รู้หรือไม่: พัฒนาการของ E-Learning และการศึกษาไทยในยุค 4.0

ศุกร์ ๐๔ พฤษภาคม ๒๐๑๘ ๑๐:๐๕
โดย อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช, อธิการบดี วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม

เมื่อผู้เขียนได้ยินคำว่า "การศึกษา 4.0" เป็นครั้งแรก ก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่แปลกใหม่ เพราะในยุคประเทศไทย 4.0 ดูเหมือนว่าจะเป็นความจำเป็นที่ทุกสิ่งต้องติดสอยคำว่า "4.0" เข้าไปเพื่อให้ดูทันสมัย และเป็นสัญลักษณ์ว่าได้ส่งเสริมและพัฒนาไปในทิศทางเดียวกับแนวคิดประเทศไทย 4.0

แต่เมื่อมีเวลาได้ไตร่ตรองแนวทางและสถานการณ์ของการศึกษาไทยในยุคปัจจุบัน จึงได้เข้าใจว่าแนวทางการศึกษา 4.0 นั้นถือเป็นความพยายามในการกำหนดทิศทางการสร้างบุคลากรที่เหมาะสมเพื่อรองรับอนาคตของประเทศไทยตามแนวทาง 4.0 ซึ่งเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับอนาคตของประเทศไทยภายใต้ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ Creative Economy

อย่างไรก็ดี กฎ ระเบียบ หรือการปฏิบัติในเชิงข้อบังคับสำหรับการศึกษา 4.0 กลับไม่ได้แสดงให้เห็นถึงการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ใดๆ ซึ่งเป็นหัวใจของแนวทางประเทศไทย 4.0 อีกทั้งยังปิดโอกาสการเป็นผู้นำทางด้านการศึกษาในมิติที่เหมาะสมกับประเทศไทย 4.0 ที่สุด นั่นคือ การเรียนการสอนผ่านระบบ อิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรารู้จักกันอย่างกว้างขวางในชื่ออีเลิร์นนิ่ง (e-Learning)

หากแนวทางประเทศไทย 4.0 หมายถึงการสร้างประเทศไทยอย่างเป็นขั้นตอนจากเศรษฐกิจเกษตรกรรม (1.0) มาเป็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเบา (2.0) สู่เศรษฐกิจอุตสาหกรรมหนัก (3.0) และวางเป้าให้อนาคตของประเทศไทยเข้าสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่นำด้วยนวัตกรรม (4.0) ดังนั้น ระบบการศึกษาก็ควรถูกวางรากฐานให้ส่งเสริมเป้าประสงค์ในแต่ละระดับขั้นตอนอย่างชัดเจนเช่นกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วเมื่อพิจารณาจากที่ผ่านมาจะเห็นว่าพัฒนาการของการศึกษาไทยไม่ได้ถูกพัฒนาเป็นขั้นตอนตามการพัฒนาประเทศตามกรอบการพัฒนาประเทศไทย 1.0 ถึง 4.0 แต่อย่างใดแต่อดีตไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

ดังนั้น ความคิดเชิงพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดที่สามารถส่งเสริมแนวการพัฒนาที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศอย่างชัดเจนถือเป็นส่วนที่น่าชื่นชม แต่แผนการศึกษา 4.0 ที่จะส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่เดินหน้าด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์กลับไม่ได้สะท้อนความสร้างสรรค์เท่าที่น่าจะเป็น

จากการสอบถามผู้รู้ในวงการศึกษาเห็นว่าเกือบทั้งหมดมีแนวทางการก้าวสู่การศึกษา 4.0 ด้วยการเพิ่มศักยภาพการเรียนการสอนในห้องเรียน ไม่ว่าจะเป็นการลดจำนวนนักเรียนในแต่ละห้องเรียน การปรับปรุงอุปกรณ์การเรียนการสอนให้ทันสมัย และเน้นการเรียนการสอนแบบ STEM (Science, Technology, Engineering and Mathematics) ซึ่งการพัฒนาตามที่ว่านั้นเป็นสิ่งที่ดีในด้านคุณภาพสำหรับนักเรียนนักศึกษาไทยอย่างแน่นอน

แต่หากจะเน้นการสร้างบุคลากรเพื่อป้อนสังคมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การสร้างทักษะที่เกี่ยวข้องกับความคิด สร้างสรรค์ที่สามารถทำได้จริงควรจะเป็นศูนย์กลางของแผนการศึกษา 4.0 ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องเสริมศักยภาพในเชิงอุปกรณ์มากนัก แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเสริมศักยภาพผู้สอน และวิธีการสอนมากกว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีมูลค่าเป็นตัวเงินมากเท่าการเสริมศักยภาพในด้านอุปกรณ์ แต่สามารถสร้างทักษะในเชิงความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างมาก ดังเช่นที่นักปราชญ์กรีก พลาโต (Plato) ได้กล่าวไว้ว่า "Necessity is The Mother of Innovation" หรือ "ความจำเป็น (ความยากลำบาก) คือต้นกำเนิดของความคิดสร้างสรรค์"

อีกส่วนหนึ่ง คือ นโยบายการส่งเสริมผู้เรียนอาชีวศึกษาในด้านจำนวนที่ระบุว่าควรมีอัตราส่วนระหว่างอาชีวะต่อมัธยมเป็น 70 ต่อ 30 ถือเป็นการขัดแย้งทางด้านการส่งเสริมในเชิงความคิดสร้างสรรค์อย่างชัดเจน เพราะการศึกษาในระบบอาชีวะเป็นการศึกษาที่เน้นสมรรถนะ คือ การทำงานได้จริงตามขั้นตอน ถึงแม้ว่าจะสามารถผนวกความคิดสร้างสรรค์ไปในเชิงการสอนให้คิด แต่หัวใจหลักยังคงเป็นการทำงานตามขั้นตอนที่พิสูจน์ได้ว่าทำงานหรือผลิตได้จริงมากกว่าการเปิดช่องว่างให้คิดและสร้างสรรค์แนวทางหรือสิ่งใหม่ๆ ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางที่สอดรับกับการสร้างบุคลากรเพื่อรองรับสังคมอุตสาหกรรมประเทศไทย 3.0 มากกว่าสังคมสร้างสรรค์ของประเทศไทย 4.0

อีกประเด็นหนึ่งที่น่ากังวล คือ การศึกษาไทยมีแรงต้านสิ่งสร้างสรรค์ใหม่ๆ ไม่ให้เกิดขึ้นหรือพัฒนาขึ้นในระดับที่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ อาจด้วยความกลัวในสิ่งที่ไม่รู้ หรือความต้องการที่จะควบคุมในสิ่งที่ยากจะควบคุม ตัวอย่างหนึ่ง คือ การจัดการศึกษาออนไลน์อย่างเต็มระบบทั้งในระดับปริญญา และต่ำกว่าปริญญาที่นิยมเรียกว่าอีเลิร์นนิ่ง (e-Learning) ซึ่งถูกใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก กลับกลายเป็นเรื่องประหลาดที่ไม่สามารถยอมรับได้ในการจัดการศึกษาไทย เห็นได้จากอัตราพัฒนาการและการขยายตัวของอีเลิร์นนิ่งในต่างประเทศกับประเทศไทยพบว่าอีเลิร์นนิ่งมีการขยายตัวและพัฒนาการต่อยอดเทคโนโลยีที่นำหน้า ประเทศไทยเป็นอย่างมาก ส่วนหนึ่งอาจมาจากนโยบายการศึกษาไทยที่ไม่สนับสนุนการเรียนการสอนแบบอีเลิร์นนิ่งอย่างเต็มระบบ จนทำให้โปรแกรมการเรียนการสอนผ่านทางระบบอีเลิร์นนิ่งเต็มระบบในหลายสถาบันอุดมศึกษาไทยต้องถูกยกเลิกหรือจำกัดให้เหลือเพียงการใช้อีเลิร์นนิ่งเพื่อเป็นตัวช่วยการเรียนในห้องเรียนเท่านั้น

ดังนั้น พัฒนาการด้านอีเลิร์นนิ่งทั้งด้านเทคโนโลยี การเรียนการสอน และการลงทุนจึงแทบจะไม่เดินหน้าเลย แต่ในห้วงเวลาเดียวกันสถาบันอุดมศึกษาในต่างประเทศกลับมีพัฒนาการด้านอีเลิร์นนิ่งอย่างก้าวกระโดด บ้างก็สามารถขายสิทธิในการใช้งานและแปลบทเรียนเป็นภาษาต่างๆ จนสามารถให้ใบรับรองและปริญญาแก่ผู้สำเร็จการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก บ้างก็ได้นำอีเลิร์นนิ่งมาเป็นกลยุทธ์ในการประชาสัมพันธ์และสร้างชื่อเสียงให้กับสถาบันการศึกษาโดยให้เข้าลองใช้ระบบอีเลิร์นนิ่งโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และหากสอบออนไลน์ผ่านก็สามารถรับประกาศนียบัตรหรือปริญญาบัตรได้เช่นกัน

แน่นอนว่าประเทศไทยได้เสียโอกาสในด้านอีเลิร์นนิ่งให้กับสถาบันต่างประเทศ เช่น สถาบันจากประเทศสิงคโปร์ไปแล้วโดยปริยาย ทั้งๆ ที่ประเทศรอบข้างอย่างประเทศในกลุ่ม CLMV ที่ประกอบด้วยกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ยังคงแสดงความสนใจที่จะเรียนในระบบอีเลิร์นนิ่งจากประเทศไทยเป็นจำนวนมาก และ หากรวมตลาดในประเทศไทยเองด้วยแล้วต้องถือว่าสถาบันการศึกษาในประเทศไทยได้เสียโอกาสจากตลาดที่ใหญ่พอสมควร จะเป็นด้วยความกลัวในสิ่งที่เราไม่รู้จึงไม่เปิดโอกาสให้ลอง หรือด้วยความหวังในการควบคุมในสิ่งที่เราไม่เคยควบคุมจึงไม่มีส่วนแบ่งให้ควบคุม

หากการศึกษาไทยยังคงกลัวในสิ่งที่ไม่รู้ เราจะสามารถสร้างสรรค์หรือแม้แต่รับประโยชน์จากความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ได้อย่างไร หากประเทศไทยยอมรับและยอมเสี่ยงกับอีเลิร์นนิ่งตั้งแต่เริ่มต้น วันนี้ประเทศไทยน่าจะเป็นผู้นำด้านอีเลิร์นนิ่งอย่างน้อยก็ในประเทศ CLMV ได้ไม่ยาก และประเทศไทยคงมีเทคโนโลยีและความเข้าใจเกี่ยวกับอีเลิร์นนิ่งดีพอที่จะสร้างประโยชน์จากบทเรียนฟรีที่มีอยู่มากมายในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งถือเป็นการก้าวกระโดดเชิงข้อมูลความรู้ที่จะทำให้การศึกษาไทยพัฒนาเข้าใกล้การศึกษานานาประเทศได้ หากผู้นำประเทศสามารถตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาดว่าเราจะสร้างบุคลากรเพื่อรองรับสังคมสร้างสรรค์ตามแนวทางประเทศไทย 4.0 หรือบุคลากรที่มีความเป็นเลิศในเชิงทักษะการผลิตเพื่อรองรับสังคมอุตสาหกรรมประเทศไทย 3.0 เราก็คงสามารถสร้างความเป็นเลิศในแนวทางที่เราเลือกได้โดยไม่ยากนัก หากผู้นำประเทศยอมรับที่จะสร้างความคิดสร้างสรรค์จากคนสู่คนด้วยวิธีการที่เหมาะสมมากกว่าจากอุปกรณ์และรูปแบบที่หยิบยืมมา และหากผู้นำประเทศเปิดใจให้คุณค่ากับการเลือกทิศทางรวมถึงสิ่งสร้างสรรค์ใหม่ๆ และยอมเสี่ยงกับผลที่ตามมา หากดีก็จะสามารถผลักดันให้ดียิ่งขึ้นได้ไม่ยาก หากล้มเหลวก็ยอมรับและเรียนรู้เพื่อสร้างสิ่งใหม่ที่ดีกว่าซึ่งแนวทางนี้น่าจะช่วยสร้างเศรษฐกิจและสังคมสร้างสรรค์ภายใต้แนวคิดประเทศไทย 4.0 ให้มีความยั่งยืนด้วยระบบการศึกษา 4.0 อย่างแท้จริง... ท่านเห็นด้วยกับแนวคิดนี้หรือไม่ (อ่านข่าวต่อ : https://goo.gl/tiqR2i )

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO