"หากต้องการกระตุ้นให้คนหันมาปั่นจักรยานเพื่อการท่องเที่ยวนั้น ก่อนอื่นต้องทำให้เส้นทางการปั่นมีความปลอดภัย ประกอบกับคนในชุมชนจะต้องเข้าใจและคุ้นชินกับการปั่นจักรยานเพื่อการท่องเที่ยว ไม่เช่นนั้น การปั่นจักรยานเพื่อการท่องเที่ยวอาจทำให้ชาวบ้านเจ้าของพื้นที่รู้สึกอึดอัดกับจำนวนนักปั่นที่เข้ามายังชุมชนในจำนวนที่มากเกินไป ซึ่งปัญหาดังกล่าวทำให้เกิดความไม่ลงตัวกันระหว่างนักปั่นกับวัฒนธรรมหมู่บ้าน" นายวีระศักดิ์ กล่าว
สำหรับนโยบายรัฐที่จะเข้าไปสนับสนุนการปั่นจักรยานนั้น นายวีรศักดิ์ กล่าวว่า หน่วยงานต่างๆ ในสังกัดของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมการปั่นมากกว่า 600 ครั้ง/ปี ซึ่งแต่ละครั้งมีผู้เข้าร่วมปั่นตั้งแต่หลักร้อยถึงพันคน ทั้งนี้พบว่า ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการส่งเสริมการปั่นจักรยานเพื่อการท่องเที่ยว เนื่องจากเมืองไทยมีภูมิประเทศที่หลากหลาย มีถนนที่ลงตัว คนข้างทางมีมิตรไมตรีที่ดี นอกจากนี้ การปั่นจักรยานเพื่อการท่องเที่ยวจะทำให้การท่องเที่ยวเมืองรองมีตัวตนมากยิ่งขึ้น เพราะนักปั่นจะหลีกเลี่ยงการปั่นจักรยานในเมืองหลัก หรือพื้นที่เมืองซึ่งแออัดและพื้นผิวจราจรไม่เรียบ ทำให้เมืองรอง หรือพื้นที่รองเป็นสถานที่ที่นักปั่นให้ความสนใจ สอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมสถานที่ท่องเที่ยวเมืองรอง ที่รัฐบาลเข้าไปสนับสนุนด้านมาตรการลดหย่อนภาษี 15,000 บาท ในการท่องเที่ยวเมืองรอง
นายวีรศักดิ์ ยังกล่าวถึงโครงการของภาครัฐ ที่จะเข้าไปส่งเสริมการปั่นจักรยานด้วยว่า ในเดือนพฤศจิกายน (ตุลาคม) นี้ รัฐบาลไทยได้จัดให้มีการแข่งขันจักรยาน"เลแทป ไทยแลนด์ บาย เลอ ตูร์เดอฟร็องส์" ที่จังหวัดพังงา ซึ่งถือว่าเป็นการจัดครั้งแรกในประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ ยังมีการจัดแข่งขันจักรยานจากเมืองหลักไปเมืองรองในลักษณะเก็บสถิติรายวัน ตลอดจนกิจกรรมการปั่นเพื่อความสนุก โดยมีนักปั่นให้ความสนใจจำนวนมาก
นายวีรศักดิ์ เปิดเผยถึงตัวเลขรายได้การท่องเที่ยวด้านการปั่นจักรยานในปีนี้ว่า รายได้จากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 1,500 ล้านบาท ซึ่งแต่ละปีมีอัตราการเติบโตที่ 10% โดยในปี 2561 ตัวเลขจะเติบโตถึง 1,700 ล้านบาท ขณะที่ยอดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาปั่นจักรยานในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 10% ทำให้รายได้จากส่วนนี้อยู่ที่ 270-280 ล้านบาท ทำให้มูลค่าโดยรวมสำหรับการท่องเที่ยวด้วยจักรยานจะมีมูลค่าสูงแตะ 2,000 ล้านบาท พร้อมเชื่อมั่นว่า กระแสการปั่นจักรยานจะดำรงอยู่และจะมียอดนักปั่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์จะเข้ามาแทนที่ แต่ปัจจุบันพิสูจน์แล้วว่า ตัวจักรยานเองยังคงเป็นที่ต้องการของคนทั่วไป นอกจากนี้ การท่องเที่ยวและการกีฬาจักรยานยังมีส่วนทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับจักรยานเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว อาทิเช่น ร้านจำหน่ายจักรยาน ร้านซ่อมจักรยาน แฟชั่นเสื้อผ้าและอะไหล่ตกแต่งจักรยาน ตลอดจนกิจกรรมอื่นๆ อาทิ การถ่ายภาพ การจำหน่ายของที่ระลึก รวมไปถึงสินค้าชุมชน และสินค้า OTOP
ด้าน นายอาทิตย์ สองจันทึก ผู้จัดการโครงการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี.เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด หรือ นีโอ ยักษ์ใหญ่วงการงานแสดงสินค้าธุรกิจจักรยาน กล่าวว่า เพื่อสนองตอบนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวและกีฬาจักรยาน บริษัทกำหนดให้มีการจัดงาน INTERNATIONAL BANGKOK BIKE ครั้งที่ 11 ขึ้น ระหว่างวันที่ 3-6 พฤษภาคม 2561 ณ เอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 1-2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมงานเพื่อเลือกซื้อสินค้าจักรยานเพื่อการท่องเที่ยวและกีฬาได้ นอกจากนี้ บริษัทยังจัดให้มีการแข่งขันจักรยาน Bangkok Bike Thailand Challenge 2018 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขึ้น ในระหว่างวันที่ 19-20 พฤษภาคม นี้ ณ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี อีกด้วย