“บิ๊กฉัตร” ไฟเขียวระบบตรวจเอกสารแจ้งเข้า-ออกศูนย์ PIPO เอื้อชาวประมง

พุธ ๐๙ พฤษภาคม ๒๐๑๘ ๑๖:๓๘
ชาวประมงเฮ หลัง "พลเอกฉัตรชัย" สั่งพัฒนาระบบตรวจเอกสารแจ้งเข้า-ออกทำประมง ยันไม่กระทบประสิทธิภาพระบบตรวจประมงผิดกฎหมาย เตรียมเสนอเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขประมงไอยูยู คาดมีผล 17 พ.ค.นี้ ด้านสมาคมประมงวอนรัฐพิจารณามาตรการเร่งซื้อเรือคืน

วันนี้ ( 9 พ.ค.61) เวลา 14.30 น. พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับ นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย พร้อมนำคณะกรรมการสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยชุดใหม่เข้าพบ ณ ห้องประชุม 302 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ว่า ตามที่ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของศูนย์รับแจ้งเข้า-ออกการทำประมง (PIPO) ประชุมหารือร่วมกับสมาคมประมงแห่งประเทศไทย เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการพัฒนาปรับปรุงระบบการตรวจเอกสารแจ้งเข้า-ออกเรือประมง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ชาวประมง และผู้ประกอบการประมงให้เกิดความรวดเร็ว และสะดวกมากยิ่งขึ้นนั้น

เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและสมาคมประมงฯ หารือในแนวทางปฏิบัติร่วมกันในการพัฒนาระบบการตรวจเอกสารแจ้งเข้า-ออกเรือประมงให้สะดวก รวดเร็ว สอดคล้องกับสถานการณ์จริงในพื้นที่ และไม่ขัดกับข้อกฎหมาย โดยในส่วนเอกสารทั้งหมด 17 รายการ พบว่า มีจำนวน 10 รายการที่เจ้าหน้าที่ศูนย์ PIPO สามารถสืบค้นได้จากระบบฐานข้อมูลในคอมพิวเตอร์ได้ทันที เช่น ทะเบียนลูกจ้าง บัญชีคนประจำเรือ ใบรายงานตัวลูกจ้าง สัญญาจ้างแรงงาน ทะเบียนเรือ ใบอนุญาตใช้เรือ เป็นต้น แต่ยังให้คงเอกสารตรวจเรือประมงที่ชาวประมงต้องสำแดงจำนวน 7 รายการ ได้แก่ บัญชีรายชื่อคนประจำเรือ (Seabook) สมุดบันทึกการทำประมง (Logbook) ใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าว แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ การจ่ายค่าจ้าง ดังนั้น การปรับลดขั้นตอนการแสดงเอกสารดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด แต่ชี้ให้เห็นถึงการพัฒนาปรับปรุงระบบการตรวจสอบและจัดเก็บข้อมูลฐานของภาครัฐที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย

" การปรับระบบการตรวจเอกสารเข้า-ออกเรือประมงของศูนย์รับแจ้งเข้า-ออกการทำประมง (PIPO) จะถูกนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายพิจารณาในวันที่ 16 พ.ค.นี้ เพื่อให้มีผลปฏิบัติทันทีตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการลดภาระและอำนวยความสะดวกให้กับชาวประมง และมั่นใจว่ามาตรการนี้จะทำให้ชาวประมงที่ปฏิบัติดีได้รับความสะดวก ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่จะสามารถดำเนินการกับผู้กระทำผิดได้โดยตรงมากยิ่งขึ้น และแสดงให้เห็นถึงการกำกับดูแลการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมายที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2559 มีการพัฒนาระบบการควบคุมการประมงและแรงงานดีขึ้น สามารถแยกน้ำดีออกจากน้ำเสียได้อย่างชัดเจน" พลเอกฉัตรชัย กล่าว

พลเอกฉัตรชัย กล่าวเพิ่มเติมถึง ข้อเสนอของทางสมาคมฯ ให้รัฐบาลเร่งรัดการรับซื้อเรือคืนนั้น พบว่า ปัจจุบันมีเรือประมงที่ไม่มีใบอนุญาตถูกล็อกอยู่ที่ท่า จำนวน 766 ลำ มีตั้งแต่ขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ ซึ่งได้สั่งการให้กรมเจ้าท่าและกรมประมงเร่งรัดติดตามเรือประมงที่ยังไม่ทราบสถานะที่ชัดเจน ให้เสร็จสิ้นภายใน 3 เดือน เพื่อให้ได้จำนวนเรือชัดเจนแน่นอน ที่รัฐจะต้องใช้มาตรการบริหารจัดการ เช่น การควบรวมเรือ การแลกเปลี่ยนเรือ และการซื้อเรือคืน เพื่อให้แก้ปัญหาได้ตรงความต้องการของชาวประมงที่เป็นเจ้าของเรือแต่ละประเภท อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯ พิจารณาดำเนินการต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม