ปัจจุบัน การท่องเที่ยวเป็นกลไกสำคัญในด้านการพัฒนา มีผลต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจ ทางจังหวัดได้เล็งเห็นความสำคัญในการสนับสนุนให้เกิดงานด้านการท่องเที่ยว ที่เป็นการสืบประเพณีและวัฒนธรรม การส่งเสริมผลักดันให้เกิดโครงการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมนั้น ถือว่าจังหวัดปทุมธานีเราให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ปีนี้เรามีหลายๆ โครงการต่อเนื่องกัน นับว่าเป็นโอกาสดี ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับท้องถิ่นโดยตรง เหมือนเป็นการเปิดพื้นที่เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว ที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว จะเห็นว่าเรามีโครงการตลาดวัฒนธรรมวัดศาลเจ้า เรามีตลาดอิงน้ำสามโคก เรามีกิจกรรมล่องเรือไหว้พระ ศึกษาวัฒนธรรมวิถีชีวิตแบบไทย-มอญ
สำหรับจังหวัดปทุมธานีของเรานั้นเป็นที่ทราบกันดีว่ามีชาวไทยเชื้อสายมอญมาตั้งหลักปักฐานกันตั้งแต่ในอดีต เราก็ได้เห็นการสืบทอดประเพณีมาอย่างต่อเนื่อง โครงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยววัฒนธรรมวิถีชีวิตไทย-มอญ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี จะเป็นอีกหนึ่งโครงการที่จุดประกายในด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวของจังหวัดปทุมธานีต่อไป การจัดทำโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ที่จะสร้างความน่าสนใจจนนักท่องเที่ยวอยากเดินทางเข้ามาเพื่อท่องเที่ยวและศึกษาวัฒนธรรมพื้นถิ่นจำเป็นต้องสร้างความโดดเด่น จากแหล่งท่องเที่ยวที่เรามีอยู่ เช่น การเปิดพื้นที่แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ย่านสามโคก เตาโอ่งอ่าง วัดสิงห์ หรือ วัดศาลาแดงเหนือ
นางสาวฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ วัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของรัฐบาล และกระทรวงวัฒนธรรมที่ได้มุ่งเน้นที่จะดำเนินงานตามนโยบาย ซึ่ง การกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม บ้านศาลาแดงเหนือ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของชนพื้นถิ่นในจังหวัดปทุมธานี และเป็นการรักษาเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ ประเพณี วิถีชีวิตของท้องถิ่นให้คงอยู่ สนับสนุนให้มีการนำมรดกทางวัฒนธรรม ตลอดจนวิถีชีวิตของชาวบ้านศาลาแดงเหนือ มาสร้างคุณค่าทางสังคม และส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน ประชาชน ในจังหวัดปทุมธานี ได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ เผยแพร่ และสืบสานประเพณีวัฒนธรรม ตลอดจนวิถีชีวิต พิธีกรรม ต่าง ๆ สำหรับโครงการท่องเที่ยววัฒนธรรมวิถีชีวิตไทย-มอญนั่นเนื่องจากจังหวัดปทุมธานี เป็นจังหวัดที่มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านกลาง แบ่งพื้นที่ออกเป็นสองฝั่ง ในอดีตการคมนาคมทางน้ำจึงเป็นเส้นทางหลักในการสัญจรไปมา อำเภอสามโคก เป็นเมืองที่มีเรื่องราวถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ถึงการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งชาวไทย และชาวมอญ สามโคก ในอดีตมีชื่อเสียงเรื่องการเป็นแหล่งผลิตเครื่องถ้วย ตุ่ม โอ่ง และเป็นแหล่งผลิตอิฐมอญที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป วิถีชีวิตของชาวริมน้ำก็ปรับเปลี่ยนไป การใช้เส้นทางน้ำลดความสำคัญลง ในขณะที่ร่องรอยและเรื่องราวทาประวัติศาสตร์ ยังคงมีความน่าสนใจ ที่จะให้คนรุ่นหลังได้สืบค้น หรือศึกษาข้อมูล ผ่านเส้นทางการท่องเที่ยวทางน้ำ จึงเป็นแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมวิถีชีวิตไทย-มอญ การจัดทำโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ในรูปแบบการท่องเที่ยวทางน้ำ จะใช้ศักยภาพของวัดและชุมชนริมแม่น้ำเป็นจุดขาย โดยมีพื้นที่หลักเป้าหมายจำนวน 10 แห่ง ที่จะตั้งให้เป็นจุดแวะพักชม และมีกิจกรรมที่ชาวบ้าน วัด และชุมชน จะได้ร่วมกันเป็นเจ้าบ้านที่ดีต้อนรับนักท่องเที่ยว ให้สามโคก กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่ยั่งยืนสืบไป
ด้านนายไพรัตน์ ลิ่มสกุล นายอำเภอสามโคก ในส่วนของอำเภอสามโคก ได้มีการประชุมทำความเข้าใจและแนะนำถึงกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นกับผู้นำท้องถิ่นผู้นำชุมชนในพื้นที่ ให้เตรียมความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยว ในรูปแบบของการเป็นเจ้าบ้านที่ดี มีการให้ข้อมูล หรือเข้าร่วมกิจกรรมในแต่ละวัด หรือ ชุมชน ที่จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา ซึ่งส่วนใหญ่ในอำเภอสามโคก เราจะมีแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมเป็นหลัก เรามีวัดสำคัญทางประวัติศาสตร์ มีโบราณสถาน ที่สามารถให้นักท่องเที่ยวได้มาเที่ยวชม ซึ่งทางอำเภอสามโคกรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีโอกาสจะได้ต้อนรับนักท่องเที่ยว และได้ร่วมกิจกรรมส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมขึ้นในจังหวัดปทุมธานีของเรา เชื่อและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านมาแล้วจะต้องกลับมาอีกอย่างแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องการไหว้พระขอพร สามโคกเป็นพื้นที่ที่มีพระพุทธรูปสำคัญ พระพุทธรูปโบราณอยู่หลายวัดทีเดียว
สำหรับเส้นทางการท่องเที่ยวทางเรือ จะเริ่มให้บริการทุกวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ตั้งแค่วันที่ 4 พ.ค. เป็นต้นไป จนถึงเดือสิงหาคมนี้
เส้นทางที่๑
๑. วัดบางเตยนอก
๒. วัดสิงห์
๓. วัดถั่วทอง
๔. วัดสองพี่น้อง
๕. วัดศาลาแดง
๖. วัดโบสถ์
เส้นทางที่ ๒
๑. วัดบางเตยนอก
๒. วัดไผ่ล้อม
๓. วัดสวนมะม่วง
๔. วัดเจดีย์ทอง
๕. วัดจันทน์กะพ้อ
๖. วัดท้ายเกาะใหญ่