สถาบันวัคซีนแห่งชาติฯ ระดมพลังเครือข่ายขับเคลื่อนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ

ศุกร์ ๒๗ เมษายน ๒๐๑๘ ๑๒:๒๑
สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ระดมพลังทุกภาคส่วนร่วมใจ หยุดโรคภัยด้วยวัคซีน #VaccinesWork เป็นหนึ่งพลังขับเคลื่อนงานด้านการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้สัปดาห์สุดท้ายเดือนเมษายนของทุกปีเป็นสัปดาห์แห่งการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโลก (World Immunization Week) โดยในปีนี้มีแนวคิดหลักคือ " Protected Together, #VaccinesWork"เน้นให้ความสำคัญกับบทบาทหน้าที่ของทุกคนที่มีส่วนร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ในฐานะหน่วยงานกลางด้านวัคซีนของประเทศจึงจัดงานเสวนา "ทุกภาคส่วนร่วมใจ หยุดโรคภัยด้วยวัคซีน" #VaccinesWork เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญของวัคซีน และร่วมเป็นหนึ่งพลังของการขับเคลื่อนงานด้านการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ทุกคนในสังคม ปลอดภัยจากโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ณ ห้องสยามบอลรูม โรงแรมแลงคาสเตอร์ กรุงเทพฯ

พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านกุมารเวชกรรม กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า.. จากการสำรวจภาพรวมความครอบคลุมการได้รับวัคซีนทุกชนิดในกลุ่มเด็กก่อนวัยเรียนและในวัยเรียนของประเทศ มีระดับสูง ส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 90 แต่ยังมีบางส่วนของเด็กกลุ่มเป้าหมาย ที่ไม่ได้รับวัคซีนด้วยสาเหตุจาก 1) ด้านผู้ปกครอง เช่น ติดภารกิจ จำวันนัดไม่ได้ ความไม่เข้าใจในประเด็นเรื่องวัคซีน เป็นต้น 2) ด้านระบบการนัด ที่อาจไม่ได้นัด หรือ นัดคลาดเคลื่อน 3) ด้านการเข้าถึงวัคซีน เช่น อยู่ห่างไกล หรือ อยู่ในพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัย เป็นต้น

พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ เปิดเผยต่อว่า.. โดยเฉพาะการพบปัญหาความครอบคลุมการได้รับวัคซีนต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ในประชากรกลุ่มเสี่ยง 4 กลุ่ม คือ 1) ประชากรเคลื่อนย้ายทั้งแรงงานไทยและต่างด้าว 2) ประชากรที่อยู่ในพื้นที่สูงชายแดนทุรกันดารชาวเขาและห่างไกลจากการเข้าถึงสถานบริการสาธารณสุข 3) ประชากรที่อยู่ในพื้นที่ที่ด้วยเหตุใดก็ตาม มีระดับความครอบคลุมการได้รับวัคซีนต่ำกว่าเกณฑ์หรือมีประวัติการเกิดการระบาดของโรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน 4) ประชากรในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีปัญหาความไม่สงบ จากสภาพปัญหาดังกล่าวเห็นได้ว่ายังมีโอกาสเสี่ยงที่ประเทศไทยจะเกิดการระบาดของโรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนที่มีแนวโน้มลดลง หรือหมดไปแล้วกลับมาระบาดจนเป็นปัญหาทางสาธารณสุขได้อีกครั้ง ด้วยเหตุนี้การขยายความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนจึงเป็นแนวทางที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ควรร่วมมือกันพยายามผลักดันเพื่อให้เกิดการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและบรรลุตามเป้าหมาย

ดร.ประภาภรณ์ หลังปูเต๊ะ ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี ได้เล่าถึงมุมมองปัญหาด้านการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า.. ด้วยความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องและความกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงของวัคซีน ประกอบกับสถานการณ์ความไม่สงบภายในพื้นที่และการจัดบริการที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน ทำให้เกิดข้อจำกัดและส่งผลให้ความครอบคลุมของวัคซีนในพื้นที่อยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามแก้ไขปัญหาโดยการอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรผู้ให้บริการในพื้นที่เกี่ยวกับการให้วัคซีน การติดตาม ควบคุมกำกับ และการนัดหมายให้ประชาชนมารับวัคซีนตามระยะเวลา แต่กลับไม่ได้รับการตอบรับจากประชาชนในพื้นที่เท่าที่ควร เป็นไปได้ว่าการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือการให้ข้อมูลแบบรอบด้านแก่ผู้ปกครองและบุคคลสำคัญในครอบครัว เช่น สามี หรือ ปู่ย่า ตายาย ซึ่งมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจพาบุตรหลานกลับมารับวัคซีนก่อนจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และเพิ่มความตระหนักถึงความสำคัญของการได้รับวัคซีนของบุตรหลาน นอกจากนี้ต้องมีการส่งเสริมให้ความรู้และพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่เอง และการเสวนาในครั้งนี้จะเป็นช่องทางในการหาทางออก หรือหาแนวทางร่วมกันในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

ด้าน ดร.นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้กล่าวว่า..ทิศทางและนโยบายด้านการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศไทยนั้น มีการให้บริการวัคซีนเพื่อกระตุ้นระดับภูมิคุ้มกันในร่างกายเพื่อป้องกันโรคที่มีความสำคัญ การรับวัคซีนเป็นวิธีป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพสูง และเสียค่าใช้จ่ายไม่มากเมื่อเทียบกับค่ารักษาพยาบาลหากเกิดโรค ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้ให้บริการวัคซีนพื้นฐานฟรีในเด็กแรกเกิดไปจนถึงวัยเรียน อายุ 12 ปี จำนวน 11 โรค ได้แก่ วัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG) วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี (HB) วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบบี (DTP-HB) วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน (DTP) วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดหยอด/ชนิดฉีด (OPV/IPV) วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (MMR) วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี (JE) วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก (dT) วัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก (HPV) โดยสามารถขอรับบริการได้ในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ และสถานพยาบาลทุกแห่งในเครือข่ายสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

ดร.นพ.จรุง เมืองชนะ กล่าวเพิ่มว่า ปัจจุบันยังมีกลุ่มเป้าหมายหลักที่รัฐให้ความสำคัญ และสนับสนุนให้รับวัคซีนเพิ่มเติม เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน และกระตุ้นภูมิคุ้มกันซ้ำ ได้แก่ กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ กลุ่มนักเรียนและเด็กวัยรุ่น กลุ่มวัยผู้ใหญ่-กลุ่มเสี่ยง เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหอบหืด และกลุ่มผู้สูงอายุ จึงอาจปฏิเสธไม่ได้ว่าวัคซีนมีความจำเป็นและสำคัญทุกกลุ่มอายุ นอกจากจะช่วยป้องกันโรคหรือลดความรุนแรงของโรคแล้ว ยังเป็นการลดต้นทุนทางด้านสุขภาพให้กับประเทศ เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของตัวเอง และลดปัญหาการระบาดในครอบครัว ในโรงเรียน และในชุมชนได้ ดังนั้นจึงควรติดตามข้อมูลข่าวสาร และหาโอกาสไปรับวัคซีนที่จำเป็นอยู่เสมอ

นพ.กฤช ลี่ทองอิน ที่ปรึกษาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เล่าว่า..สปสช.โดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตระหนักดีว่าวัคซีนเป็นเครื่องมือที่สำคัญและมีประสิทธิผลมากในการป้องกันโรคที่เกิดจากการติดเชื้อโรคพวกแบคทีเรียและไวรัส คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงกำหนดให้วัคซีนเป็นสิทธิประโยชน์ที่ประชาชนไทยแต่ละช่วงอายุจะได้รับ ทั้งนี้ประชาชนช่วงอายุใดจะได้รับวัคซีนอะไรบ้างนั้น ก็เป็นไปตามที่คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแห่งชาติและกรมควบคุมโรคแนะนำ ปัจจุบันมีวัคซีนที่สามารถป้องกันโรคบรรจุอยู่ในสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติถึง 11 โรค ซึ่งประชาชนไทยที่มีสิทธิสามารถรับบริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่หน่วยบริการสาธารณสุขของรัฐและสถานพยาบาลเอกชนที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

นพ.กฤช ลี่ทองอิน ยังบอกอีกว่า... การเปลี่ยนแปลงทางระบาดวิทยาและภูมิคุ้มกันโรค ทำให้มีการกลับมาระบาดซ้ำของโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีนในอดีตในประชากรที่อายุมากขึ้นจากการศึกษาของกรมควบคุมโรคเกี่ยวกับสาเหตุที่เกิดขึ้น พบว่า นอกจากการลดลงของภูมิคุ้มกันที่เคยได้รับในวัยเด็กแล้ว ความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนในช่วงอายุนั้นๆ ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญ ทั้งนี้หากคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแห่งชาติและกรมควบคุมโรคพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความจำเป็นและความคุ้มค่าในการขยายการให้วัคซีนไปยังกลุ่มประชากรที่มีอายุมากขึ้น และคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติได้พิจารณาเห็นชอบ ก็มีแนวโน้มสูงที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะพิจารณาขยายสิทธิประโยชน์ ด้านวัคซีนครอบคลุมประชากรที่มีอายุมากขึ้นพร้อมจัดหางบประมาณสนับสนุนเป็นค่าวัคซีนและค่าฉีด

นอกจากนั้น ด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ทำให้มีวัคซีนชนิดใหม่ที่สามารถป้องกันโรคได้หลายชนิดมากยิ่งขึ้นรวมถึงรูปแบบใหม่ๆ ของวัคซีนผสมได้แก่ วัคซีนรวม DTP-HB-Hib วัคซีนโรต้า วัคซีน IPD วัคซีนรวม DTP-HB-Hib-IPV วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ วัคซีนงูสวัด และวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก หากวัคซีนเหล่านี้ผ่านการพิจารณาประสิทธิผลและความคุ้มค่าจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังได้กล่าวแล้ว เห็นว่า สปสช.โดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็น่าจะยินดีพิจารณาจัดเป็นสิทธิประโยชน์แก่ประชาชน ตามลำดับความสำคัญภายใต้ทรัพยากรด้านสุขภาพที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อให้ประชาชนไทยได้รับประโยชน์สูงสุด

และทางด้าน ศ.พญ. กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ หัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อเด็ก คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวเพิ่มเติมในด้านความสำคัญของการรับวัคซีนของคนทุกช่วงวัยว่า สมัยก่อนเมื่อพูดถึงวัคซีนเรามักนึกถึงการให้วัคซีนในเด็ก เพื่อป้องกันโรคในเด็กเป็นหลัก แต่ปัจจุบันความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีช่วยให้เราสามารถวิจัยพัฒนาวัคซีนมาใช้ป้องกันโรคได้ตลอดช่วงวัยของมนุษย์ วัคซีนครอบครัวหรือ family vaccine ที่หยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นสำหรับการเสวนาครั้งนี้ เน้นความเกี่ยวพันของการรับวัคซีนของสมาชิกในครอบครัวแต่ละวัย ซึ่งจะส่งผลทางอ้อมในการป้องกันหรือลดความรุนแรงของโรคนั้นๆ ต่อสมาชิกคนอื่นๆ ในบ้านและชุมชนได้ด้วย เช่น เด็กได้รับวัคซีนโรต้า (Rotavirus Vaccine) จะช่วยจะลดอัตราการป่วยท้องเสียของผู้สูงอายุจากไวรัสโรต้าเพราะผู้สูงอายุอาจเป็นโรคนี้ โดยมักติดมาจากเด็กและอาจรุนแรงได้ในขณะที่วัคซีนตัวนี้ไม่ได้รับการรับรองให้ใช้ในผู้สูงอายุ และการที่เด็กได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza Vaccine) จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular disease) ซึ่งเกิดจากไข้หวัดใหญ่ได้ เพราะประสิทธิภาพของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไม่ค่อยสูงในผู้สูงอายุ ในขณะเดียวกันเมื่อผู้สูงอายุรับวัคซีน บาดทะยัก-คอตีบ-ไอกรน (Tdap) จะมีส่วนช่วยป้องกันการเกิดโรคไอกรน (Pertussis) ในเด็ก และการรับวัคซีนไข้เลือดออก (Dengue) ในผู้ใหญ่ซึ่งเด็กไม่สามารถฉีดได้จะช่วยป้องกันการเกิดโรคไข้เลือดออกในชุมชน (Herd immunity) ซึ่งเป็นอีกทางหนึ่งในการช่วยป้องกันเด็กๆ จากโรคไข้เลือดออกหากมีการระบาดของโรคเกิดขึ้นในชุมชนนั้นๆ

สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ในฐานะหน่วยงานกลางด้านวัคซีนของประเทศ จะยังคงมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนพัฒนางานด้านวัคซีนของประเทศต่อไป ตามวิสัยทัศน์ที่ว่า "ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านวัคซีน ประชาชนเข้าถึงการป้องกันโรคด้วยวัคซีนที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง เป็นธรรม" และหวังว่ากิจกรรมครั้งนี้จะทำให้ทุกท่านเห็นถึงความสำคัญของการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และหันมารับวัคซีนให้ครบตามกำหนด เพราะหนทางที่ดีที่สุดในการควบคุมโรค ไม่ใช่การรักษา หากแต่เป็นการป้องกัน ดังเช่น คำกล่าวที่ว่า "การปัองกันดีกว่าการรักษา หรือ Prevention is better than cure"

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