1. การประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการ ADBครั้งที่ 51จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 3-6พฤษภาคม 2561ภายใต้หัวข้อ "Linking People and Economies for Inclusive Development"โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ว่าการ ADB ของไทย ได้มีสุนทรพจน์โดยกล่าวถึงความท้าทายที่มีต่ออัตราการ
จ้างงานเมื่อมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ทดแทนแรงงาน และสนับสนุนบทบาทของ ADB ในการส่งเสริมการพัฒนาทักษะและคุณภาพแรงงานในประเทศสมาชิกเพื่อปรับตัวให้เข้ากับพัฒนาการด้านเทคโนโลยีพร้อมทั้งยกตัวอย่างประสบการณ์ของประเทศไทยในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เข้ากับพัฒนาการทางเทคโนโลยีเช่น การส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC)การนำเทคโนโลยีมาใช้ในโครงการ National E-Payment เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มความโปร่งใสในการโอนเงินและรับสวัสดิการภาครัฐ และการพัฒนาระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกภาคเอกชนและธุรกิจ เป็นต้น
2.ในการหารือโต๊ะกลมของผู้ว่าการ ADB ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 4พฤษภาคม 2561ภายใต้หัวข้อ "The Role of Government in Harnessing New Technologies for Inclusive Growth" ได้มีการหารือถึงแนวทางนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มอัตราการเติบโตของการผลิต (Productivity Growth)
พร้อมทั้งพิจารณาผลกระทบจากการใช้เทคโนโลยีที่มีผลต่อการจ้างงาน มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องของประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะนโยบายที่จะนำไปสู่การลดความยากจนและขจัดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะของแรงงานให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป การมีระบบคุ้มครองทางสังคม และการกระจายรายได้
3. ในการประชุมระหว่างนาย TakehikoNakaoประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย กับผู้ว่าการของประเทศสมาชิก (Governors' Plenary) เมื่อวันที่ 5พฤษภาคม 2561ในหัวข้อ "ADB Strategy 2030" ที่มีการนำเสนอยุทธศาสตร์ของ ADB โดยยังคงเป้าหมายสูงสุดที่จะขจัดความยากจนแร้นแค้น (Extreme Poverty) และขยายเป้าหมายให้ครอบคลุม "เพื่อบรรลุความมั่งคั่งมีการพัฒนาอย่างทั่วถึงมีความมั่นคงและยั่งยืนของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก" (Achieve a prosperous, inclusive, resilient, and sustainable Asia and the Pacific) โดยเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนอย่างมีคุณภาพ สร้างอาชีพและโอกาสให้กับประชาชน ทั้งนี้ การดำเนินการหลักของ ADB ยังคงเน้นการพัฒนาภาคสังคมและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยในด้านโครงสร้างพื้นฐาน จะเน้นสนับสนุนการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสำหรับภาคสังคมจะส่งเสริมการพัฒนาระบบการศึกษา สาธารณสุข และการคุ้มครองทางสังคม (Social Protection) โดยจะเน้นเรื่องการเข้าถึงพลังงาน การขนส่ง น้ำสะอาด และบริการสาธารณสุข ของประชากรในกลุ่มยากจน ผู้หญิง และกลุ่มอ่อนแออื่นๆ
4. ในระหว่างการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ร่วมหารือทวิภาคีกับผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรการเงินระหว่างประเทศ และสถาบันการเงินชั้นนำของต่างประเทศ เช่นADBบริษัทหลักทรัพย์ Nomura ธนาคาร HSBC และ ธนาคาร MUFGเพื่อหารือถึงสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจการเงินโลก ภาวะเศรษฐกิจของไทยและนโยบายของรัฐบาลในระยะต่อไป โดยสถาบันการเงินเหล่านี้มีความเชื่อมั่นในศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยและพร้อมที่จะร่วมมือกับประเทศไทยในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
5. นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยังได้เข้าร่วมการประชุม AFMGM+3 เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2561โดยมีประเด็นการหารือที่สำคัญ ดังนี้
5.1 ภาวะเศรษฐกิจโลกและสถานการณ์เศรษฐกิจในภูมิภาคเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน+3 จะยังเติบโตได้ดีและมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในภาพรวมต่อไปโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปและสหรัฐฯประกอบกับเสถียรภาพของเศรษฐกิจภายในประเทศสมาชิกทั้งในด้านอัตราเงินเฟ้ออุปสงค์ภายในประเทศและการส่งออกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการปฏิรูปเชิงโครงสร้างและการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี ยังมีความท้าทายจากนโยบายปกป้องทางการค้าของสหรัฐฯและความไม่แน่นอนของทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออกรวมถึงความผันผวนในภาคการเงินของภูมิภาคอาเซียน+3 ได้ซึ่งที่ประชุมได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการเงินในภูมิภาค และกฎกติกาของพหุภาคีรวมทั้งไม่สนับสนุนมาตรการปกป้องทางการค้าในทุกรูปแบบนอกจากนี้สมาชิกควรให้ความสำคัญในการใช้นโยบายผสมผสานระหว่างนโยบายการคลัง นโยบายการเงิน นโยบายด้านเงินทุนเคลื่อนย้าย ร่วมไปกับการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจและการเงิน และเพื่อความยั่งยืนของเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกและของภูมิภาคอาเซียน+3
5.2 กรอบความร่วมมือทางการเงินอาเซียน+3 ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าและแนวทางการพัฒนาความร่วมมือด้านต่าง ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ (1) การทบทวน (Periodic Review) ความตกลงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM)โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการให้ความช่วยเหลือทางการเงินผ่านกลไก CMIM ร่วมกับความช่วยเหลือของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund Linked Portion: IMF Linked Portion)เพื่อให้เกิดความสอดคล้องด้านการดำเนินการระหว่างกลไก CMIM และ IMF(2) การดำเนินงานของสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3Macroeconomic Research Office: AMRO)ตามภารกิจหลัก ยุทธศาสตร์ และแผนการดำเนินงานระยะกลางถึงระยะยาว (Strategic Direction and Medium to Long Term Plan) รวมทั้งนโยบายที่สำคัญในด้านต่าง ๆ ของ AMRO และ (3) การดำเนินงานภายใต้มาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Markets Initiative: ABMI) นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ยืนยันถึงจุดยืนในการเสริมสร้างความร่วมมือทางด้านการเงินเพื่อเพิ่มความสามารถและความพร้อมของประเทศสมาชิกในการรับมือกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ โดยรับทราบความคืบหน้าของการจัดตั้งกองทุน )Risk Pool) ประกันภัยพิบัติของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(the Southeast Asia Disaster Risk Insurance Facility: SEADRIF) ซึ่งปัจจุบันมีประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และสาธารณรัฐสิงคโปร์ เข้าร่วมเป็นสมาชิก
การประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการ ADB ครั้งต่อไปจะจัดขึ้น ณ เมืองนาดี สาธารณรัฐฟิจิ
ในต้นเดือนพฤษภาคม 2562 โดยสาธารณรัฐฟิจิจะเป็นเจ้าภาพ และในโอกาสเดียวกันจะมีการประชุม AFMGM+3 ครั้งที่ 22ซึ่งสาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศไทยจะเป็นประธานร่วมกัน