ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน และแนวโน้ม “บ. ดีแทค ไตรเน็ต” ที่ “AA+/Negative”

ศุกร์ ๐๔ พฤษภาคม ๒๐๑๘ ๑๗:๑๑
ทริสเรทติ้งยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ที่ระดับ "AA+" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" หรือ "ลบ" อันดับเครดิตสะท้อนถึงความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของบริษัทในฐานะที่เป็นบริษัทย่อยรายสำคัญของ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (ได้รับอันดับเครดิต "AA+/Negative" จากทริสเรทติ้ง) ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ของไทย โดยที่อันดับเครดิตมีปัจจัยเสริมจากการที่บริษัทได้รับการสนับสนุนจาก Telenor ASA (Telenor) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นหลักของบริษัทแม่อีกด้วย

การประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงสถานะทางการตลาดในการเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ของบริษัทและแนวโน้มการเติบโตที่ดีของการใช้บริการด้านข้อมูล อีกทั้งยังพิจารณาถึงการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรม รวมทั้งการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อให้มีปริมาณคลื่นความถี่ที่เพียงพอ และเพื่อพัฒนาคุณภาพโครงข่ายด้วย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

เป็นบริษัทย่อยรายสำคัญของบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น

อันดับเครดิตสะท้อนสถานะของบริษัทในการเป็นบริษัทย่อยที่สำคัญของบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น โดยพิจารณาจากทั้งการสร้างรายได้และกำไร รวมถึงฐานลูกค้า และบทบาทในการสร้างรายได้บนโครงข่ายภายใต้ใบอนุญาต บริษัทมีรายได้ในปี 2560 รวม 65,289 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 83% ของรายได้รวมของบริษัทแม่ และมีรายได้จากการให้บริการที่ไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (Interconnection Charges -- IC) อยู่ที่ประมาณ 60,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 93% ของรายได้จากการให้บริการที่ไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายของบริษัทแม่ นอกจากนี้ บริษัทยังสร้างกำไรคิดเป็นประมาณ 54% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทแม่อีกด้วย โดยรายได้ของบริษัทจะใกล้เคียงกับบริษัทแม่มากขึ้นเมื่อสัมปทานของบริษัทแม่หมดอายุลงและมีการย้ายลูกค้าทั้งหมดไปอยู่บนโครงข่ายของบริษัท

บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น มีส่วนในการควบคุมการดำเนินงานของบริษัทอย่างเต็มที่โดยผ่านช่องทางการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงและคณะกรรมการของบริษัท นอกจากนี้ บริษัทยังใช้ทรัพยากรและอุปกรณ์โครงข่ายร่วมกันกับบริษัทแม่ในการให้บริการแก่ลูกค้าด้วย ทั้งนี้ การให้บริการเทคโนโลยี 2G บนคลื่นความถี่ภายใต้ระบบสัมปทานของบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จะหมดอายุลงในเดือนกันยายน 2561 นี้และจะมีการย้ายลูกค้าทั้งหมดของบริษัทแม่ไปอยู่บนโครงข่ายของบริษัท เมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นดังกล่าวแล้ว ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะได้รับการสนับสนุนจากบริษัทแม่ รวมถึงได้รับความช่วยเหลือทางการเงินในเวลาที่จำเป็น

อันดับเครดิตของบริษัทมีปัจจัยเสริมความแข็งแกร่งจากการสนับสนุนที่ Telenor มีให้แก่บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ซึ่งเป็นบริษัทแม่ทั้งในด้านการบริหารจัดการ เทคโนโลยี และความช่วยเหลืออื่น ๆ ด้วย บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ถือว่ามีส่วนสำคัญในการสร้างรายได้ให้แก่กลุ่ม Telenor โดย เป็นบริษัทที่สร้างรายได้ในระดับแนวหน้าในกลุ่มบริษัทที่ Telenor ลงทุนนอกประเทศนอร์เวย์ ความสำคัญดังกล่าวทำให้ทริสเรทติ้งคาดหวังว่า Telenor จะยังคงให้การสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ในเวลาที่จำเป็นต่อไป

เมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่างบริษัทและบริษัทแม่แล้ว อันดับเครดิตองค์กรของบริษัทจึงมีระดับเท่ากับอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทแม่และเปลี่ยนแปลงไปตามทิศทางอันดับเครดิตของบริษัทแม่ด้วย

ความกดดันเรื่องคลื่นความถี่ที่ผ่อนคลายลง

บริษัทได้ลงนามในสัญญาเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัททีโอทีซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านสื่อสารโทรคมนาคมเพื่อให้บริการ 4G LTE-TDD (Long Term Evolution-Time Division Duplex) (เทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายด้วยความเร็วสูง) บนคลื่นความถี่ (Spectrum) 2.3 GHz ขนาด 60 เมกะเฮิร์ทซ์ (Megahertz -- MHz) โดยบริษัทดีแทค ไตรเน็ต จะจ่ายเงินให้แก่บริษัททีโอทีจำนวน 4,510 ล้านบาทต่อปีเพื่อใช้งานในสัดส่วน 60% ของจำนวนความจุคลื่น

การทำสัญญากับบริษัททีโอทีช่วยลดความกังวลในเรื่องของจำนวนคลื่นความถี่ที่จำกัดเนื่องจากคลื่นความถี่ 850-MHz และ 1.8 GHz ขนาด 35 MHz ภายใต้สัญญาสัมปทานของกลุ่มบริษัทจะหมดอายุลงในเดือนกันยายน 2561 ที่จะถึงนี้ การลงนามในสัญญาเป็นพันธมิตรกับบริษัททีโอทีส่งผลทำให้สถานะในการถือครองคลื่นความถี่ของกลุ่มบริษัทเข้มแข็งยิ่งขึ้นและมีปริมาณเพียงพอต่อการรองรับอุปสงค์การใช้งานด้านข้อมูลที่เพิ่มขึ้นของลูกค้าได้

ทั้งนี้ หน่วยงานกำกับมีความตั้งใจที่จะจัดการประมูลคลื่นความถี่ 1.8 GHz ก่อนที่สัญญาสัมปทานของบริษัทจะหมดอายุลง อย่างไรก็ตาม การดำเนินการตามแผนยังมีความไม่แน่นอน ซึ่งทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะเข้าร่วมการประมูลเพื่อให้ได้คลื่นความถี่ที่เพียงพอสำหรับการให้บริการในอนาคต อย่างไรก็ดี การที่บริษัทมีคลื่นความถี่ 2.3 GHz เพื่อใช้งานเพิ่มเติมนั้นจะช่วยลดแรงกดดันให้แก่บริษัทในการประมูลคลื่นความถี่ในครั้งต่อไปอย่างมีนัยสำคัญ

แนวโน้มการเติบโตที่ดีของบริการด้านข้อมูล

ในปี 2560 รายได้จากการให้บริการของบริษัทที่ไม่รวมค่า IC เพิ่มขึ้น 2.2% จากปีก่อนมาอยู่ที่ประมาณ 60,000 ล้านบาทโดยมีแรงขับเคลื่อนจากการเติบโตของบริการด้านข้อมูล ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมารายได้จากการให้บริการด้านข้อมูลของบริษัทเติบโตเฉลี่ย 25% ต่อปี ในปี 2560 รายได้จากการให้บริการข้อมูลคิดเป็น 66% ของรายได้จากการให้บริการที่ไม่รวมค่า IC ทั้งหมดของบริษัท การเติบโตขึ้นอย่างมากของรายได้จากการให้บริการข้อมูลช่วยลดผลกระทบจากฐานลูกค้าแบบเติมเงินที่เล็กลงและรายได้จากการให้บริการด้านเสียงที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

เมื่อพิจารณาถึงความต้องการใช้บริการด้านข้อมูล ตลอดจนการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบสมาร์ทโฟน และความครอบคลุมของโครงข่าย 3G และ 4G ที่มีมากขึ้นแล้ว ทริสเรทติ้งคาดว่าความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นในการใช้บริการด้านข้อมูลและคลื่นความถี่จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในระยะปานกลาง อีกทั้งยังคาดว่าการให้บริการด้านข้อมูลของบริษัทจะเติบโตอย่างต่อเนื่องต่อไปด้วย นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงสถานะในการถือครองคลื่นความถี่ของบริษัทที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นแล้วก็คาดว่าบริษัทจะแข่งขันในเชิงรุกมากยิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานและเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในการให้บริการด้านข้อมูล อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมอาจจะกดดันการเติบโตของรายได้ของบริษัทได้เช่นกัน

ในระหว่างปี 2561-2563 ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานว่ารายได้จากการให้บริการด้านข้อมูลของบริษัทจะเติบโตในอัตราเลข 2 หลัก โดยจะทดแทนรายได้จากการให้บริการด้านเสียงที่ลดลงอย่างต่อเนื่องและจะทำให้รายได้จากการให้บริการที่ไม่รวมค่า IC ของบริษัทเติบโตโดยเฉลี่ยปีละ 2%

ฐานะทางการเงินที่มีแนวโน้มอ่อนแอลง

ฐานะทางการเงินของบริษัทมีแนวโน้มอ่อนแอลงจากค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนที่เพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มจำนวนคลื่นความถี่ที่ถือครองและเพื่อพัฒนาคุณภาพโครงข่าย ทั้งนี้ ในช่วงปี 2561-2563 ทริสเรทติ้งคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ในช่วงประมาณ 13,000-18,000 ล้านบาทต่อปี แม้ว่าบริษัทจะควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ทริสเรทติ้งก็มีมุมมองว่าบริษัทจะพยายามเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานและเพิ่มส่วนแบ่งรายได้ค่าบริการให้มากขึ้นซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีต้นทุนในการเพิ่มจำนวนลูกค้าที่สูงขึ้นจากระดับปัจจุบัน นอกจากนี้ กระแสเงินสดของบริษัทอาจได้รับแรงกดดันจากค่าใช้จ่ายด้านโครงข่ายที่เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มความหนาแน่นของโครงข่าย ตลอดจนค่าธรรมเนียมที่จะต้องจ่ายให้แก่บริษัททีโอที รวมถึงค่าเช่าโครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์โทรคมนาคมของ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ที่อยู่ในระหว่างการเจรจาด้วย

บริษัทมีเงินกู้รวม 64,500 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2560 ทั้งนี้ เงินกู้รวมส่วนหนึ่งเป็นเงินกู้ยืมจากบริษัทแม่จำนวน 15,500 ล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนในช่วงปี 2561-2563 ประมาณ 57,000-60,000 ล้านบาทโดยยังไม่รวมค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ที่จะประมูลใหม่ อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนคาดว่าจะปรับสูงขึ้นหากบริษัทชนะการประมูลคลื่นความถี่ด้วยราคาที่สูงและอาจจะส่งผลให้อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมลดลงไปด้วย อย่างไรก็ดี ทริสเรทติ้งมีมุมมองว่าบริษัทจะยังคงมีสภาพคล่องที่เพียงพอที่จะรองรับภาระทางการเงินได้เมื่อพิจารณาถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทแม่และความช่วยเหลือที่บริษัทจะได้รับจากบริษัทแม่

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" หรือ "ลบ" เป็นไปตามแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น โดยแนวโน้มอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะการตลาดที่อ่อนแอลงของ บริษัทแม่และความคาดหมายว่าบริษัทแม่จะยังคงเผชิญกับความท้าทายในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งนี้ คาดว่าสถานะทางการเงินของบริษัทแม่น่าจะอ่อนแอลงเมื่อพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนจำนวนมากที่จะต้องใช้ในการลงทุนเพื่อให้มีคลื่นความถี่ที่เพียงพอและมีโครงข่ายที่ครอบคลุม

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

เมื่อพิจารณาจากเกณฑ์ในการจัดอันดับเครดิตแบบกลุ่ม (Group Rating Methodology) ของทริสเรทติ้งแล้วอันดับเครดิตของบริษัทจะเปลี่ยนไปตามอันดับเครดิตของบริษัทแม่ โดยการเปลี่ยนแปลงใดใดที่กระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัทแม่ก็จะส่งผลต่ออันดับเครดิตของบริษัทตามไปด้วย

บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN)

อันดับเครดิตองค์กร: AA+

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

DTN187A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 AA+

DTN197A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 AA+

DTN207A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 AA+

DTN213A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 AA+

DTN217A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 AA+

DTN227A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 AA+

DTN237A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 AA+

DTN244A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 AA+

DTN257A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 AA+

DTN267A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 AA+

DTN274A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 AA+

DTN279A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 AA+

DTN299A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 AA+

แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๗:๐๐ เกษตรเขต 2 จับมือเกษตรจังหวัด 8 จังหวัด วางแผนขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี 2568 ในพื้นที่ภาคตะวันตก
๒๑:๔๒ เคาน์ดาวน์หลากบรรยากาศใจกลางกรุงเทพฯ ที่โรงแรมอีสติน แกรนด์ สาทร กรุงเทพฯ
๑๙ ธ.ค. หนิง ปณิตา นำทีม Dr.master ปฏิวัติวงการสินค้าดูแลเส้นผม! ปั้น Creator ให้เป็น Hair Master ตัวจริง
๒๐:๔๖ นักศึกษา มจพ.คว้า 2 เหรียญทอง หมากรุกไทยและหมากรุกอาเซียน กีฬาแห่งชาติ จันท์เกมส์ ครั้งที่ 49 ณ จังหวัดจันทบุรี
๑๙ ธ.ค. JAS Group จัดกิจกรรม JAS Virtual Run ก้าวสู่ปีที่ 42 อย่างยั่งยืน
๑๙ ธ.ค. เจียไต๋เดินหน้าจัด เจียไต๋ โซเชียล เดย์ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 รวมพลังเจียไต๋อาสาทั่วประเทศปลูกความยั่งยืนให้ชุมชน
๑๙ ธ.ค. กิฟฟารีน แนะนำไอเท็มเด็ด กิฟฟารีน อัลตร้า นอริชชิ่ง ลิป แอมพูล มาสก์ เติมความชุ่มชื้นให้ปากฉ่ำในช่วงฤดูหนาวนี้
๑๙ ธ.ค. 3 ร้านอาหารเครืออิมแพ็ค แนะนำเมนู Festive เชิญร่วมฉลองส่งท้ายปีกับเมนูแสนอร่อย ตั้งแต่ วันนี้ - 31 ธันวาคม
๑๙ ธ.ค. กิฟฟารีน แนะนำไอเท็มเด็ด กิฟฟารีน กิฟฟี่ ฟาร์ม คิดส์ เจล ทูธเพสท์ สำหรับเด็กๆ
๑๙ ธ.ค. โคคา-โคล่า ไทยน้ำทิพย์ นำโรงงานรังสิตคว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่นประเภทการจัดการพลังงาน ชูนวัตกรรมด้านความยั่งยืนในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม