นายปรับชะรันห์ ซิงห์ ทักราล ประธาน EO Thailand เปิดเผยว่า แนวโน้มของเศรษฐกิจไทยในอนาคตอันใกล้นี้จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่จะขยายตัวขึ้นด้วย อันเนื่องมาจากการกระตุ้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล นอกจากนี้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยสนับสนุนภาคการบริโภคซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยโดยรวม ขณะนี้ประเทศไทยกำลังก้าวไปสู่ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมที่มั่งคั่ง สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดจากสถานะดังกล่าวก็คือจำนวนประชากรที่ลดลง ซึ่งปัญหาการลดลงของจำนวนประชากรและนำไปสู่สังคมผู้สูงวัยนี้เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ประเทศร่ำรวยมักจะเผชิญ นอกจากนี้ ภาคธุรกิจการส่งออก และการท่องเที่ยวของไทยก็มีแนวโน้มที่แข็งแกร่งขึ้นอีกด้วยเช่นกัน
สำหรับกรณีที่ภาคธุรกิจต่างๆได้เผชิญกับภาวะการพลิกเปลี่ยนทางด้านดิจิทัล (Digital Disruption) และภาวะเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล (Digital transformation) นั้น นายปรับซะรันห์ได้พูดถึงวิธีการรับมือว่า "ผมคิดว่า บรรดาสุดยอดบริษัทระดับโลกทั้งหลายต่างต้องพัฒนาตนเองอยู่เสมอ และจะต้องปรับตัวให้ทันเทคโนโลยีในทุก ๆ สมัย ดังนั้นผมจึงมองว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็เป็นส่วนหนึ่งของวงจรการ 'เรียนรู้ ประยุกต์ใช้ และเปลี่ยนแปลง' ของบริษัท สิ่งที่สำคัญอีกเรื่องก็คือ การเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก จึงทำให้องค์กรขนาดใหญ่จำนวนมากไม่สามารถผ่านกระบวนการ 'ประยุกต์ใช้' ได้รวดเร็วพอ อย่างไรก็ดี ผมมองว่าสถานการณ์เช่นนี้เป็นโอกาสที่ดีสำหรับองค์กรขนาดกลางและขนาดเล็ก เนื่องจากองค์กรขนาดนี้มีความคล่องตัวสูงกว่า แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ คุณจะต้องก้าวทันเทคโนโลยีและจะต้องจับตาดูคู่แข่งให้ดี สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของการวางแผน การรู้จักกลยุทธ์ของตนเอง และความเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงที่ต้องอาศัยความคล่องตัวสูง"
ในปีนี้ ทางสมาคม EO Thailand ยังคงดำเนินงานและจัดกิจกรรมในประเทศไทยให้กับสมาชิกอย่างต่อเนื่อง ด้วยความร่วมมือกับองค์กร The Entrepreneurs' Organization (EO) จากสหรัฐอเมริกา สำหรับความสำเร็จของดินเนอร์ ทอล์ค ล่าสุด หัวข้อ Bitcoin Talk เมื่อวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมาโดย EO Thailand นั้น ทางสมาคมฯ เห็นว่า สกุลเงินดิจิทัลหรือคริปโตเคอเรนซี (Cryptocurrency) เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจมาอย่างต่อเนื่อง จึงได้จัดดินเนอร์ ทอล์ค และเชิญคุณกิตตินนท์ วังพัฒนมงคล ผู้อำนวยการทั่วไป บริษัท ไฮคิวผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด มาเป็นวิทยากร โดยเจาะลึกไปที่ "บิตคอยน์" (Bitcoin) ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลแรกของโลก
โดยที่คุณกิตตินนท์ มองว่า การทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินดิจิทัลนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการทำธุรกรรมที่ไม่ต้องอาศัยความเชื่อมั่นหรือการพึ่งพาในบุคคลที่สาม ซึ่งหมายความว่า เราไม่จำเป็นต้องใช้บริการของธนาคาร แต่ก็สามารถโอนเงินให้ผู้อื่นได้โดยตรงโดยที่ไม่ต้องมีขั้นตอนการตรวจสอบจากธนาคาร ในขณะที่ชื่อและข้อมูลส่วนตัวของเรายังถูกเก็บเป็นความลับ
แต่สกุลเงินดิจิทัลที่คุณกิตตินนท์หยิบยกมาพูดคุยอย่างเป็นกันเองในดินเนอร์ ทอล์ค ของสมาคม EO เจาะลึกไปที่ "บิตคอยน์" (Bitcoin) ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลแรกของโลก ถามว่า การเป็นสกุลเงินดิจิทัลแรกนี้มีความสำคัญอย่างไร การที่บิตคอยน์สามารถก้าวขึ้นมาเป็นเงินดิจิทัลแรกของโลกนั้น ถือว่ามีความสำคัญในแง่ของการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสกุลเงินดิจิทัลหรือคริปโตเคอเรนซี (Cryptocurrency) เมื่อบิตคอยน์ประสบความสำเร็จกับการเป็นคริปโตเคอเรนซีเจ้าแรก ก็เหมือนเป็นการประกาศให้โลกรู้ว่า คริปโตเคอเรนซีเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้
