จะเห็นได้ว่าแรงบันดาลใจในการออกแบบแฟชั่นนั้นมีหลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ของนักออกแบบ เช่นเดียวกับ "พริม" จุฬาลักษณ์ ไชยการ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาศิลปะการออกแบบพัตราภรณ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์เปลี่ยน "เบนโตะ" หรือกล่องข้าวญี่ปุ่น เป็นชุดดีไซน์สวยงาม หรูหรา เข้าตากรรมการ จนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขัน Sakura Collection 2018 Asia Student Award in Thailand โครงการที่เปิดโอกาสให้แก่นักศึกษาและนักออกแบบสมัครเล่นในทวีปเอเชีย เข้าร่วมแข่งขันการออกแบบแฟชั่น โดยมีหัวข้อในการแข่งขัน คือ "ประเทศญี่ปุ่น" ซึ่งผู้เข้าร่วมการแข่งขันต้องออกแบบผลงานบนพื้นฐานที่สื่อถึงความเป็นประเทศญี่ปุ่น
แรงบันดาลใจจากกล่องข้าวญี่ปุ่น
"พริม" นางสาวจุฬาลักษณ์ ไชยการ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาศิลปะการออกแบบพัตราภรณ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มธ. กล่าวว่า ในการออกแบบชุดแฟชั่นที่จะใช้แข่งขัน ทางโครงการได้เปิดกว้างให้ผู้เข้าร่วมแข่งขันได้ออกแบบและสร้างสรรค์ผลงานอย่างเต็มที่ แต่ต้องอยู่ในธีมที่กำหนด คือสื่อถึงความเป็นประเทศญี่ปุ่น จึงเป็นที่มาของแรงบันดาลใจในการออกแบบคือ "เบนโตะ" หรือ "ข้าวกล่องญี่ปุ่น" โดยตัวกล่องเบนโตะจะมีลักษณะเป็นช่องๆ สำหรับใส่อาหารแบบแยกประเภท จึงได้นำลักษณะของกล่องมาใช้ในการออกแบบชุด และผสมผสานเข้ากับเทคนิคการทอ เพื่อสื่อถึงอาหารหลากหลายชนิดในเบนโตะ เช่น ข้าวญี่ปุ่น ผักต้ม ปลาย่าง สาเก ซูชิ เป็นต้น
ชูกล่องข้าวญี่ปุ่น สร้างสรรค์สู่แฟชั่นอันงดงาม
"พริม" กล่าวว่า "เบนโตะ" มีวิธีการห่อเพื่อให้สะดวกต่อการพกพาที่เรียกว่า "ฟูโรชิกิ" (Furoshiki) เป็นวัฒนธรรมในการห่อของด้วยผ้าในประเทศญี่ปุ่น โดยผ้าที่นำมาห่อจะมีลวดลายที่สวยงามและพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ตามยุคสมัย จึงเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบลวดลายขึ้นมาใหม่ ให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมการกินของชาวญี่ปุ่น ที่มีการเลือกอาหารตามฤดูกาล ได้แก่ ฤดูใบไม้ร่วง ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ผลิ และฤดูหนาว
ผ้าที่ใช้ในการพิมพ์ลวดลาย เป็นผ้าทิ้งตัวและเมื่อนำไปพิมพ์ลายด้วยเทคนิคซิล์ค สกรีน (Silk Screen) จะทำให้ได้สีที่สวยงาม โดยผ้าที่ใช้ห่อหรือมัดจะมีเนื้อผ้าที่คงรูป เพื่อแสดงรูปแบบของการห่อและมัดได้อย่างชัดเจน ส่วนวัสดุที่ใช้ในเทคนิคการทอ ได้แก่ ไหมพรม ด้าย และเส้นใยหนาที่มีผิวสัมผัสนุ่ม นอกจากนั้น ยังใช้เทคนิคการสานหวาย อันเป็นวัสดุจากธรรมชาติ เพื่อสื่อถึง "เบนโตะดั้งเดิม" ที่ใช้ไม้ในการทำและยังสื่อถึงเสื่อไม้ไผ่ ที่นิยมนำมาปั้นข้าวหรือทำซูชิอีกด้วย
