ซีพีเอฟเป็นบริษัทไทยที่เข้าไปลงทุนในประเทศเวียดนามตั้งแต่ปี 2531 ผ่านบริษัท ซี.พี.เวียดนาม คอร์ปอเรชั่น และกลายเป็นฐานการผลิตสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารแบบครบวงจรใหญ่ รายงานจากซีพีเอฟ กล่าวว่า เวียดนามเป็นประเทศที่สำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของซีพีเอฟ เนื่องจาก ความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการส่งออกที่ขยายตัวมากกว่า20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการที่เวียดนามมีข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ขนาดของตลาดและอายุเฉลี่ยของประชากรส่วนใหญ่ 60% ของประชากร อยู่ในวัยทำงาน มีส่วนสำคัญในการผลักดันในเกิดการใช้จ่ายภายในประเทศอย่างมีเสถียรภาพ กลายเป็นปัจจัยบวกต่อธุรกิจที่เข้าไปลงทุนในเวียดนาม
สำหรับภาคเกษตรอุตสาหกรรมในปีนี้เวียดนามมีการปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเฉพาะสถานการณ์ราคาสุกรตกต่ำในปีที่ผ่านมา จากปัญหาผลผลิตล้นตลาด ปัจจุบันราคาสุกรปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่38,000-40,000 ด่องต่อกิโลกรัม (คิดเป็น55-57 บาทต่อกิโลกรัม) เทียบกับราคาปี 2560 อยู่ที่กิโลกรัมละ 20,000ด่องต่อกิโลกรัม ( 30บาทต่อกิโลกร้ม)
นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามตั้งเป้าส่งเสริมเพิ่มปริมาณการส่งออกอาหารทะเล โดยเฉพาะ กุ้ง ซึ่งคาดว่าการส่งออกกุ้งจากเวียดนามจะเพิ่มขึ้นจากปี 2559ปริมาณ 690,000ตัน เป็น 830,000 ตันในปี 2563 และ 1.14 ล้านตันในปี 2568 ซึ่งจะทำให้ประเทศเวียดนามเป็นประเทศผู้ผลิตกุ้งใหญ่ที่สุดในโลกอีกประเทศหนึ่ง
จากวิสัยทัศน์ "ครัวของโลก" ของซีพีเอฟ ปัจจุบันบริษัทฯขยายการลงทุนไป16 ประเทศ และกำลังอยู่ในระหว่างการเข้าไปลงทุนธุรกิจกุ้งในประเทศบราซิล โดยการลงทุนในต่างประเทศถือเป็นฐานที่สำคัญในการสร้างการเติบโตของซีพีเอฟอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน ยอดขายรวมของบริษัทฯกว่า64% มาจากธุรกิจในต่างประเทศ
นโยบายสร้างการเติบโตของ ซีพีเอฟ มาจากสองทาง คือ การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ไปสู่สินค้าแปรรูปเพิ่มมูลค่ามากขึ้น และการเน้นการเติบโตของธุรกิจในต่างประเทศที่มีศักยภาพสูง มีประชากรมากกว่า100 ล้านคน เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินเดีย