สมาคมมะเร็งนรีเวชไทยจับมือโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ จัดโครงการ Whisper of Ovary “มะเร็งรังไข่เป็นภัยเงียบ ควรใส่ใจตรวจภายในทุกปี” รณรงค์หญิงไทยใส่ใจสุขภาพเพื่อพ้นภัยมะเร็งรังไข่

พฤหัส ๑๐ พฤษภาคม ๒๐๑๘ ๑๒:๔๒
สมาคมมะเร็งนรีเวชไทยผนึกกำลังโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ร่วมสร้างความตระหนักรู้ถึงภัยเงียบของมะเร็งรังไข่ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 1 ในบรรดามะเร็งนรีเวชทั่วโลก โดยจัดโครงการ "มะเร็งรังไข่เป็นภัยเงียบ ควรใส่ใจตรวจภายในทุกปี" พร้อมเปิดตัวภาพยนตร์โฆษณา ภายใต้แคมเปญ "Whisper of Ovary – เสียงกระซิบจากรังไข่" ซึ่งได้รับเกียรติจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยานรีเวช และดารานักแสดงชื่อดังร่วมรณรงค์ในโครงการฯ เพื่อให้สังคมไทยได้ตระหนักรู้ถึงอันตรายของมะเร็งรังไข่ และช่วยกันสร้างเกราะป้องกันให้ผู้หญิงไทยห่างไกลจากโรคร้ายนี้โดยสามารถรับชมได้ที่เฟสบุคแฟนเพจโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ (https://www.facebook.com/chulabhornhospital/videos/1882116408525328/)

ศาสตราจารย์ นายแพทย์จตุพล ศรีสมบูรณ์ นายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย มะเร็งรังไข่เป็นโรคมะเร็งสตรีที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 3 รองจากมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูก จากสถิติในแต่ละปีจะมีผู้หญิงไทยเป็นมะเร็งรังไข่ประมาณ 2,700 คน หรือใน 100,000 คนจะมี 6 คนที่เป็นโรคนี้และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 2 (ร้อยละ 53) ในบรรดามะเร็งนรีเวชรองจากมะเร็งปากมดลูก (ร้อยละ 55)

"สาเหตุที่ผู้หญิงมีอัตราการเสียชีวิตด้วยมะเร็งรังไข่สูงเนื่องจากในระยะแรกของโรคนี้จะไม่มีอาการบ่งบอกที่แน่ชัด แต่จะมีอาการคล้ายคลึงกับอาการของโรคอื่นๆ ที่รุนแรงน้อยกว่า เช่น ปวดท้อง ท้องอืด ท้องบวม ปวดอุ้งเชิงกราน กว่าคนไข้จะได้รับการวินิจฉัยแน่ชัดว่าเป็นมะเร็งรังไข่ มะเร็งได้ลุกลามไปยังอวัยวะภายในอื่นๆ แล้ว จากสถิติพบว่าร้อยละ 64 ของผู้ป่วยมะเร็งรังไข่จะตรวจพบมะเร็งในระยะลุกลามแล้ว อีกทั้งมะเร็งรังไข่ยังไม่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน การส่งเสริมการรับรู้และสร้างความตระหนักถึงภัยเงียบที่ไร้สัญญาณเตือนนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ"

ด้วยเหตุนี้ สมาคมมะเร็งนรีเวชไทย และศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ในฐานะโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านโรคมะเร็งที่สืบสานการดำเนินงานตามพระปณิธานในศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในการเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนชาวไทย โดยมุ่งหวังให้โรงพยาบาลแห่งนี้เป็นศูนย์ชำนาญการด้านการศึกษาวิจัยและการรักษาโรคมะเร็งของประเทศไทย จึงผนึกกำลังจัดโครงการ Whisper of Ovary "มะเร็งรังไข่เป็นภัยเงียบ ควรใส่ใจตรวจภายในทุกปี" เพื่อตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของทั้งสององค์กรในการรณรงค์ให้คนในสังคมตระหนักรู้ถึงภัยร้ายของโรคมะเร็งรังไข่ และเชิญชวนให้ผู้หญิงไทยเข้ารับการตรวจภายในและพบสูตินรีแพทย์เป็นประจำทุกปี เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตด้วยภัยเงียบ

นายแพทย์ณัฐวุฒิ กันตถาวร แพทย์เฉพาะทาง สาขามะเร็งวิทยานรีเวช ศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า "มะเร็งรังไข่เกิดจากหลายๆ ปัจจัย อาทิ อายุ สภาพแวดล้อม ไลฟ์สไตล์ ปัจจุบันพบว่าความผิดปกติที่สืบทอดทางพันธุกรรมยังเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดมะเร็งรังไข่ จากสถิติพบว่าผู้หญิงที่มีความผิดปกติ หรือการกลายพันธุ์ของยีน BRCA1 และ BRCA2 จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งรังไข่สูงถึง 35-70% และ 10-30% ตามลำดับในขณะที่บุคคลทั่วไปมีความเสี่ยงเพียง 1-2%"

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองที่สามารถตรวจจับมะเร็งรังไข่ได้ตั้งแต่ยังไม่แสดงอาการ อีกทั้งมะเร็งรังไข่ไม่มีอาการที่เฉพาะแน่นอน ดังนั้นผู้หญิงทุกคนจึงควรตรวจภายใน และพบสูตินรีแพทย์เป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวหรือญาติใกล้ชิดเป็นมะเร็งรังไข่หรือมะเร็งเต้านมตั้งแต่อายุยังน้อย ปัจจุบันเราสามารถตรวจหาความผิดปกติของยีน BRCA ในผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ ซึ่งผู้ป่วยที่ตรวจพบความผิดปกติของยีนนี้จะมีโอกาสที่บุคคลในครอบครัว และญาติใกล้ชิดมีความผิดปกติของยีนเช่นเดียวกัน เนื่องจากความผิดปกตินี้เป็นการถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบลักษณะเด่น การค้นพบความผิดปกติของยีน BRCA ตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้สามารถคาดการณ์ เฝ้าระวัง และลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งรังไข่ได้ เช่นกรณีของนักแสดงฮอลลีวูดชื่อดัง แองเจลิน่า โจลี ที่ได้ตัดสินใจผ่าตัดเต้านมทั้งสองข้างรวมทั้งมดลูกและท่อรังไข่ออก เนื่องจากมีประวัติทั้งยาย ป้า และแม่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง และเมื่อตรวจสอบทางพันธุกรรมยังพบว่าตัวเองมียีนที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม และมะเร็งรังไข่สูงถึง 87% และ 50% ตามลำดับ

"การตรวจความผิดปกติยีน BRCA สามารถตรวจได้ที่โรงพยาบาลรัฐชั้นนำ แต่จะมีค่าใช้จ่ายสูง แพทย์จึงแนะนำให้ตรวจทางพันธุกรรมเฉพาะผู้ที่มีข้อบ่งชี้เฉพาะ เช่น ผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ทุกราย ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่อายุน้อยกว่า 50 ปี มีญาติสายตรงในครอบครัวมากกว่า 2 คนขึ้นไปป่วยเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ตรวจพบความผิดปกติของยีน BRCA1 หรือ BRCA2 ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นมะเร็งเสมอไป เพียงแต่จะมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้หญิงทั่วไปเท่านั้น การตรวจพบความผิดปกติของยีนชนิดนี้ตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้สามารถดูแล เฝ้าระวัง และจัดการกับชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสิ่งสำคัญคือ ไม่ว่าจะมีความผิดปกติของยีนหรือไม่ ขอแนะนำให้ผู้หญิงทุกคนดูแลรักษาสุขภาพ หมั่นสำรวจร่างกายตัวเองอย่างสม่ำเสมอ และเข้ารับการตรวจภายในและพบสูตินรีแพทย์เป็นประจำทุกปีเพราะมะเร็งรังไข่ รู้ไว รักษาได้" นายแพทย์ณัฐวุฒิ กล่าว

นอกจากนี้ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมสานต่อพระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี สร้างโอกาสให้ผู้ป่วยมะเร็งยากไร้และด้อยโอกาสได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ได้มาตรฐาน สร้างเสริมสุขภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วยมะเร็ง ผ่านการสมทบทุนชื่อบัญชี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โครงการ "สานต่อที่พ่อให้ทำ เพื่อผู้ป่วยมะเร็งด้อยโอกาส" ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่บัญชี 407-985846-8 หรือ ธนาคารกรุงเทพ เลขที่บัญชี 229-4152-588 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โทร 02-576-6833-6

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