ดร. พยุง ศักดาสาวิตร ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทไทยออโตทูลส์ เปิดเผยว่า บริษัท ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เพื่อพัฒนาศักยภาพ ประสิทธิภาพในการผลิตบัณฑิตสาขาทางด้านวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ และสาขาอื่นๆ รวมถึงการวิจัยพัฒนา เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการบริหารจัดการ และบูรณาการในการผลิตบัณฑิตรุ่นใหม่ที่มีสมรรถนะเพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตในยุค 4.0 รวมถึงการวิจัยและพัฒนา และสร้างนวัตกรรมใหม่ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีระยะเวลาความร่วมมือต่อเนื่อง 3 ปี (พ.ศ.2561-2564)
"ภาคเอกชนมีความต้องการบุคลากร สาขาทางด้านวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ หรือทางด้านหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติ ค่อนข้างมาก และบุคลากรด้านนี้ยังขาดแคลนมาก ขณะที่อุตสาหกรรมรถยนต์กำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงการก้าวไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต และการก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 การที่จะสามารถแข่งขันหรือมีเทคโนโลยีที่ทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเกาหลี และประเทศไต้หวัน ได้ หัวใจสำคัญคือจะต้องเร่งพัฒนาบุคลากร เชื่อมั่นว่าความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน ซึ่งต้องการองค์ความรู้มาต่อยอด กับมหาวิทยาลัยที่มีอาจารย์ที่มีความรู้ในเชิงทฤษฎีค่อนข้างสูง แต่ขาดประสบการณ์ในการปฏิบัติงานจริงนี้ จะนำไปสู่การต่อยอด เกิดการวิจัยพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่ทำให้เกิดการผลิต การสร้างอุปกรณ์โดยใช้หุ่นยนต์ในต้นทุนที่ต่ำลงได้ แล้วก็เพิ่มในเรื่องของประสิทธิภาพได้ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพบัณฑิตด้วย "
ด้าน รศ.ดร. ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่าความร่วมมือในครั้งนี้มุ่งเน้นให้เกิดผลใน 3 ส่วนหลักคือหนึ่ง การพัฒนาอาจารย์ ที่แม้ว่าจะมีความรู้ทั้งทางด้านทฤษฎีและปฏิบัติ แต่ก็ยังขาดประสบการณ์การทำงานจริง สองการพัฒนาคุณภาพนักศึกษาให้เป็นบัณฑิตพันธุ์ใหม่ โดยส่งเข้าไปฝึกงานจริง เพื่อจะได้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านปฏิบัติ จบแล้วทำงานได้เลย และสามมุ่งเน้นให้เกิดการทำวิจัยพัฒนาร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในการผลิตเครื่องมือ อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพต่อการผลิตมากขึ้น
"ไม่ว่าจะเป็นการสอนหรือการปรับปรุงหลักสูตรอะไร สิ่งสำคัญที่สุดคือ อาจารย์จะต้องสามารถทำงานเป็น เพราะถ้าอาจารย์เก่ง เด็กก็จะเก่ง อาจารย์มือเปื้อนเด็กก็มือเปื้อน อาจารย์ทำงานเป็น เด็กก็ทำงานเป็น การเรียนในสายปฏิบัตินั้น ถ้าอาจารย์นั้นทำงานไม่เป็น ก็จะไม่สามารถจะถ่ายทอดการทำงานให้เด็กทำงานเป็นได้ อาจารย์จะไม่สามารถที่จะเข้าใจในเรื่องของแบบ หรือเรื่องการออกแบบ เมื่อมาสอนก็ไม่สามารถที่จะสอนให้เด็กนั้นออกแบบที่ดีได้ เราจึงเน้นให้อาจารย์ ไปหาประสบการณ์จริงในโรงงานของเอกชนเลย ส่วนการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่ คือ นอกจากพัฒนาให้นักศึกษาเป็นคนคิดเป็นทำเป็นแล้ว จะต้องอยู่พื้นฐานวิชาการที่ทันสมัย สามารถทำได้จริง และพัฒนาต่อยอดเป็นผู้ประกอบการได้ในอนาคต ดังนั้นการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จึงมีความสำคัญมาก เพราะ ทำให้ มหาวิทยาลัยได้พื้นที่การเรียนการสอนที่เป็นพื้นที่เสมือนจริง ของภาคอุตสาหกรรม เพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการพัฒนาบัณฑิตพันธุ์ใหม่ และจะทำให้อาจารย์และนักศึกษา มีความเข้าใจกระบวนการผลิต โดยเฉพาะชิ้นส่วนยานยนต์ อย่างลึกซึ้ง"
ด้าน ดร. พยุง ศักดาสาวิตร ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทไทยออโตทูลส์ กล่าวเพิ่มเติมว่า "การที่มหาวิทยาลัยเห็นความสำคัญเรื่องนี้ เป็นจังหวะที่เหมาะที่สุดแล้ว ซึ่งบริษัทพร้อมให้อาจารย์มาฝังตัว หาประสบการณ์จริง เพราะหากนำความรู้ในภาคทฤษฎี มาประยุกต์ใช้ในการทำงานได้ ก็จะทำเทคโนโลยีชั้นสูงขึ้นได้ เกิดเป็นผลงาน และสร้างนวัตกรรมใหม่ สามารถจับต้องได้ นำไปขายได้ ถ้าเป็นอย่างนี้ประเทศไทยก็จะพัฒนาทัดเทียมประเทศญี่ปุ่นได้ 10 ปี 20 ปี ขณะที่การพัฒนานักศึกษานั้น บริษัทก็จะเปิดโอกาสให้มาฝึกงานจริงให้นานถึง 1 ปี ให้มีความเชี่ยวชาญ รู้ลึก รู้จริง โดยทีมวิศวกรของบริษัทยินดีถ่ายทอดความรู้ให้อย่างเต็มที่"