พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายในงานว่าคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2561 เห็นชอบมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยกระทรวงแรงงานได้รับมอบหมายให้ดำเนินการโครงการเพิ่มศักยภาพผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ และความมั่นคงในชีวิต มุ่งเป้า ฝึกอาชีพผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนกว่า 5 แสนราย ร่วมด้วยกรมการจัดหางาน ที่สนับสนุนการจัดหางานให้แก่ผู้ที่ที่มีรายได้น้อย และส่งเสริมการรับงานกลับไปทำที่บ้าน และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและสำนักงานประกันสังคม ดูแลให้ความคุ้มครองและส่งเสริมการเข้าสู่ระบบประกันสังคมให้แก่ผู้มีรายได้น้อยร่วมด้วย ส่วน กพร. ดำเนินการด้านการฝึกอาชีพ เพื่อเพิ่มทักษะให้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนฝึกอาชีพ ในหลักสูตรต่างๆ พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยอย่างครอบคลุมทั่วถึง เน้นความโปร่งใส สุจริต ตรวจสอบได้ทุกกระบวนการ
นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กล่าวต่อไปว่า ผู้มีรายได้น้อยที่ยื่นความจำนงฝึกอาชีพในหลักสูตรต่างๆ กว่า 50 กลุ่มหลักสูตร อาทิ การทำขนมไทย ช่างเชื่อมไฟฟ้า การประกอบอาชีพการแปรรูปผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน การเย็บจักรอุตสาหกรรม เป็นต้น ดำเนินการโดยหน่วยงานในสังกัดของ กพร. สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) แบ่งการฝึกอาชีพเป็น 2 กิจกรรม ได้แก่ ฝึกช่างอเนกประสงค์ (ช่างชุมชน) และฝึกอาชีพเสริม (อาชีพอิสระ) ซึ่งกิจกรรมแรกจะมอบเครื่องมือประกอบอาชีพให้แก่ผู้สำเร็จการฝึกด้วย เป็นการสนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อยมีอาชีพอย่างต่อเนื่องหลังจบการฝึก นอกจากนี้ยังมีความพร้อมทั้งด้านของวิทยากร สถานที่ คู่มือปฏิบัติงาน การจัดกลุ่มหลักสูตร กลุ่มเป้าหมายการฝึก การกำหนดสถานที่ฝึก มีคณะทำงานพัฒนาทักษะอาชีพระดับอำเภอ และทีมเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์เสนอแนะแผนที่ชีวิต ลงพื้นที่ประสานหน่วยงานในชุมชนเพื่อพบกลุ่มเป้าหมาย ประกบผู้มีรายได้น้อยทุกราย นัดหมายการเข้ารับการฝึกตามกำหนด ทั้งนี้ยังมีการเชื่อมโยงผู้ผ่านการฝึกอบรมไปยังกรมการจัดหางาน เพื่อส่งเสริมการมีงานทำ มีการติดตามผลการฝึกอบรมเพื่อต่อยอดการฝึกให้สามมารถมีอาชีพ และมีรายได้เพิ่มขึ้น
"เนื่องจากโครงการนี้ เป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญที่จะช่วยเหลือสร้างโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยได้มีทักษะมีอาชีพพ้นขีดความยากจน มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะอาชีพสู่การมีงานทำและมีอาชีพเสริม สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตได้อย่างแท้จริงและเห็นผลเป็นรูปธรรม ภายใต้กรอบกระบวนการที่มีคุณภาพ ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ให้ผู้มีรายได้น้อยทุกราย และพร้อมที่จะยกคุณภาพชีวิตเพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ และความมั่นคงในชีวิต อย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" อธิบดีกพร. กล่าว