สำหรับโทนสีของชุดนั้น เลือกใช้สีหลักที่แฝงความหมายของความรัก ได้แก่ สีแดง คือความรักที่มั่นคง, สีขาว คือความรักที่บริสุทธิ์ และสีดำ คือความรักนิรันดร์ เพราะ "เบนโตะ" เปรียบเสมือนตัวแทนของความรัก เพราะสมัยก่อนภรรยาจะเตรียมเบนโตะให้สามีไปทำงาน พ่อแม่เตรียมเบนโตะให้ลูกไปโรงเรียน หรือแม้แต่ในวัยหนุ่มสาวให้เบนโตะเป็นการแสดงความรักในโอกาสต่างๆ อีกทั้งยังมีการใช้ สีเขียว สีทอง สีเหลือง สีเทา และสีน้ำตาล ในการทำลวดลายเพิ่มเติมในการออกแบบ
จากนักออกแบบมือสมัครเล่น สู่เส้นทางนักออกแบบระดับสากล
จากการชนะการประกวดในครั้งนี้ "พริม" จึงได้เป็นตัวแทนของประเทศไทย ไปร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์ด้านการออกแบบแฟชั่น และได้เรียนคอร์สแฟชั่นระยะสั้นกับทางสถาบัน บุนกะแฟชั่น (Bunka Fashion School) ประเทศญี่ปุ่น พร้อมโชว์ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศบนรันเวย์ร่วมกับประเทศอื่นๆ ที่ร่วมโครงการ บนรันเวย์ คอลเลคชั่น เจแปน แฟชั่น (Collection Japan Fashion) ณ ประเทศญี่ปุ่น
"พริม" กล่าวว่า ถือเป็นประสบการณ์ที่ดี ที่ได้ไปโอกาสไปเรียนรู้การออกแบบแฟชั่นที่ญี่ปุ่น เพราะที่ญี่ปุ่นมีการเรียนการสอนที่เป็นมืออาชีพ ส่งผลให้ตนเองเกิดการพัฒนาด้านฝีมือการออกแบบ ได้รับความรู้และเทคนิคด้านแฟชั่นที่หลากหลายและได้แลกเปลี่ยนความรู้ด้านแฟชั่นกับผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเปรียบเสมือนการเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ แต่เหนือสิ่งอื่นใดการได้ร่วมโชว์ผลงานของตนบนรันเวย์ระดับนานาชาติ ถือเป็นประสบการณ์ที่มิอาจประเมินค่าได้ นอกจากจะเป็นความภาคภูมิใจของตนเองแล้ว ยังเป็นเครื่องยืนยันแก่ประชาคมโลกว่า "คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก"
แม้ในตอนแรก "พริม" ไม่ได้คาดหวังว่าจะชนะการประกวด คิดแค่เพียงว่าทำให้เต็มที่และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้ได้มากที่สุด แต่การที่ได้รับรางวัลชนะเลิศนั้นถือเป็นประสบการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ ที่ส่งเสริมให้ตัวเองรู้สึกมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น "พริม" จึงกล่าวทิ้งท้ายว่า "โอกาสไม่ใช่สิ่งที่จะมาหาเราได้ง่ายๆ บางครั้งเราต้องหาโอกาสให้กับตัวเอง เมื่อเราได้รับโอกาสนั้นมาแล้ว ต้องทำให้เต็มที่ที่สุด ไม่ว่าจะเจออุปสรรคอะไร ต้องรู้จักที่จะอดทนแล้วพยายามก้าวผ่านมันไปให้ได้ ไม่มีอุปสรรคไหนใหญ่เกินความพยายามของเรา แม้ไม่มีประสบการณ์แต่เราสามารถเรียนรู้และพัฒนาตัวเองได้"
สำหรับผู้ที่สนใจในโครงการหรือต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานสื่อสารองค์กร มธ. โทรศัพท์ 02-564-4493 หรือเว็บไซต์ www.tu.ac.th