1. จำนวนวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ในประเทศไทย
1.1 จำนวน Startup ที่ลงทะเบียนกับ http://startupthailand.org ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ จำนวน 1,500 ราย
1.2 จำนวนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรายใหม่ (SMEs/New Startup) ที่ขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 637) พ.ศ. 2560 เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับกำไรสุทธิของ SMEs/New Startup เป็นระยะเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชี มี SMEs/New Startup เข้ามาจดทะเบียนและยื่นขอรับการรับรองกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แล้วจำนวน 151 ราย ได้รับการรับรองจาก สวทช. แล้วจำนวน 90 ราย และได้ขอใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับกรมสรรพากรแล้วจำนวน 73 ราย
1.3 จำนวน Startup ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ผ่านการร่วมลงทุนกับธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้อนุมัติการร่วมลงทุนใน Startup แล้ว 35 ราย วงเงินรวม 768 ล้านบาท โดยมี Startup 10 ราย ที่ได้มีการร่วมลงทุนแล้ว คิดเป็นเงินร่วมลงทุน 216 ล้านบาท
2. จำนวนกลุ่มนักลงทุนในประเทศไทย
2.1 จำนวนกลุ่มนักลงทุนที่ลงทะเบียนกับ Web Portal ปัจจุบันมีกลุ่มนักลงทุนเข้าลงทะเบียนบนเว็บไซต์ http://startupthailand.org แล้วจำนวน 69 ราย
2.2 กิจการเงินร่วมลงทุน (Venture Capital: VC) และทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุน (Private Equity Trust: PE Trust) ที่ขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 636) พ.ศ. 2560 เพื่อขอรับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้จากเงินปันผลและรายได้จากการโอนหุ้นของบริษัทเป้าหมาย เป็นระยะเวลา 10 รอบระยะเวลาบัญชี มีผู้จดแจ้งการเป็น VC และ PE Trust กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แล้ว จำนวนทั้งสิ้น 30 ราย
3. ความเคลื่อนไหวที่สำคัญในเดือนเมษายน 2561
3.1 มาตรการสิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่นักลงทุนที่ลงทุนในวิสาหกิจเริ่มต้น (Angel Investor) เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์) ได้ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 337 (พ.ศ. 2561) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร เพื่อให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ Angel Investor ที่ลงหุ้นหรือลงทุนในการจัดตั้งหรือเพิ่มทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึง 31 ธันวาคม 2562 ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้นเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้น ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ (หักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา) ทั้งนี้ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะไปลงทุนจะต้องจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึง 31 ธันวาคม 2562 และประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐานในกระบวนการผลิตและการให้บริการตามหลักเกณฑ์ที่ สวทช. กำหนด และได้รับการรับรองจาก สวทช. โดย Angel Investor ต้องถือหุ้นในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่น้อยกว่า 2 ปีต่อเนื่องกัน นับแต่วันที่ได้จ่ายเงินเพื่อลงหุ้นหรือลงทุนในการจัดตั้งหรือเพิ่มทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น
3.2 การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการการพัฒนาครูและบุคลากรในสถาบันการศึกษาระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาด้านมายเซ็ตการประกอบการ ครั้งที่ 2 คณะกรรมการฯ ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมบัญชีกลาง และธนาคารออมสิน จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการการพัฒนาครูและบุคลากรในสถาบันการศึกษาระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาด้านมายเซ็ตการประกอบการ (การฝึกอบรมฯ) ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 2 – 3 เมษายน 2561 ณ โรงแรมประจักษ์ตรา ดีไซน์ โฮเทล จังหวัดอุดรธานี โดยมีผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมทั้งหมด 63 ท่าน เป็นครูจากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ Startup Club จำนวน 41 ท่าน จาก 20 สถาบัน และเจ้าหน้าที่จากคณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัด (คบจ.) 22 ท่าน จาก 14 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ หนองคาย มุกดาหาร บึงกาฬ เลย อุดรธานี ร้อยเอ็ด ขอนแก่น กาฬสินธุ์ นครพนม สกลนคร มหาสารคาม และยโสธร
ทั้งนี้ การฝึกอบรมฯ ครั้งที่ 3 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 - 8 พฤษภาคม 2561 ณ จังหวัดสงขลา สำหรับครูในสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ Startup Club และเจ้าหน้าที่ คบจ. ในกลุ่มจังหวัดภาคใต้
ส่วนนโยบายระบบการลงทุน สำนักนโยบายการออมและการลงทุน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3638, 3650, 3654