ดร.นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ(สวช.)กล่าวว่า "โรคพิษสุนัขบ้า" เป็นโรคที่สามารถติดต่อได้จากสัตว์สู่คน เมื่อเป็นโรคและเกิดอาการแล้วผู้ป่วยจะเสียชีวิตทุกราย และโดยธรรมชาติทางระบาดวิทยา การกวาดล้างโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากโลกกระทำได้ยาก เพราะเชื้ออยู่ในสัตว์ในธรรมชาติหลายชนิด ดังนั้นการฉีดวัคซีนทั้งในคนและในสัตว์จึงเป็นมาตรการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคที่สำคัญ แต่จากรายงานการเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้าของประเทศไทย พบว่าปัจจุบันสถานการณ์การระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ยังเป็นปัญหาทวีความรุนแรงมากขึ้น มีสัตว์ป่วยด้วยโรคนี้เป็นจำนวนมาก และมีคนป่วยเสียชีวิตทุกปี ปัจจัยที่ทำให้มีอัตราการเกิดโรคในสัตว์เพิ่มสูงขึ้นจากในอดีต สาเหตุหนึ่งอาจมาจาก ประเทศไทยยังประสบปัญหาการขาดแคลนวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสำหรับใช้ในพื้นที่ที่มีการระบาด เนื่องจากวัคซีนที่ใช้อยู่ในประเทศไทยทั้งหมดนำเข้าจากต่างประเทศและบริษัทผลิตวัคซีนมีอยู่จำนวนไม่กี่แห่ง แต่การระบาดของโรคส่วนใหญ่เกิดในภูมิภาคเอเชียซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด นอกจากนี้ธรรมชาติของการผลิตวัคซีนส่วนใหญ่ผลผลิตมีความไม่แน่นอน มีความเสี่ยงสูง และการผลิตต้องมีการวางแผนล่วงหน้าเป็นปีหรือหลายปี จึงทำให้เกิดปัญหาวัคซีนมีไม่เพียงพอสำหรับหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย นอกจากเกิดจากปัฐหาการขาดแคลนดังกล่าวแล้ว ปัญหายิ่งเลวร้ายมากขึ้นจากการที่ปริมาณการจัดซื้อวัคซีนในแต่ละปีโดยภาครัฐขาดความแน่นอน ทำให้ปริมาณการนำเข้าไม่สมดุลกับปริมาณความต้องการใช้ เมื่อมีการระบาดของโรคทำให้ไม่สามารถนำเข้าวัคซีนได้ทันท่วงที
กอปรกับประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันโรคในสัตว์อาจไม่สูงมากพอ เนื่องจากวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ใช้ในประเทศส่วนใหญ่ผลิตในแถบยุโรป และอเมริกา และปัจจุบันประเทศเหล่านี้ก็ไม่มีการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า จึงมีความเป็นไปได้ว่าวัคซีนที่นำมาใช้อาจเป็นคนสายพันธุ์อาจมีความแตกต่างกับที่ระบาดในไทย ทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคของวัคซีนไม่สูงเท่าที่ควร ทำให้ผู้ถูกสัตว์กัดต้องฉีดวัคซีนหลายเข็ม หรือการฉีดวัคซีนเพียงเข็มเดียวในสัตว์อาจทำให้มีประสิทธิภาพด้อยลงไปได้
จากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ประเทศไทยเกิดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนและความไม่ต่อเนื่องในการมีวัคซีนพิษสุนัขบ้าใช้ มีความเชื่อมโยงกับอุบัติการณ์ของโรคพิษสุนัขบ้าที่สูงขึ้น เป็นตัวอย่างที่สะท้อนถึงความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยควรจะสามารถผลิตวัคซีนได้เอง โดยในระดับชาติได้เน้นเรื่องการเสนอพระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญที่จะช่วยให้นโยบายและแผนยุทธศาสตร์ด้านต่างๆในการพัฒนาและการผลิตวัคซีนของประเทศมีความมั่นคง ดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง อันจะมีผลทำให้การวิจัยพัฒนาวัคซีนมีความยั่งยืนและประสบความสำเร็จในระยะยาว ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีบุคลากรที่มีศักยภาพเพียงพอระดับหนึ่งที่จะวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนได้อีกหลายชนิดเพิ่มจากเดิมที่ผลิตได้และส่งออกไปหลายประเทศแล้วในขณะนี้ ถือเป็นการสร้างความมั่นคงของประเทศในระยะยาว อีกทั้งการพัฒนาวัคซีนของไทย จะทำให้ได้วัคซีนที่ตรงกับเชื้อก่อโรคประจำถิ่น วัคซีนมีประสิทธิภาพที่จะนำมาใช้ในการป้องกันโรคสำหรับคนไทย ซึ่งนับเป็นการตอบสนองต่อพระปณิธานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ที่จะทำให้โรคพิษสุนัขบ้าหมดไปจากประเทศไทย จึงทรงรณรงค์ให้มีการขับเคลื่อนดำเนินโครงการ "สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า"
ดร.นพ.จรุง กล่าวเพิ่มเติมว่าจากการประชุมหารือการพัฒนาวิจัยและการผลิตวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) ครั้งที่ 2 ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสถาบันวัคซีนแห่งชาติฯเมื่อวันพุธ ที่ 25 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติให้ดำเนินการ "โครงการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า" โดยได้มอบหมายให้ ดร.ณรงค์ นิทัศน์พัฒนา สังกัดศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ทบทวนข้อมูลและนำเสนอแนวคิดในการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทั้งในคนและในสัตว์ ตามโครงการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าชนิดเชื้อตายผลิตจากเซลล์เพาะเลี้ยง (Vero cell) สำหรับคนและสัตว์ ซึ่งในรายละเอียดโครงการฯ ได้มีการนำเสนอให้ใช้ไวรัสเรบีส์ ที่สามารถเพิ่มจำนวนได้ดีในเซลล์เพาะเลี้ยง โดยจะทำการคัดเลือกสายพันธุ์ก่อโรคในประเทศไทยเป็นหลัก นอกจากนี้จะมีการพัฒนากระบวนการผลิต การควบคุมคุณภาพ รวมถึงการทดสอบในสัตว์ทดลองในประเทศไทย โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติฯ จะเป็นผู้ให้การสนับสนุนการวิจัยและการผลิตวัคซีน และได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ องค์การเภสัชกรรม และกรมปศุสัตว์ เพื่อร่วมกันหาแนวทางสนับสนุนโครงการนี้ ให้มีความสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ซึ่งมุ่งพัฒนาทางโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร แล้วต่อยอดการดำเนินการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการวิจัยสู่การผลิต เพื่อให้มั่นใจว่าในอนาคตคนไทยจะห่างไกลจากโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน
"ทั้งนี้ประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินโครงการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าชนิดเชื้อตายผลิตจากเซลล์เพาะเลี้ยง สำหรับคนและสัตว์นอกจากจะได้ไวรัสเรบีส์สายพันธุ์ไทยที่เหมาะสมในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าของประเทศและภูมิภาคในระยะสั้นแล้ว ในระยะกลางและระยะยาวจะทำให้ประเทศไทยมีวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ใช้ในคนและสัตว์อย่างเพียงพอ ลดการนำเข้า และส่งออกได้ รวมทั้งสามารถยกระดับศักยภาพด้านเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศในภาพรวม ทำให้สามารถผลิตวัคซีนชนิดอื่นและยาชีวภาพจากเซลล์เพาะเลี้ยงได้อีกหลายชนิด" ดร.นพ.จรุง กล่าวในตอนท้าย