บริหารคนยุค Disrupted Economy โดยรองศาสตราจารย์ ดร. ศิริยุพา รุ่งเริงสุข รองผู้อำนวยการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พุธ ๐๒ พฤษภาคม ๒๐๑๘ ๐๘:๕๑
หลายท่านคงคุ้นหูกับคำว่า Disrupted economy (เศรษฐกิจที่มีการสะดุดหยุดชะงักแล้วเปลี่ยนรูปแบบอย่างพลิกผัน) กันพอสมควรนะคะ ในโลกยุคดิจิตอลนี้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงรวดเร็วเพราะเทคโนโลยี ซึ่งมีผลทำให้ธุรกิจต้องเร่งปรับตัวกันให้ทันการเปลี่ยนแปลง ต้องเปลี่ยนวิธีการในการผลิต การทำการตลาด การขาย การบริการลูกค้า ฯลฯ รวมความแล้วคือต้องเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการแทบทั้งหมด หากปรับเปลี่ยนไม่ทันก็จะสูญเสียตลาดให้กับบริษัทเกิดใหม่ที่คล่องตัวในการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการจัดการและเจาะหาตลาดใหม่ๆได้เร็วกว่าองค์กรรุ่นเก่า เร็วๆนี้ท่านอาจจะได้เห็นข่าวในโทรทัศน์ที่รายงานเรื่องบริษัทขายของเล่นเด็กขนาดยักษ์ใหญ่ของโลก ทอยส์ อาร์ อัส (Toys r Us) ที่กำลังทยอยปิดสาขาทั่วโลกและกำลังพยายามดิ้นรนอย่างสุดฤทธิ์ที่จะหนีจากสภาพล้มละลาย ทั้งนี้เป็นเพราะทอยส์ อาร์ อัส ไม่สามารถแข่งขันกับบริษัทรายเล็กรายน้อยที่ขายของเล่นผ่านทางออนไลน์ที่มีสินค้าหลากหลายกว่า ราคาต่ำกว่า ส่งได้เร็วกว่า สร้างความสะดวกสบายให้ลูกค้าที่ไม่ต้องขับรถออกจากบ้านไปเลือกสินค้าที่ร้าน ปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วกับหลายบริษัทที่ไม่สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อปรับปรุงสินค้า บริการและการบริหารจัดการของตนได้

นอกจากนี้การพลิกผันของสภาพแวดล้อมธุรกิจและการดำเนินธุรกิจที่มีผลกระทบกับการบริหารคน เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่การบริหารคนย่อมได้รับผลกระทบจากการพลิกผันนี้ ในเมื่อการผลิต การตลาด การบริการ การขายต้องนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับปรุงการทำงาน เรื่องของการบริหารคนก็เป็นเรื่องสำคัญมาก (และอาจจะมากที่สุด) สำหรับผู้นำองค์กรที่จะต้องรู้ทันสถานการณ์ว่าจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารบุคลากรอย่างไรเพื่อที่พวกเขาจะมีความสามารถและแรงจูงใจในการสร้างผลงานและนวัตกรรมตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงตามสิ่งแวดล้อมที่พลิกผันรอบตัวได้ เมื่อทุกอย่างรอบตัวพนักงานเปลี่ยนแปลง แต่องค์กรยังปฏิบัติต่อพนักงานแบบเดิมๆ ตัวพนักงานก็ยังทำงานแบบเดิมๆ แบบนี้คงไปไม่รอด มาดูกันสิคะว่าการบริหารคนต้องเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดบ้างจึงจะไปได้สวยยุค Disrupted economy นี้

องค์กรต้องพร้อมต้อนรับพนักงานวัย Millennial ในปี 2568 ผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรศาสตร์ได้คาดการณ์ว่าพนักงานวัย Millennial จะเข้ามาเป็นแรงงานในองค์กรต่างๆทั่วโลกถึง 75% ทั้งนี้พนักงานวัยอื่นก็ใช่ว่าจะหายไปจากองค์กรทั้งหมดนะคะ โดยเฉพาะคนวัย Baby Boomers ก็ยังคงต้องทำงานอยู่หากมีความสามารถสูง เพราะว่าองค์กรทั่วโลกยังประสบปัญหากับการเตรียมความพร้อมให้คนรุ่น Millennial ก้าวเป็นผู้นำได้อย่างเต็มตัว ผนวกกับอัตราการเกิดทั่วโลกลดลงมาก แรงงานหนุ่มสาวมีไม่พอใช้ แรงงานรุ่นหนุ่มมากกว่าและสาวมากกว่า (ห้ามใช้คำว่าแก่) จึงยังจำเป็นต้องทำงานช่วยหนุ่มน้อยสาวน้อยกันไปก่อน ทั้งนี้ผู้บริหารและเจ้าของกิจการต้องพยายามทำความเข้าใจให้ได้ว่าคนรุ่น Millennial นี้เขามีค่านิยม วิธีการเรียนรู้ และไลฟ์สไตล์อย่างไรจึงจะสามารถดึงดูดให้พวกเขาอยากมาทำงานด้วย และสามารถจูงใจและพัฒนาพวกเขาได้โดนใจ คนรุ่นใหม่นี้เขามีความมั่นใจในตนเอง กล้าแสดงออกซึ่งความคิดเห็น ไม่ยึดติดกับธรรมเนียมประเพณีเก่าๆมากนัก ชอบเทคโนโลยี ชอบความรวดเร็ว เอาสะดวกเข้าว่า พิธีการสำคัญรองลงไป ต้องการมีการสื่อสารแบบสองทางกับผู้บริหารตลอดเวลา ชอบการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ชอบงานท้าทายที่สอนให้เขามีความรู้และทักษะเพิ่มเติม ผู้บริหารที่นั่งอยู่แต่ในห้องไม่ค่อยออกมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกับลูกน้องจึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีการสื่อสาร การตัดสินใจ โดยต้องเปิดโอกาสให้พนักงานเข้ามามีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์และตัดสินใจร่วมกับผู้บริหาร ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องท้าทายค่านิยมของคนรุ่นก่อนมาก

นอกจากนี้คนรุ่นใหม่ยังต้องการมีชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวที่สมดุล ไม่บ้างานเหมือนคนรุ่น Baby boomers พวกเขาแต่งงานช้า มีบุตรช้า หย่าร้างง่าย เราจึงมีคุณแม่และคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีพนักงานที่ต้องดูแลพ่อแม่ที่แก่เฒ่ามากขึ้นโดยที่พวกเขาก็จำเป็นต้องทำงานหารายได้ ภาระการดูแลลูกเล็กและพ่อแม่ที่แก่ชราเป็นเรื่องกังวลใจของคนรุ่นใหม่ที่องค์กรไม่สามารถมองข้าม หากต้องการให้พนักงานสามารถทุ่มเทเวลาและความตั้งใจกับงานได้เต็มที่ ในแง่ของการบริหารบุคคลผู้บริหารจึงต้องจัดสภาพที่ทำงาน เครื่องมืออุปกรณ์ เทคโนโลยีให้เป็นสมาร์ทออฟฟิศ (Smart office) ตลอดจนต้องจัดสวัสดิการต่างๆเพื่อช่วยแก้ปัญหาที่พนักงานต้องแบกความรับผิดชอบเอาไว้ เช่น จัดสถานที่เลี้ยงเด็กอ่อนในที่ทำงานให้พนักงานสามารถนำลูกเล็กและพี่เลี้ยงมาดูแลเด็กได้ ช่วยจัดหาสถานที่ดูแลคนชราในเวลากลางวันให้พนักงาน เป็นต้น

นำเทคโนโลยีมาใช้ในระบบบริหารบุคคลแบบครบวงจร นักบริหารบุคคลต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ปรับปรุงการบริหารบุคคลในทุกภาระงานเพื่อความรวดเร็ว ทั่วถึง ลดต้นทุนและถูกต้องแม่นยำ เริ่มจากการวางแผนกำลังคนเลยที่ต้องนำข้อมูล (data) ต่างๆมาวิเคราะห์เป็นตัวเลข (Data analytics) ที่สามารถคาดการณ์ได้ถูกต้องแม่นยำว่าองค์กรควรมีแรงงานกี่คน มีคุณสมบัติอะไรบ้าง จะหาได้จากแหล่งไหน ในราคาเท่าไร องค์กรจึงจะสามารถดำเนินธุรกิจตามวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากนั้นก็ใช้เทคโนโลยีสื่อสาร โซเชียล มีเดียในการสร้างแบรนด์นายจ้างที่เข้าถึงตลาดคนรุ่นใหม่ที่มองหางานทางอินเตอร์เน็ต โดยถ้าผู้สมัครอยากรู้ว่าองค์กรนายจ้างมีวัฒนธรรมองค์กรเป็นอย่างไร มีการพัฒนาฝึกอบรมพนักงานอย่างไร เพื่อนร่วมงานเป็นคนแบบไหน พวกเขาสามารถเปิดยูทู้บเพื่อคลิกดูคลิปเกี่ยวกับองค์กรได้เลย องค์กรอย่างเช่นกูเกิ้ล ไมโครซอฟต์ ซัมซุง และอีกหลายๆแห่งทั่วโลกมีคลิปแสดงเรื่องราววิธีการทำงานขององค์กรเผยแพร่ไปทั่วโลก คนดูสามารถทำความรู้จักและมองเห็นเลยว่าองค์กรเป็นแบบไหน เหมาะกับบุคลิกภาพและความสนใจของเขาไหมโดยไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูกด้วยการต้องสมัครไปทำงานก่อน ไม่ชอบแล้วจึงลาออก และเมื่อสนใจจะทำงานด้วยผู้สมัครก็สามารถกรอกใบสมัครออนไลน์และทำแบบทดสอบต่างๆเพื่อประเมินทักษะและทัศนคติทางออนไลน์ และยังสามารถส่งคลิปแนะนำตนเองให้นายจ้างรู้จักด้วย นายจ้างก็สามารถรวบรวมข้อมูลมาวิเคราะห์ได้ว่าผู้ใดมีคุณสมบัติขั้นต้นเหมาะสมกับการนัดสัมภาษณ์เพื่อคัดกรองในขั้นตอนต่อไป ซึ่งการสัมภาษณ์รอบแรกก็สามารถทำผ่านสไกป์ได้เพื่อประหยัดเวลาเดินทางของผู้สมัครคนรุ่นใหม่ที่เบื่อฝนตกรถติด จากนั้นพอเข้ารอบลึกๆกันแล้วค่อยสัมภาษณ์กันแบบเห็นตัวจริง ในการปฐมนิเทศฝึกอบรม ประเมินผล การจ่ายค่าตอบแทน การเช็คเวลาเข้างาน การลาหยุดพักร้อน การโค้ชพนักงาน การคำนวณความคุ้มค่าของการจ้างแรงงานแต่ละคนขององค์กร ฯลฯ ทั้งหมดนี้ล้วนสามารถใช้เทคโนโลยีมาปรับปรุงการทำงานได้หมด หลายปีมาแล้วที่องค์กรชั้นนำทั่วโลกหลายองค์กรมีโปรแกรมโค้ชชิ่งพนักงานผ่านแอ๊ปมือถือ พนักงานสามารถลางาน หรือเลือกรางวัลที่เขาชอบจากมือถือ เป็นต้น ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการใช้เทคโนโลยีมาช่วยสร้างความจูงใจและความผูกพันในงานให้กับพนักงานอย่างมีผลดี ประเด็นคือว่าผู้บริหารต้องรู้จักมองหาช่องทางที่จะใช้เทคโนโลยีให้สร้างสรรค์ไปกว่าเดิม

เศรษฐกิจยุค Disruption Economy มีสิ่งท้าทายมาก ในเวลาเดียวกันก็มีโอกาสมากมายที่นักบริหารสามารถคว้ามาสร้างความได้เปรียบให้กับองค์กรของตนในการดึงดูดบุคลากรคนเก่งคนดียุคใหม่มาเป็นทรัพยากรของตนโดยไม่ยากนัก ขึ้นอยู่กับว่าท่านมีความว่องไว ทันสมัยและเปิดใจกว้างเพียงใดกับการเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆและทดลองทำสิ่งใหม่

สนใจอยากร่วมการสำรวจและประเมินว่าองค์กรของท่านมีความพร้อมเพียงใดที่จะบริหารบุคลากรในยุค Disrupted Economy ขอเชิญร่วมการสำรวจหาสุดยอดนายจ้างแห่งประเทศไทยประจำปี 2018 จัดโดยบริษัทเออน ฮิววิต (ประเทศไทย) จก. และสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ จุฬาฯ ทั้งนี้ไม่ต้องกังวลว่าหากท่านได้คะแนนไม่ดีแล้วจะเสียชื่อ เพราะเราจะประกาศเฉพาะรายชื่อองค์กรที่ได้รับรางวัลค่ะ ส่วนรายชื่อองค์กรอื่นๆที่ไม่ได้รับรางวัลจะถูกรักษาไว้เป็นความลับ สนใจสมัคร โปรดคลิก bit.ly/BE2018Registration หรือติดต่อ: [email protected] โทร. 02.305.4700

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version