รศ.ดร.อนุวัฒน์ จางวนิชเลิศ (Anuwat Jangwanitlert) รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายบริหารวิชาการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายเศรษฐกิจดิจิทัลและไทยแลนด์ 4.0 นอกจากคิดค้นสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ตอบโจทย์คนหมู่มากและสามารถเข้าถึงได้ง่ายแล้ว ยังต้องมีการตลาดและช่องทางจัดจำหน่ายที่ตอบรับเศรษฐกิจยุคดิจิทัลช่วยให้ผู้ผลิต เจ้าของสินค้าสามารถเข้าถึงลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ การลงนามความร่วมมือ MOU กับ อาลีบาบา กรุ๊ป ในครั้งนี้เป็นการเรียนรู้จากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และจะเปิดคอร์สอนอบรมให้ความรู้ด้านอีคอมเมิร์ซกับบุคลากรผู้สอน ที่จะช่วยเพิ่มความรู้และทักษะในการนำไปพัฒนารายวิชาที่เกี่ยวข้องให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น เนื่องจากสจล.มีหลายวิชาที่เกี่ยวข้องกับด้านอีคอมเมิร์ซเช่น วิชาเป็นผู้ประกอบการ(Entrepreneurship) ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างเสริมโอกาสต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ สร้างสตาร์ทอัพผู้ประกอบการใหม่ และอาจนำไปสู่การร่วมพัฒนาหลักสูตรด้านอีคอมเมิร์ซ ตอบโจทย์การเพิ่มช่องทางการตลาดสำหรับจำหน่ายสินค้า ผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรม ให้สอดรับกับการพัฒนาเศรษฐกิจยุคดิจิทัล
ด้านนายแจ๊ค จาง (Jack Zhang) ผู้จัดการทั่วไป อาลีบาบา กรุ๊ป กล่าวว่า การร่วมมือกับสจล.ในครั้งนี้ เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะปัจจุบันธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตมากในประเทศจีนและทั่วโลก ทั้งจำนวนผู้ใช้และจำนวนผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้น อาลีบาบาจึงต้องการพันธมิตรอย่าง สจล. ที่มีบุคลากรคนรุ่นใหม่และมีศักยภาพในการวิจัยพัฒนา และสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆด้วยความคิดสร้างสรรค์ อาลีบาบาจะนำ Global E-Commerce Talent Program มาใช้ในการฝึกฝนอบรมบุคลากรผู้สอน โดยรุ่นแรกอบรมในเดือนสิงหาคม 2561
รศ.ดร.คมสัน มาลีสี (Komsan Maleesee) คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า จากวิสัยทัศน์ สจล. ในการเป็นสถาบันอุดมศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 1 ใน 10 ของภูมิภาคอาเซียน ในปี2020 เป้าหมายที่ชัดเจนคือการผลิตบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ มีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพราะเชื่อมั่นว่า เทคโนโลยี การศึกษา งานวิจัย เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศและขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมายที่วางไว้งาน KMITL Engineering Project Day 2018 เป็นเวทีแสดงผลงานเทคโนโลยีและดิจิทัล กว่า 500 นวัตกรรมจากฝีมือเมคเกอร์นักศึกษาคนรุ่นใหม่ครั้งยิ่งใหญ่ วัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการสร้างนวัตกรรมด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยี เสริมสร้างความเป็นผู้นำและการทำงานเป็นทีม มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ทักษะ ความชำนาญด้านเทคโนโลยีวิศวกรรม ร่วมขับเคลื่อนพัฒนาประเทศให้มีความก้าวหน้าอย่างยั่งยืน โดยเชื่อมั่นว่า การจัดงานแสดงผลงานนวัตกรรมที่หลากหลายในครั้งนี้ สามารถต่อยอดความร่วมมือกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่าง ๆได้มากขึ้น เนื่องจากมั่นใจในศักยภาพของนักประดิษฐ์รุ่นใหม่ ที่คิดค้นสร้างสรรค์ผลงานให้สามารถนำไปใช้งานได้จริง ตอบโจทย์กับผู้ประกอบการธุรกิจต่าง ๆ เพื่อต่อยอดเป็นชิ้นงานของภาคเอกชนเพื่อแข่งขันในตลาดโลกได้ และสำหรับ การประกวดสุดยอดนวัตกรรม "Best Innovation Awards 2018" แสดงถึงศักยภาพของเมคเกอร์รุ่นใหม่ ที่มุ่งพัฒนานวัตกรรมให้สอดรับการพัฒนาประเทศยุคดิจิทัล
ผลการประกวดสุดยอดนวัตกรรม Best Innovation Awards 2018 ผู้เข้ารอบชิงชนะเลิศ 10 ทีม โดยนำเสนองานบนเวทีรายละ 12 นาที เพื่อนำเสนอผลงาน 7นาที และตอบคำถามคณะกรรมการจากภาคธุรกิจอุตสาหกรรม และองค์กรต่างๆ 5 นาที ผลการตัดlสิน ดังนี้
รางวัลเหรียญทอง แชมป์ชนะเลิศ คือต้นแบบฆ้องวงไฟฟ้าตัวแรกของโลก (Gong Wong Sound Synthesis) ผลงานของ นายวงศธร วงศ์วิวัฒนะศรี และ นายพัสกร กิมาวะหา จากหลักสูตรวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม สจล. 2เมคเกอร์รุ่นใหม่ กล่าวว่า นวัตกรรมชิ้นนี้เกิดจากแนวคิดที่ต้องการสร้างดนตรีไทยให้บรรเลงร่วมกับดนตรีสากลได้ ต้องการยกระดับดนตรีไทยสู่อุตสาหกรรมดนตรีระดับสากล พวกเราจึงนำองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมการประมวลผลสัญญาณ (Signal Processing) มาสร้างนวัตกรรมทางเสียง เพื่อให้เกิดระบบเสียงฆ้องวงใหม่ที่สามารถประพันธ์บทเพลงด้วยคอมพิวเตอร์ โดยต้นแบบ"ฆ้องวงไฟฟ้า" ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมยืนจดสิทธิบัตรเป็นรายแรกของโลก
รางวัลเหรียญเงิน รองชนะเลิศอันดับ 1 คือ แอพพลิเคชั่นแปลเมนูอาหารสำหรับนักท่องเที่ยวด้วยสมาร์ทโฟนรายแรกของโลก (Menu Translator Application for Traveler" ผลงานของนายรุ่งหนึ่ง เหลืองกำจร,นายภูเบศ จิรธิติภูวดล และนายศศิน เนาว์รุ่งโรจน์ กลุ่มเมคเกอร์รุ่นใหม่จากหลักสูตรวิศวกรรมสารสนเทศ กล่าวว่า การท่องเที่ยวสร้างรายได้เข้าประเทศปีละ 2.76 ล้านล้านบาท เรามองเห็นปัญหาด้านการสื่อสารของนักเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนเมืองไทย โดยเฉพาะเวลาสั่งอาหารตามร้านอาหารทั่วไปที่เมนูส่วนใหญ่เป็นภาษาไทย จึงมีไอเดียนำสมาร์ทโฟนมาเป็นตัวช่วยในการสื่อสาร ผ่านแอพพลิเคชั่นแรกของโลกที่สามารถแปลเมนูอาหารจากรูปภาพภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษพร้อมคำอธิบาย ตอบโจทย์การพัฒนาการท่องเที่ยว 4.0 และสร้างมูลค่าเพิ่มให้อาหารไทยและบริการท่องเที่ยวของประเทศ
รางวัลเหรียญทองแดง รองชนะเลิศอันดับ 2 คือระบบคัดกรองเซลล์มะเร็งปากมดลูกด้วยปัญญาประดิษฐ์(AI) (Cervical Cancer Cells Classification using Artificial Intelligent) ผลงานของ นายธนกฤษ จิตติชัยเวทย์ และนายสุวิชา ศศิวิมลกุล เมคเกอร์รุ่นใหม่จากหลักสูตรวิศวกรรมชีวการแพทย์ กล่าวว่า ปัญหาอย่างหนึ่งที่พบในวงการแพทย์คือขาดแคลนพยาธิแพทย์ หรือแพทย์เฉพาะทาง ประกอบกับการตรวจวิเคราะห์มะเร็งปากมดลูกต้องใช้เวลานานในการรอผลตรวจ จึงพัฒนานวัตกรรมที่เรียกว่า "เครื่อง Deep Scan" โดยนำระบบของปัญญาประดิษฐ์(AI) มาช่วยวิเคราะห์ลักษณะเซลล์เนื้อเยื่อได้รวดเร็วแม่นยำและสามารถบันทึกและจัดเก็บข้อมูลจำนวนมากด้วยระบบคลาวด์ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการรักษาและวงการแพทย์