ร่าง พรบ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ... จะบังคับใช้กับนายจ้างและลูกจ้างเอกชนที่ยังไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยกำหนดให้ลูกจ้างจ่ายเงินสะสมและนายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน เริ่มจากร้อยละ3 ในปีแรกและค่อย ๆ เพิ่มเป็นลำดับขึ้นไปในปีต่อ ๆ ไป ซึ่งมีเป้าหมายให้ลูกจ้างมีรายได้หลังเกษียณอยู่ที่ร้อยละ 50 ของเงินเดือนเดือนสุดท้ายก่อนการเกษียณอายุ และจะจัดตั้งสำนักงาน ก.บ.ช. ให้รัฐเป็นผู้บริหารจัดการ โดยจะบริหารเองและ/หรือคัดเลือกเอกชนที่เป็นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บางรายให้เข้ามาเป็นผู้จัดการกองทุน ทั้งนี้ ร่าง พรบ. ดังกล่าวยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
เรื่องนี้ นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และประธานกิตติมศักดิ์สมาคมบริษัทจัดการลงทุน ได้ให้ความเห็นว่า เงินกองทุนนี้มาจากเงินของลูกจ้างและนายจ้าง ไม่มีเงินจากภาครัฐมาสนับสนุน และรัฐก็ไม่ควรใส่เงินเข้ามาสนับสนุนเพราะจะเป็นภาระงบประมาณมหาศาลในอนาคต จึงต่างกับ กบข. และกองทุนประกันสังคม ที่รัฐเข้ามาบริหารจัดการแบบรวมศูนย์โดยผ่านการจัดตั้งสำนักงาน กบข. และสำนักงานประกันสังคม เพราะรัฐใส่เงินงบประมาณแผ่นดินสนับสนุนลงไปด้วย
"ในเมื่อกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาตินี้เป็นเงินของภาคเอกชนทั้งหมด (ลูกจ้างจ่ายและนายจ้างสมทบ) ไม่มีเงินจากรัฐเกี่ยวข้อง จึงไม่เห็นความสมเหตุสมผลที่จะให้รัฐเข้ามายุ่งเกี่ยวในการบริหารจัดการไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม เพราะการบริหารจัดการเงินจำนวนมากของประชาชนโดยภาครัฐจะมีความเสี่ยง มีแนวโน้มที่จะเกิดความไม่โปร่งใสอันเกิดจากการแทรกแซงทางการเมือง หรือเปิดโอกาสให้ใช้อำนาจโดยมิชอบได้โดยง่าย ประชาชนผู้เป็นเจ้าของเงินจึงควรมีสิทธิเสรีภาพเต็มที่ที่จะเลือกลงทุนในกองทุน ก.บ.ช.ของ บลจ.ใด ๆ ก็ได้ ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ เหมือนที่เขามีสิทธิในการเลือกลงทุนในกองทุน RMF โดยเสรี เพราะการเปิดเสรีจะทำให้เกิดการแข่งขัน เมื่อมีการแข่งขันประชาชนก็ย่อมได้ประโยชน์ทั้งในเรื่องของทางเลือก ราคา บริการ การเข้าถึงข้อมูล กับการได้รับคำแนะนำในการวางแผนการเงินและลงทุน นอกจากนี้ การจัดตั้งองค์กรภาครัฐขึ้นมาใหม่ในลักษณะสำนักงาน ก.บ.ช. เพื่อเข้ามาบริหารจัดการกองทุนตามร่าง พรบ.ฯ นี้ก็เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณที่มาจากภาษีประชาชนโดยใช่เหตุ จึงเห็นว่ารัฐควรช่วยทำหน้าที่ผลักดันให้เกิดกฎหมายโดยเร็ว โดยรัฐไม่ควรจะเข้ามาเป็นผู้เล่นเสียเองไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม" นางวรวรรณ กล่าว
ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านการเงิน การธนาคาร สถาบันการเงิน และตลาดทุน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า "การจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติเพื่อช่วยให้ลูกจ้างในระบบอีกหลายสิบล้านคนได้มีหลักประกันในยามเกษียณ ซึ่งเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลสนับสนุน แต่เนื่องจากเงินกองทุนนี้เป็นเงินของภาคเอกชน โดยลูกจ้างจ่ายและนายจ้างร่วมจ่ายสมทบ รัฐไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจ่ายเงิน เจ้าของเงินจึงควรมีอิสระในการเลือกนโยบายการลงทุนและผู้จัดการกองทุน ตลอดจนเรียนรู้การจัดการเงินออมของตนเอง อันเป็นการสร้างรากฐานการจัดการเงินส่วนบุคคลของประชาชน และยังช่วยส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมการจัดการลงทุนให้เติบโตต่อไป ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และอุตสาหกรรมนี้ได้มีการพัฒนาจนเชี่ยวชาญมาแล้วเป็นเวลากว่า 30 ปี ทั้งยังมีการกำกับดูแลที่ดี รัฐควรระมัดระวังไม่ไปบริหารเงินกองทุนของเอกชนโดยที่รัฐก็ไม่มีความชำนาญ ในขณะที่มีภาคเอกชนที่ได้รับการพัฒนาจนเชี่ยวชาญเป็นผู้จัดการอยู่แล้ว ยิ่งกว่านั้น การจัดตั้งหน่วยงาน กบช. ขึ้นมาเพื่อเป็นหน่วยงานใหม่อีกหนึ่งหน่วยงาน ต้องตั้งงบประมาณจำนวนมากขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่บริหารและมาดำเนินการคัดเลือกผู้บริหารกองทุน ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีของประชาชน และประเทศมีฐานะงบประมาณที่ขาดดุลติดต่อกันมามากกว่า 10 ปีแล้ว และยังอาจก่อให้เกิดข้อสงสัยได้ง่ายในเรื่องความโปร่งใสในการจัดการ ซึ่งไม่สอดคล้องกับความพยายามในการขจัดปัญหาความไม่โปร่งใสในภาครัฐที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่"