บิตคอยน์คืออะไร
บิตคอยน์คือสกุลเงินดิจิทัลที่ถือกำเนิดขึ้นเป็นสกุลเงินแรกเมื่อปี 2552 จากการพัฒนาของผู้ที่ใช้นามแฝงว่า "ซาโตชิ นากาโมโต้" และบิตคอยน์อาศัยเทคโนโลยีที่เรียกว่าบล็อกเชน (Blockchain)ในการสร้างตัวเองและช่วยให้ธุรกรรมการเงินในสกุลเงินดิจิทัลสามารถดำเนินต่อไปได้ การเข้ามาของสกุลเงินดิจิทัลหลายสกุลเงินไว้อย่างน่าสนใจว่า ปัจจุบันเป็นช่วงเวลาของการต่อสู้กันของระบบเก่าและระบบใหม่ ในการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่เกิดขึ้นก็ตาม จะต้องมีผู้เสียผลประโยชน์ แต่ในกรณีของสกุลเงินดิจิทัลนั้น ดูเหมือนผู้ที่เสียผลประโยชน์จะเป็นทางฝั่งหน่วยงานรัฐบาล เพราะฟังก์ชั่นที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร้ระบบจากการเข้ามาของเงินดิจิทัล ส่วนผู้ที่เสียผลประโยชน์ลำดับต่อมาคือ ธนาคาร เพราะการทำธุรกรรมของประชาชนต่อประชาชนสามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องเปิดบัญชีธนาคาร บิตคอยน์ในช่วงแรกนั้น มีชื่อเสียมากกว่า เพราะว่าผู้ใช้บิตคอยน์ในช่วงแรกคือกลุ่มผู้ค้ายาเสพติด และมาเฟีย เนื่องจากการโอนบิตคอยน์ไม่ต้องทำผ่านธนาคาร ตอนแรก ๆ ที่มีบิตคอยน์นั้น มีเว็บไซต์ที่ประกาศค่ายาเสพติดแล้วบอกให้โอนบิตคอยน์เข้ามากันเลยทีเดียว แล้วคนก็กล้าเพราะไม่มีใครรู้ว่าใครถือกุญแจสาธารณะอะไรอยู่ แม้แต่ทางรัฐบาลเองก็ตาม นี่คือรูปแบบการใช้บิตคอยน์ในช่วงแรกเริ่ม
สถานการณ์ของบิตคอยน์ในแต่ละประเทศนั้น สกุลเงินดิจิทัลที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาก่อน เมื่อ 3 ปีที่แล้ว โดยเริ่มที่การแข่งขันกันเป็นศูนย์กลางทางการเงินและพยายามหาบริการใหม่ ๆ มาให้บริการของนิวยอร์กและชิคาโก จึงเป็นที่มาของการเปิดตลาดซื้อขายล่วงหน้าบิตคอยน์ในสหรัฐ อย่างไรก็ดี ราคาฟิวเจอร์ของบิตคอยน์ก็คือราคาปัจจุบันของบิตคอยน์ อาจจะลดลงจากราคาปัจจุบันไปไม่มากนัก ซึ่งคุณกิตตินนท์ มองว่า ตลาดล่วงหน้าบิตคอยน์แตกต่างไปจากตลาดซื้อขายล่วงหน้าประเภทอื่น ๆ อย่างตลาดซื้อขายล่วงหน้าสัญญาข้าวโพดนั้น สามารถคาดการณ์ความเคลื่อนไหวของตลาดได้จากปัจจัยต่าง ๆ เช่น อุปสงค์และอุปทาน สภาพภูมิอากาศ ว่าจะส่งผลต่อตลาดอย่างไร แต่ตลาดฟิวเจอร์บิตคอยน์ไม่สามารถคาดเดาหรือคาดการณ์อะไรได้เลย
ขณะที่จีนเป็นประเทศที่สั่งห้ามซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลและการทำ Initial Coin Offering (ICO) อย่างสิ้นเชิง เมื่อเดือนที่ผ่านมา พลังงานไฟฟ้าที่ได้มีการใช้ไปกับการขุดบิตคอยน์ในจีนนั้นเทียบเท่ากับใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 3 โรง ส่งผลให้มีการสั่งห้ามขุดบิตคอยน์ เกาหลีใต้เป็นประเทศที่รัฐบาลควบคุมการหมุนเวียนของเงินอย่างมาก และบิตคอยน์ก็เป็นที่นิยมในเกาหลีใต้ ราคาบิตคอยน์ในเกาหลีใต้จึงสูงและทำให้ราคาบิตคอยน์ทั่วโลกสูงตามไปด้วย ส่วนรัสเซียนั้น ประธานาธิบดีปูตินเคยพูดว่า รัสเซียต้องทำบล็อคเชนเป็นของตัวเอง สำหรับประเทศญี่ปุ่น ค่อนข้างจะเป็นประเทศเปิดรับสกุลเงินดิจิทัล การซื้อขายคริปโตเคอเรนซีในญี่ปุ่นสามารถทำได้และมีการเก็บภาษีด้วย รัฐบาลจึงมีรายได้จากภาษีการซื้อขายคริปโตเคอเรนซีไปด้วย
ส่วนเวเนซูเอล่าเป็นอีกประเทศที่เปิดตัวเงินดิจิทัลในชื่อ "เปโตร" (Petro) หลังจากที่ประเทศต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจและถูกคว่ำบาตร ประธานาธิบดีเวเนซูเอล่าจึงมีแนวคิดในการเปิดตัวคริปโตเคอเรนซี โดยมีทรัพย์สินที่ใช้แบ็คอัพคือน้ำมัน ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่า
ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทย ล่าสุด ธนาคารกลางแห่งประเทศไทยได้ออกมาขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ให้เลี่ยงการทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับคริปโตเคอเรนซี