พช. แจงบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีฯ ไม่มีเลิกกิจการ ยังเดินเครื่องเต็มสูบทั้ง 77 บริษัท สร้างรายได้แล้วกว่า 1 พันล้าน

อังคาร ๐๘ พฤษภาคม ๒๐๑๘ ๑๕:๔๙
นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน มอบหมายให้นายโชคชัย แก้วป่อง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนเป็นผู้แถลงข่าวชี้แจงประเด็น : ผลประกอบการ บมจ.ประชารัฐฯ ณ ห้องประชุม 5001 ชั้น 5 กรมการพัฒนาชุมชน

นายโชคชัย กล่าวว่า ตามที่มีแหล่งข่าวได้นำเสนอผลประกอบการของบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ขาดทุนฯ ในสาระสำคัญโดยอ้างข่าวของหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ประจำวันที่ 5พฤษภาคม 2561 ที่รายงานว่า แหล่งข่าวจากบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) ได้เปิดเผยว่า บมจ.ประชารัฐหลายจังหวัดทั่วประเทศ ขณะนี้กำลังอยู่ในสภาพขาดการขับเคลื่อน บางจังหวัดเพียงรอจ่ายเงินให้หมดแล้วยุติกิจกรรม และบางจังหวัดกว่า 80% ได้ทำเรื่องถึงผู้ลงทุนเพื่อคืนเงินหุ้น แล้วยุติกิจการ ขณะเดียวกันมี บมจ.ประชารัฐ เพียง 20% ที่มีการขับเคลื่อนกิจกรรมงานในกรอบที่ต่อเนื่อง เนื่องจากขาดเงินทุน ขาดการสนับสนุนอย่างจริงจัง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมทั้งหมดต้องออกเอง รวมถึงขาดบุคลากรในการทำงานต่าง ๆ นั้น

นายโชคชัยกล่าวว่า การจัดตั้งบริษัทประชารัฐ รักสามัคคีจังหวัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัดนั้น มีที่มาจากรัฐบาลกำหนดนโยบายสำคัญเร่งด่วนคือ "ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมให้สังคม" โดยดำเนินนโยบายคือ "สานพลังประชารัฐ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก" ใช้พลัง "ประชารัฐ" เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน โดยมีหลักสำคัญ คือ ชุมชนลงมือทำ > เอกชนขับเคลื่อน > รัฐบาลสนับสนุน ซึ่งยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนวิสาหกิจเพื่อสังคม ประกอบด้วย 1 เป้าหมาย ดำเนินงานโดยมุ่งสู่เป้าหมายเดียว คือ สร้างรายได้ให้กับชุมชน เพื่อประชาชนมีความสุข, 3 กลุ่มงาน มีกิจการใน 3 เรื่อง คือ การเกษตร การแปรรูป และการท่องเที่ยวโดยชุมชน และ 5 กระบวนการ คือ การเข้าถึงปัจจัยการผลิต การบริหารจัดการ การสร้างองค์ความรู้ การตลาดและการสื่อสารสร้างการรับรู้

การจัดตั้งบริษัทประชารัฐรักสามัคคี (จังหวัด) ครบทั้ง 76 จังหวัด ในรูปบริษัทที่เป็นไปตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ต้องมีคณะกรรมการซึ่งมาจากภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ ร่วมรับผิดชอบบริหารจัดการบริษัท และบริษัทประชารัฐรักสามัคคี (จังหวัด) จะทำหน้าที่ค้นหาชุมชนที่มีศักยภาพและมีความพร้อมที่จะเข้าร่วมดำเนินการ และอีก 1 ส่วนกลาง คือ มีบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีวิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทกลาง ทำหน้าที่สนับสนุนช่วยเหลือเรื่องการบริหารจัดการและการตลาด และขณะนี้ยังมีการดำเนินการตามปกติทั้ง 77 บริษัท

"ในประเด็นที่ว่า บริษัท ประชารัฐ รักสามัคคีจังหวัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ขอยุติกิจการ และคืนเงินหุ้นนั้น กรมการพัฒนาชุมชนขอชี้แจงว่า ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ทุกจังหวัด บริษัทประชารัฐ รักสามัคคีจังหวัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ทั้ง 77 บริษัท ยังมีการดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่องไม่เป็นไปตามข่าวที่มีการขอยุติและคืนหุ้นแม้แต่แห่งเดียว ไม่มีจังหวัดใดแจ้งยุติการดำเนินงาน ซึ่งการยกเลิกกิจการบริษัทต้องปฏิบัติตามระเบียบของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

