1. สถานการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียและยุโรป โดยเห็นว่าเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจยุโรปและเอเชียซึ่งมีอุปสงค์ภายในประเทศเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ อนึ่ง ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของยุโรปมาจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ การบริโภคภาคเอกชนที่แข็งแกร่งและระดับความเชื่อมั่นของภาคเอกชนและภาคครัวเรือนที่สูง ขณะที่ปัจจัยบวกของการเติบโตทางเศรษฐกิจเอเชียมาจากอุปสงค์ภายในประเทศที่เข้มแข็งและภาคการส่งออกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ อาทิ การดำเนินนโยบายปกป้องทางการค้า ความเปราะบางทางการเงิน การดำเนินนโยบายการคลังที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับเศรษฐกิจ (Pro-cyclical) ของสหรัฐอเมริกา ระดับหนี้ภาคเอกชนที่เพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศ เป็นต้น นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างเสถียรภาพทางการเงินของภูมิภาค ที่ประชุมได้เน้นย้ำถึงบทบาทของกลไกความช่วยเหลือทางการเงินในกรณีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียและยุโรป ได้แก่ European Stability Mechanism (ESM) มาตรการริเริ่มเชียงใหม่สู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM) และการดำเนินงานของสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office: AMRO) และสนับสนุนให้มีความร่วมมือระหว่าง IMF กับกลไกความช่วยเหลือทางการเงินดังกล่าวมากขึ้น ในการนี้ ที่ประชุมสนับสนุนความร่วมมือระหว่างทั้ง 2 ภูมิภาคในการดำเนินนโยบายภาคการเงิน การคลังควบคู่ไปกับการปฏิรูปโครงสร้าง (Structural Reform) เพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคง ทั่วถึง และยั่งยืนในระยะต่อไป
2. ภาษีและการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล โดยเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลมีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่อาจนำมาซึ่งความท้าทายด้านภาษีระหว่างประเทศและการระดมทรัพยากรภาครัฐ ซึ่งที่ประชุมได้อภิปรายอย่างกว้างขวางถึงแนวทางต่าง ๆ เพื่อรับมือกับความท้าทายดังกล่าว พร้อมทั้งยินดีที่องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) จัดทำรายงานเรื่องความท้าทายด้านภาษีจากการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล (Interim Report on Tax Challenges Arising from Digitalization) ซึ่งได้ระบุถึงแนวทางในการขจัดความซ้ำซ้อนของการจัดเก็บภาษีระหว่างประเทศ ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซมได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการทบทวนแนวคิดในการจัดสรรกำไรให้สอดคล้องกับรูปแบบธุรกิจดิจิทัล เพื่อสนับสนุนให้มีการจัดเก็บภาษีจากธุรกิจดิจิทัลที่เป็นธรรม นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซมได้แสดงความมุ่งมั่นในการร่วมมือกันรับมือกับความท้าทายด้านภาษีจากเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อยกระดับระบบการจัดเก็บภาษีระหว่างประเทศต่อไป
3. ความท้าทายใหม่ ๆ ในระบบการเงินโลก โดยเห็นว่าความเสี่ยงจากภัยไซเบอร์เป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ เนื่องจากความเสี่ยงดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีรูปแบบที่หลากหลายและซับซ้อน และส่งผลกระทบในวงกว้างต่อระบบการเงินโลก ซึ่งที่ประชุมได้มุ่งเน้นสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถาบันการเงินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นแนวทางในการเสริมสร้างความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) นอกจากนี้ การพึ่งพาเทคโนโลยีสารสนเทศที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันจำเป็นต้องมีการกำกับดูแลอย่างรอบคอบทั้งจากหน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินและหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อาเซมพร้อมที่จะร่วมมือกันในการเสริมสร้างความมั่นคงของการให้บริการทางการเงินและสถาบันการเงินต่อไป
4. นอกจากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้หารือทวิภาคีกับ (1) นาย David Lipton รองผู้อำนวยการอันดับที่หนึ่งของ IMF โดยได้แลกเปลี่ยนความเห็นและมุมมองต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ชี้แจงว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เช่น การขับเคลื่อนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน มาตรการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อย การปรับปรุงกฎระเบียบภายในประเทศ เป็นต้น สำหรับฝ่าย IMF ได้แสดงความกังวลว่าสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีนอาจส่งผลกระทบในวงกว้างต่อเศรษฐกิจโลก และ (2) นาย Mr. Petteri Orpo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสาธารณรัฐฟินแลนด์ โดยฝ่ายฟินแลนด์ได้แสดงความสนใจต่อการดำเนินโครงการ National E-Payment ของไทยและเชิญชวนให้ไทยศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลและระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ที่ประสบความสำเร็จของฟินแลนด์ นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสาธารณรัฐฟินแลนด์ได้แจ้งว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจสาธารณรัฐฟินแลนด์ จะเดินทางมาประเทศไทยเพื่อหารือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในเรื่องนี้
5. การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซมครั้งต่อไปจะจัดขึ้นในปี 2563 โดยคาดว่าประเทศสมาชิกฝ่ายเอเชียจะเป็นเจ้าภาพ
สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 02 273 9020 ต่อ 3613