นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ในช่วงเปิดเทอม เด็กๆ ต้องไปโรงเรียน และใช้เวลาส่วนใหญ่ทำกิจกรรมอยู่ในโรงเรียน และด้วยนิสัยซุกซน รู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเด็กๆ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นขณะอยู่ภายในโรงเรียนได้ ครู หรือบุคลากรของโรงเรียนควรเฝ้าระวังนักเรียน เพื่อลดความเสี่ยงจากอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับเด็กๆ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สนามเด็กเล่น เป็นจุดเสี่ยงจุดอันตราย ลำดับต้นๆ ที่พบปัญหาเกิดอุบัติเหตุกับเด็กๆ มากที่สุด เพราะพื้นที่สนามเด็กเล่นเป็นบริเวณที่เด็กๆ ชอบเป็นพิเศษ เนื่องจากมีเครื่องเล่นให้สนุกกันเต็มที่ และยิ่งสนุกก็ยิ่งขาดความระวัง ซึ่งโรงเรียนต้องหมั่นตรวจสอบดูแลและเฝ้าระวังให้มากที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ผู้ประกอบการโรงเรียนทั้งภาครัฐและเอกชน จึงต้องตระหนักถึงข้อกำหนดเบื้องต้นของอุปกรณ์เครื่องเล่นสนาม วัสดุการเลือกใช้ และการจัดเตรียมพื้นสนามเด็กเล่น และรายละเอียดย่อยของอุปกรณ์ปีนป่าย อุปกรณ์เคลื่อนไหว ชิงช้า กระดานลื่น และเครื่องเล่นชุดรวม รวมทั้งแนวทางของการติดตั้ง ตรวจสอบ บำรุงรักษาเครื่องเล่นให้อยู่ในสภาพดี พร้อมใช้งาน โดยเครื่องเล่นต้องมีการยึดรากฐานให้มั่นคง ไม่ชำรุด พื้นผิวของเครื่องเล่นต่างๆ ต้องไม่มีรอยแตกหักหรือมีส่วนที่ยื่นออกมาก่อให้เกิดอันตราย เช่น แผ่นเหล็กโผล่ยื่น มีเสี้ยนไม้ สีที่ใช้ทาต้องไม่หลุดลอกหรือเก่าจนขึ้นสนิม
"สำหรับการป้องกันการบาดเจ็บจากเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น ควรประกอบด้วยเครื่องเล่นที่ปลอดภัย เหมาะสมกับวัยและพัฒนาการของเด็ก ซึ่งไม่ควรสูงเกิน 120 เซนติเมตร พื้นสนามเด็กเล่น ต้องเป็นพื้นเรียบและปูด้วยวัสดุอ่อน เช่น ทราย ยางสังเคราะห์ เป็นต้น เพราะจะช่วยรองรับแรงกระแทก หากเด็กพลัดตกจากเครื่องเล่น ต้องตรวจสอบว่าเครื่องเล่นยึดติดกับพื้นอย่างแน่นหนาหรือไม่ โดยเฉพาะเครื่องเล่นที่หมุนหรือเคลื่อนที่ได้ เช่น ลูกโลก ชิงช้า เพื่อไม่ให้เครื่องเล่นล้มทับเด็ก หมั่นตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องเล่นให้อยู่ในสภาพที่มั่นคงแข็งแรงอยู่เสมอ หากพบเครื่องเล่นชำรุดควรรีบแจ้งช่างมาดำเนินการแก้ไขทันที และควรมีผู้ดูแลเด็กในขณะเล่น เช่น จัดพื้นที่สนามเด็กเล่นให้เป็นส่วน ทำรั้วรอบสนามเด็กเล่น ป้องกันไม่ให้เด็กแอบเข้าไปเล่นในช่วงที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแล ทั้งนี้ ผู้ปกครองควรดูแลและสอนบุตรหลานให้รู้จักระมัดระวังตัวเองและผู้อื่นในขณะเล่นด้วย" รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว