางกนกวลี พจนปกรณ์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย, น.ส. จันทร์ยวีร์ สมปรีดา (รอมแพง)และ นายชัยรัตน์ พิพิธพัฒนาปราปต์ (ปราปต์) เป็นวิทยากรร่วมเผยเคล็ดลับเทคนิคในการเขียนนวนิยายที่สามารถนำไปสร้างให้เป็นละครดัง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้นักเขียนยุคใหม่หันมาให้ความสนใจเขียนนวนิยายกันมากขึ้น

"ปัจจุบันโครงการเซเว่นบุ๊คอวอร์ดเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในการยกย่องเชิดชูนักเขียนนวนิยายที่ประสบความสำเร็จ ผลิตผลงานที่สร้างชื่อเสียงและได้รับความนิยมทั้งในโลกออฟไลน์ และออนไลน์ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายด้านซีเอสอาร์ของซีพี ออลล์ ที่มุ่งส่งเสริมการศึกษา พัฒนาการอ่าน การเรียนรู้และหวังว่าโครงการเซเว่นบุ๊คอวอร์ดจะได้รับการส่งเสริม สนับสนุนเพื่อร่วมกันสร้างสังคมอุดมปัญญา พัฒนาเยาวชนอย่างต่อเนื่องและนำไปสู่การพัฒนาประเทศชาติต่อไป ขอขอบคุณวิทยากรที่ให้เกียรติและสละเวลาอันมีค่ามาร่วมเสวนามอบความรู้และแบ่งปันประสบการณ์ดีๆ ให้แก่นักเขียนรุ่นใหม่และผู้สนใจ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการเป็นนักเขียนที่มีคุณภาพสูงในอนาคต"

นางกนกวลี พจนปกรณ์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ซึ่งเคยได้รับรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 5 จากนวนิยายเรื่อง "ยิ่งฟ้ามหานที" กล่าวว่าปัจจุบันการเขียนนวนิยายในปัจจุบันมีการเติบโตขึ้นอย่างมาก ทั้งจากเวทีประกวดที่เป็นกำลังใจให้นักเขียน และการเขียนการอ่านในออนไลน์ ซึ่งต่อยอดไปสู่การพิมพ์และการอ่านหนังสือเล่มซึ่งเทคนิคการเขียนที่สำคัญให้จับใจทั้งกรรมการและนักอ่าน คือหัวใจของนักเขียนที่จะต้องเปิดใจให้กว้างในการพัฒนางานของตนเอง

"ยุคนี้เป็นยุคของการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ จากระบบหนังสือที่พิมพ์ด้วยกระดาษเป็นดิจิตอล เพราะฉะนั้นเราอาจจะต้องเปิดใจให้กว้างยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เปิดใจว่าเราจะต้องพัฒนางานเขียนของเราอย่างไร ให้เห็นกระทั่งความแตกต่างของงานเขียนด้วยว่างานเขียนไม่ได้มีแบบเดียว เช่นเดียวกับคนอ่านก็มีหลายแบบ การเปิดใจสำคัญที่สุด เพราะทำให้งานของเรานั้นมีคุณค่ามีความหมาย เราเองก็จะมีความมุ่งมั่นที่จะทำงานใหม่ๆเสมอขึ้นมา แล้วพลังของวรรณกรรมที่ส่งต่อไปถึงคนอ่านได้อย่างมากมายมหาศาลก็จะเกิดขึ้นมาเองค่ะ"

น.ส. จันทร์ยวีร์ สมปรีดา หรือ "รอมแพง" ซึ่งได้รับรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดครั้งที่ 7 จากนวนิยายเรื่อง "บุพเพสันนิวาส" กล่าวว่าการได้รับรางวัลในครั้งนั้นเป็นผลดีกับนวนิยายเรื่องนี้อย่างยิ่ง เพราะทำให้คนรู้จักนวนิยายมากขึ้น และขณะนี้กำลังเขียนภาคต่อบุพเพสันนิวาสในชื่อ "พรหมลิขิต"

"การได้รางวัลทำให้นวนิยายได้รับการรีวิวจากสื่อต่างๆมีการพูดถึงตั้งแต่ยังไม่ได้ทำละคร เพราะคนอ่านก็สงสัยว่าทำไมถึงได้รางวัล พอเขาอ่านเขาถึงรู้ พอรู้แล้วเขาก็เอามารีวิว ก็เกิดการพูดต่อแบบปากต่อปาก ทำให้เกิดผลดีต่อตัวงานมากๆโดยเฉพาะในแง่ของยอดขาย

ตอนเขียนบุพเพสันนิวาสทำการบ้านหนักมาก นอกจากจะค้นข้อมูลจากหอสมุดแห่งชาติและหอสมุดม.ศิลปากรที่แล้ว ยังไปพิพิธภัณฑ์ต่างๆเพื่อให้เห็นภาพที่เราจะเขียน เขียนเป็นพล็อตนิยายอิงประวัติศาสตร์ ซึ่งจะพูดว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่แท้จริงก็ไม่ใช่ เพราะว่าไม่มีใครรู้ว่าประวัติศาสตร์ที่เขียนมาอันไหนแท้ อันไหนจริงมากน้อยแค่ไหน แต่ก็พยายามจับประเด็นที่เข้ากับในเรื่องของเรามากที่สุดแล้วก็สอดแทรกร้อยไปให้เนียนไป ซึ่งความยากในการทำงานคือการตรวจสอบข้อมูลทางประวัติศาสตร์ เพราะในยุคสมัยนั้นมีกระแสของประวัติศาสตร์หลายกระแสมาก เราจะไม่ตัดสินว่าตัวละครในประวัติศาสตร์ตัวนี้ดีหรือไม่ดี แต่เป็นการเหมือนเล่าให้ฟังว่าเคยเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นกับคนๆนี้ในบันทึกของเล่มนี้ แล้วมีเหตุการณ์ของคนๆนี้ในบันทึกอีกเล่มหนึ่ง โดยใช้ตัวเกษสุรางค์เป็นคนมอง เป็นการสร้างความสมดุลเพื่อให้คนอ่านได้ฉุกคิดถึงความแตกต่างและไปศึกษาต่อด้วยตัวเอง

ภาคสองชื่อว่า "พรหมลิขิต" ค่ะ เป็นเรื่องในยุคของพระเจ้าท้ายสระ ซึ่งมีนักวิชาการบางท่านยินดีที่จะช่วยเหลือในการหาข้อมูลมาให้ซึ่งทำให้ง่ายต่อการที่เราจะเริ่มต้นเขียน แต่ตอนนี้เขียน "โฟร์บลัด" อยู่ค่ะเป็นเรื่องในยุคอนาคต 3000 ปีข้างหน้า ก็จะพยายามเขียนอะไรที่ไม่ซ้ำกัน"

นายชัยรัตน์ พิพิธพัฒนาปราปต์ หรือ "ปราปต์" ซึ่งได้รับรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดครั้งที่ 12 จากนวนิยายเรื่อง "กาหลมหรทึก" ซึ่งขณะนี้กำลังเป็นละครดังทางช่อง one นั้น กล่าวว่า การได้รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดนั้น นอกจากจะทำให้นักอ่านรู้จักหนังสือมากขึ้นแล้ว เงินรางวัลที่ได้รับยังช่วยเป็นกำลังใจให้นักเขียนสามารถสร้างงานที่ดีขึ้นด้วย

"คำว่านักเขียนไทยไส้แห้งยังเป็นเรื่องจริง โดยเฉพาะคนที่เป็นนักเขียนเต็มเวลา การเขียนงานได้ดีจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างไม่ใช่แค่นั่งคิดก็จะสามารถนั่งเขียนออกมาได้ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าการที่มีรางวัล มีเงินรางวัลมาสนับสนุนทำให้คนที่ตั้งใจทำงานดีๆมีกำลังใจที่จะทำงาน มีแรงที่จะสร้างงานดีๆออกมาอีกครับ

ความยากในการเขียนเรื่องกาหลมหรทึกนี้ คือการศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ช่วงประมาณปี 2486 และความรู้เกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนของตำรวจ แต่ความยากเหล่านี้ก็กลายเป็นความสนุกของเราที่ต้องค้นคว้า แล้วนำเหตุการณ์ที่วางไว้มาเชื่อมกับโคลงกลบท ซึ่งจริงๆผมเขียนงานหลายแนวมากและพล็อตก็จะไม่ใกล้เคียงกัน อนาคตที่วางไว้ผมมองแค่ว่าเราอยากเป็นคนเขียนหนังสือที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการเขียน ซึ่งเทคนิคในการเขียนของผมมีเพียงอย่างเดียวเลย คือต้องรู้สึกกับสิ่งเขียนก่อน ถ้าเรารู้สึกว่างานที่เราเขียนสนุก ผมว่าคนอ่านก็จะสนุกกับเราไปด้วย"

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