นอกจากนี้ ยังได้มีการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยมีข้อมูลผลการดำเนินงานถึงเดือนเมษายน 2561 ทุกจังหวัด (77 บริษัท) โดยมีการพัฒนากลุ่มเป้าหมาย จำนวน 3,685 กลุ่ม สร้างรายได้รวม 1,653,130,058 บาท ผู้ได้รับประโยชน์ จำนวน 614,180 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่มงาน ดังนี้ เกษตร 955 กลุ่ม เกิดรายได้656,628,008 บาท, แปรรูป 1,898 กลุ่ม เกิดรายได้ 752,510,153 บาท, ท่องเที่ยวโดยชุมชน 832 กลุ่ม เกิดรายได้ 243,991,897 บาท หากพื้นที่ต้องการรับการสนับสนุนสามารถเสนอกลุ่มเป้าหมายให้คณะกรรมการประสานและขับเคลื่อนนโยบายสานพลังประชารัฐ ประจำจังหวัด (คสป.) พิจารณาสนับสนุน

ในประเด็นที่ว่า บริษัทประชารัฐ รักสามัคคีจังหวัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ขาดเงินทุน ขาดการสนับสนุนอย่างจริงจัง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมทั้งหมดต้องออกเอง รวมถึงขาดบุคลากรในการทำงานต่างๆ นั้น กรมการพัฒนาชุมชนขอชี้แจงว่า บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีจังหวัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทุกบริษัทฯ มีงบประมาณที่เป็นหุ้นที่ระดมทุนจากภาคเอกชน และคนในจังหวัด สามารถระดมทุนได้เฉลี่ยจังหวัดละ 4 ล้านบาท บริษัทฯ สามารถกำหนดแนวทางการบริหารงาน การบริหารค่าใช้จ่าย ดำเนินงานได้เองโดยอิสระ ซึ่งแนวทางการบริหารทุกอย่างต้องเป็นไปตามข้อตกลงและมติจากที่ประชุมของผู้ถือหุ้น

ในด้านบุคลากร บริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) มีคณะกรรมการบริษัท 5 - 10 คนมาจากหลายภาคส่วนทำหน้าที่บริหารงาน และมีเจ้าหน้าที่ทำงานประจำที่เรียกว่า นักพัฒนาธุรกิจ ทุกจังหวัดๆ ละ 1-2 คน รวมทั้งมีคณะกรรมการประสานและขับเคลื่อนนโยบายสานพลังประชารัฐประจำจังหวัด (คสป.) เป็นที่ปรึกษา ซี่งในปัจจุบันยังคงมีการดำเนินงานอยู่อย่างปกติ และมีการประชุมเพื่อติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

ส่วนการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐนั้น กรมการพัฒนาชุมชน ให้การสนับสนุน โดยได้จัดทำโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับ 3 กลุ่มงานหลัก เพื่อช่วยหาและสร้างช่องทางการตลาดให้แก่ชุมชนเป้าหมาย การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน ในกรณีที่ชุมชนเป้าหมายการพัฒนายังมีความต้องการได้รับการสนับสนุน สามารถที่จะเสนอความต้องการเข้าสู่แผนพัฒนาจังหวัดและแผนในระดับต่าง ๆ ได้ซึ่งมีงบประมาณรองรับอยู่แล้ว

กรมการพัฒนาชุมชนได้ให้สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มหาวิทยาลัยรังสิต Yunus Center AIT สถาบันไทยพัฒน์ และมูลนิธิสัมมาชีพ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์2561 ทำการศึกษาโครงการค้นหาต้นแบบการต่อยอด และขยายผลความสำเร็จการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ โดยรายงานการวิจัย พบว่า การดำเนินงานโดยบริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) และ บริษัทประชารัฐ - รักสามัคคีวิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด สามารถสร้างและเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน เป็นแนวทาง ในการพัฒนาต่อยอดสินค้าให้เชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจ และเป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่เหมาะสม"

นายโชคชัยกล่าวถึงแนวทางการพัฒนาต่อไปในอนาคตด้วยว่า ขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างการออกกฎหมายพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ......เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานของบริษัทฯนอกจากนี้ภาครัฐมีการสนับสนุนให้บริษัทฯ พัฒนาแผนธุรกิจเพื่อสร้างรายได้ให้กับบริษัทฯ แล้วนำรายได้ไปขยายผลในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอีกด้วย

"บริษัท ประชารัฐ รักสามัคคี เป็นการร่วมมือกันทุกภาคส่วนของคนในพื้นที่ที่มีความพร้อมและต้องการช่วยคนในจังหวัดที่ยังต้องการความช่วยเหลือ ผู้ที่ด้อยโอกาสและยากจน เป็นการจัดโครงการ ที่มีกฎหมายรองรับและมีความต่อเนื่องการทำงาน ข่าวที่ปรากฎว่า มีการขาดสภาพการขับเคลื่อน รอจ่ายเงินให้หมดแล้วยุติกิจกรรม จึงเป็นข่าวที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงแต่อย่างใด" รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนกล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม