ล่าสุด เมดฮับ นิวส์ medhubnews.com นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้สถานการณ์การใช้ยาลดความอ้วนของคนไทยอยู่ในขั้นน่าเป็นห่วง ซึ่งไม่เพียงก่อปัญหาผลกระทบทางกายของผู้ที่กินอย่างเดียวยังทำให้เกิดปัญหาทางจิตเวชด้วย
โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า(depression) ซึ่งเป็นภัยเงียบในสังคมไทย มีคนไทยป่วยประมาณ 1.5 ล้านคนแต่ยังมีกว่าร้อยละ 40 ที่ยังไม่เข้ารักษาเนื่องจากคนส่วนใหญ่มองว่าไม่ใช่โรค แต่เป็นลักษณะนิสัยของผู้ที่เข้าข่ายเรียบร้อยจึงมองข้ามปัญหานี้ไป
ผลสำรวจสุขภาพประชาชนไทยอายุ 15ปีขึ้นไปทั่วประเทศโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 5 พ.ศ. 2557 พบว่ามีผู้กินยาลดความอ้วนร้อยละ 1.5 คาดว่าประมาณ 790,000 คน พบสูงที่สุดในผู้หญิงอายุ 15-29 ปี ร้อยละ 5.3
ในยาลดความอ้วนที่มีส่วนผสมของสารอันตรายคือไซบูทรามีน ( sibutramine ) และ เฟนเทอมีน ( phentermine ) สารชนิดนี้ทำให้มีอาการทางประสาทอ่อนๆและจะมีมากขึ้นหากคนที่กินมีปัญหาที่เรียกว่า "โยโย่" คือมีพฤติกรรมกินอาหารเพิ่มมากขึ้นหลังจากหยุดกินยาลดน้ำหนัก ซึ่งร่างกายต้องการสารอาหารเข้าไปทดแทนส่วนที่หายไป เนื่องจากในขณะที่กินยาลดนั้นร่างกายไม่ได้รับสารอาหารเมื่อหยุดยาร่างกายจึงหลั่งสารเข้าไปกระตุ้นสมองให้มีความอยากอาหารมากขึ้นเป็น 2 เท่า ทำให้กินมากขึ้นและความอ้วนมากกว่าปกติ บางคนอาจมากกว่าเดิมถึง 2 เท่าตัว
อีกทั้ง เมื่อน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม จะทำให้เกิดความเครียดซ้ำเติมหนักขึ้นไปอีก อาจรู้สึกไม่อยากออกไปเจอใคร แยกตัวเอง และหันกลับไปกินยาตัวเดิมซ้ำอีก อาจจะเกิดการดื้อยากินแล้วไม่ได้ผล ต้องกินยาที่แรงขึ้น เสี่ยงอันตรายมากขึ้น
สำหรับสารไซบูทรามีน และสารเฟนเทอมีน ที่ทำให้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้นั้น เกิดจากฤทธิ์ยาจะไปกดสมองส่วนความอยากอาหาร ทำให้รู้สึกเบื่ออาหารและไม่อยากกินอาหาร น้ำหนักตัวจึงลดลง
นอกจากนี้ยายังมีผลทำให้เพิ่มระดับของสารสื่อประสาทสำคัญ 3 ตัว ซึ่งต้องทำงานอย่างสมดุลกัน คือสารซีโรโทนิน (serotonin) ที่ทำหน้าที่ในการควบคุมอารมณ์ความรู้สึก ความโกรธ ความหิว การรับรู้และความเจ็บปวด สารนอร์อิฟิเนฟฟรีน (norepinephrine) ซึ่งจะควบคุมการตื่นตัวกระตุ้นการทำงานของระบบประสาท และควบคุมการแสดงออกเวลาที่รู้สึกกลัว และสารโดปามีน (dopamine) จะควบคุมสมาธิ อารมณ์ ความรู้สึกคล้ายกันโดยปกติร่างกายของเราจะหลั่งสารออกมาในอัตราส่วนที่เท่าๆ กันหรือสมดุลกัน แต่หากร่างกายมีการหลั่งสารชนิดใดชนิดหนึ่งมากกว่ากัน ก็จะทำให้เกิดเป็นโรคซึมเศร้าได้และหากสารนี้ทำงานมากเกินปกติ อาจมีผลทำให้เกิดอาการหูแว่ว หวาดระแวง เห็นภาพหลอนได้เช่นกัน นำมาสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดในชีวิต เช่นการฆ่าตัวตายเป็นต้น
สำหรับผู้ป่วยเคสตัวอย่างรักษาที่รพ.ศรีธัญญา เล่าว่า เริ่มกินกาแฟลดความอ้วนปี 2553 ชื่อว่า กาแฟลดน้ำหนักดำสำหรับคนดื้อ ( ลดยาก ) หรือ Brazil Patent slimming Coffee ตอนแรกกินแล้วมีแรงทำงาน มีสมาธิใจจดจ่อในงาน ถ้าไม่หิว ไม่กินข้าวเลย แต่คอแห้ง ขับถ่ายยาก จากนั้น ปี 2554-2555 เริ่มรู้สึกวูบๆ และเหนื่อยง่ายก็หยุดกิน มีอาการเหม่อ แต่ยังเป็นไม่มากไม่รู้ว่าเป็นอะไร ไปหาหมอตามสิทธิประกันสังคม เขาส่งไปพบแพทย์ตรวจโรคนี้โน้นไปเรื่อยๆ ประมาณว่าเป็น ไทรอยด์ เบาหวาน กินยาอยู่นานพอสมควร อาการไม่ดีขึ้น มีอาการคือตกใจง่าย ขวัญอ่อน เป็นหลายอาทิตย์ก็ไม่หาย เหมือนจิตตก วันหนึ่งไปทำงาน สงสัยทำไมหิวง่าย หิวแล้วมือสั่น ปีนั้นโรคซึมเศร้ายังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย เราค้นข้อมูลอาการที่ เป็นจากกูเกิลเอง พบว่าเหมือนกับ โรคซึมเศร้า ดังนั้นจึงนั่งแท็กซี่ไปหาหมอที่ รพ.ศรีธัญญา หมอวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้และจ่ายยามาพอกินแล้วอาการหายหมด นอนหลับสบาย ไม่เครียด ไม่กังวล ดีใจมาก รู้สึกร่าเริงกว่าเดิม จากที่เคยขี้เกียจ กลายเป็นทำงาน มีประสิทธิภาพ พออาการดีขึ้น ปี 2555 ลดยาและปรับยาเอง ไม่ไปพบหมอตามนัด กลายเป็นว่าต้องกลับมาตั้งต้นใหม่เรื่อยๆ
วันหนึ่งขณะไปพบหมอที่ รพ.ศรีธัญญา มีความคิดแว่บขึ้นมาว่า ทำไมเราต้องวนเวียนมาที่นี่ เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ทำไมไม่มีชีวิตเหมือนวัยรุ่นคนอื่น เลยเข้ามาศึกษาโรคนี้จริงจัง
โดยอาชีพทำให้รู้จักจิตแพทย์เยอะ ก็เอาตำรามาศึกษา อยากรักษาตัวให้หายขาด ตั้งเป้าไว้ว่าปีนี้น่าจะลดปริมาณยาลงได้และปรับจนไม่ต้องกินยา ซึ่งมีความเป็นไปได้ ช่วงที่เรากินยาแล้วหาย อาการดี ก็ไปช่วยเหลือคนอื่นคือ มีกลุ่มปิดของคนเป็นโรคซึมเศร้ามาพูดคุยกันในเฟสบุ๊ค บางคนไม่กล้าไปหาหมอหรือรักษาเพราะอาย กลัว เพื่อนเห็นถุงยาว่าเป็นของโรงพยาบาลไหน บ้างก็มาปรึกษาด้วย อาการแย่แล้ว
"ผมคิดว่าคนไม่เป็นโรคนี้ไม่ควรให้คำปรึกษาใคร บางคนให้คำปรึกษา แบบผิดๆ เช่น ให้ไปเดินเล่น เปิดสมอง ปลูกต้นไม้ มันไม่ใช่แนวทาง การรักษาที่ถูกต้องๆ คือ ต้องไปหาหมอกินยาก่อน แล้วค่อยมาผ่อน คลาย เราก็แนะนำไปบ้างว่าไปพบหมอที่ไหนได้บ้าง ปัจจุบันไปหาหมออยู่เป็นประจำ คุณหมอ บอกว่าให้มาตามนัด อย่าปรับยาเอง โรคนี้อยู่ที่วินัยในการกินยา"