"ปัจจุบันกรมปศุสัตว์ส่งเสริมให้ร้านจำหน่ายเนื้อสัตว์ทั่วประเทศเข้าสู่โครงการปศุสัตว์ OK แล้ว 4,232 แห่ง ขณะเดียวกันได้ขยายความสำเร็จของโครงการนี้ไปสู่ร้านจำหน่ายไข่ OK ได้อีก 384 แห่ง คาดว่าปีนี้จะสามารถเดินหน้ามาตรฐานการจัดจำหน่ายเนื้อสัตว์และไข่ปลอดภัยนี้สู่ผู้บริโภคทั่วไทยให้ถึง 5,000 แห่ง และผลักกันโครงการนี้ให้เป็นต้นแบบบูรณาการสู่กิจกรรมอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนได้บริโภคอาหารที่มีความปลอดภัยตามมาตรฐาน ได้รับอาหารที่ปลอดภัยจากยาปฏิชีวนะและสารตกค้าง" นายสัตวแพทย์สมชวน กล่าว
โฆษกกรมปศุสัตว์ กล่าวอีกว่า นอกจากการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการนำมาตรฐานโครงการของกรมปศุสัตว์ไปปรับใช้แล้ว ยังแนะนำให้จัดเก็บผลิตภัณฑ์ระหว่างจำหน่ายไว้ในตู้แช่เย็นเพื่อให้สินค้าคงความสดและคงคุณภาพไว้จนถึงมือผู้บริโภค ขณะเดียวกันร้านจำหน่ายที่ได้รับการรับรองมาตรฐานแล้ว เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัดหรือปศุสัตว์อำเภอในพื้นที่จะเข้าตรวจสอบมาตรฐานอย่างต่อเนื่องทั้งที่ร้านจำหน่าย และตรวจสอบย้อนกลับถึงกระบวนการผลิตที่ฟาร์มเลี้ยงและโรงชำแหละก่อนนำมาจัดจำหน่ายที่ร้าน เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าที่ถูกหลักสุขอนามัย สด สะอาด ปลอดภัย
ทั้งนี้ โครงการปศุสัตว์ OK เป็นโครงการที่กรมปศุสัตว์เดินหน้าดำเนินการอย่างต่อเนื่องในทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อผลักดันให้เกิดความปลอดภัยในอาหาร สร้างความน่าเชื่อถือ และการยอมรับจากผู้บริโภคมากขึ้น ขณะเดียวกันผู้ผลิตสามารถผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด และมีปริมาณเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ โครงการนี้มุ่งเน้นผลิตสินค้าปศุสัตว์ที่มีความปลอดภัยในระดับสูง โดยกำหนดให้สินค้าที่จำหน่ายในร้านที่ได้รับการรับรองปศุสัตว์ OK จะต้องมาจากฟาร์มที่ได้มาตรฐานของกรมปศุสัตว์และได้มาตรฐาน GMP ผ่านการเชือดชำแหละจากโรงฆ่าที่ถูกกฎหมาย กระทั่งถึงโรงงานแปรรูปและสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานความสะอาด เนื้อสัตว์วางแยกกับเครื่องในสัตว์ เขียง มีดและอุปกรณ์ต้องล้างทำความสะอาดสม่ำเสมอ และผู้จำหน่ายต้องสวมเครื่องแต่งกายที่สะอาด