ส่วนมาตรการระยะปานกลางและระยะยาว คือ การบริหารจัดการผลผลิตกุ้งให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และการควบคุมคุณภาพการเลี้ยงกุ้งของเกษตรกรให้สามารถแข่งขันในตลาดโลก เนื่องจากขีดความสามารถแข่งขันการส่งออกกุ้งของไทยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากที่เคยส่งออกเป็นอันดับ 1 แต่ปัจจุบันมีประเทศคู่แข่งที่ผลิตกุ้งในราคาต้นทุนที่ต่ำกว่าและได้ผลผลิตที่มากกว่าเกิดขึ้น โดยเฉพาะอินเดียที่มีผลผลิตกุ้งในปีนี้ถึง 6 – 7 แสนตัน ขณะที่ไทยมีผลผลิตกุ้งเฉลี่ย 2 แสนตัน เมื่อประเทศคู่แข่งผลิตกุ้งได้มากกว่าในต้นทุนที่ต่ำกว่าก็เกิดการแย่งตลาดเกิดขึ้น จึงส่งผลกระทบต่อราคากุ้งในประเทศไทย ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมง จะต้องเร่งจัดระเบียบการเลี้ยงกุ้ง การขึ้นทะเบียนฟาร์มของเกษตรกร เพื่อให้สามารถกำกับดูแลและควบคุมคุณภาพเพาะเลี้ยงไม่ให้มีการใช้ปัจจัยการผลิตเกินความจำเป็นที่ส่งผลต่อต้นทุนที่สูง รวมถึงคุณภาพกุ้งของไทยที่เป็นที่ยอมรับของตลาดต่างประเทศให้มากขึ้น และขอความร่วมมือภาคเอกชนลดปัจจัยการผลิตที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงกุ้งด้วย
"อย่างไรก็ตาม ฝากถึงเกษตรกรว่าขณะนี้นายกรัฐมนตรีได้ส่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งโดยเร่งด่วนแล้ว จึงขอความร่วมมืออย่าหลงเชื่อข่าวลือใดๆ ขอให้รอความชัดเจนจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ หรือรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ที่จะมีการแจ้งอย่างเป็นทางการไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อแจ้งผ่านไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดถึงเกษตรกรโดยตรง โดยคาดว่าน่าจะมีความชัดเจนในมาตรการต่างๆ ภายใน 10 พ.ค.นี้แน่นอน" นายกฤษฏา กล่าว