นายสุริยน พัชรครุกานนท์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา(ส.ป.ก.นครราชสีมา) มีแผนก่อสร้างฝายชะลอน้ำประเภทชั่วคราว ในเขตปฏิรูปที่ดิน จำนวน 25 แห่ง ในพื้นที่ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง (หมู่ที่ 9 จำนวน 2 แห่ง หมู่ที่ 15 จำนวน 3 แห่ง) และ พื้นที่ตำบลวังน้ำเขียว อำเภอวังน้ำเขียว (หมู่ที่ 16 จำนวน 20 แห่ง) ส.ป.ก. โดยสำนักพัฒนาพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน (สพป.) ร่วมกับสำนักงาน การปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา จึงได้จัดกิจกรรม คลิกออฟ (Kick off) เริ่มต้นโครงการก่อสร้างฝายชะลอน้ำประเภทชั่วคราว ในเขตปฏิรูปที่ดิน ณ หมู่ที่ 15 ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ในวันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม 2561 โดยสาเหตุที่เลือกพื้นที่แห่งนี้ สืบเนื่องจากเกษตรกรมีความต้องการพัฒนาพื้นที่ที่มีสภาพเสื่อมโทรม และเป็นพื้นที่ตามนโยบายรัฐบาลที่จัดที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรผู้ไร้ที่ดินทำกิน เมื่อปี พ.ศ.2560 โดยมีผู้เข้าร่วมงานจำนวน 100 ราย ประกอบด้วยสมาชิกสหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินปากช่อง (คทช.) จำกัด เกษตรกรรุ่นใหม่ เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ ผู้นำท้องที่ เจ้าหน้าที่จากองค์การบริหารงานส่วนตำบล และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมเป็นเกียรติในครั้งนี้ และในระยะต่อไปจะมีการดำเนินโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ การส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝก การปลูกป่าในรูปแบบวนเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน คาดว่าโครงการดังกล่าว จะก่อเกิดประโยชน์ในด้านการอนุรักษ์แหล่งต้นน้ำลำธารและการรักษาระบบนิเวศน์ในพื้นที่ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในชุมชน เสริมสร้างองค์ความรู้ ในการสร้างฝายชะลอน้ำฯ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ของฝายชะลอน้ำฯ และมีการขยายผลในพื้นที่อื่นๆในช่องทางต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เอกสารเผยแพร่ สื่อสารมวลชน สื่อสารเทคโนโลยีสนเทศ เครือข่ายเกษตรกรและผู้สนใจ
ด้าน นายไพรัตน์ โลหณุต รักษาการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า สำหรับรูปแบบที่ใช้ในการสร้างฝายเป็นรูปแบบฝายชะลอน้ำประเภทชั่วคราว ออกแบบโดยวิศวกรจากสำนักพัฒนาพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ใช้สร้างถนนลำน้ำหรือร่องน้ำขนาดกว้างไม่เกิน ๖ เมตร ใช้ไม้ไผ่หรือไม้อื่นๆ(ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง3"-4" ความยาว 6 เมตร)ที่จัดหาได้ในท้องถิ่นเป็นโครงสร้างยึดกระสอบทราย โดยใช้ทรายมีส่วนผสมของปูนซีเมนต์ต่อทรายในอัตราส่วน 1 : 10 เพื่อทำให้ทรายมีการจับตัวเป็นก้อนหลังจากสัมผัสกับน้ำ ทำให้โครงสร้างฝายมีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น มีแนววางกระสอบทราย 2 แนว เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของตัวฝาย งบประมาณที่ใช้ในการสร้างฝาย จำนวน 9,370 บาทต่อ 1 ฝาย จัดแบ่งค่าใช้จ่ายเป็น 2 ส่วน คือ 1).ค่าวัสดุ เป็นเงินประมาณ 5,770 บาท 2).ค่าจ้างแรงงาน เป็นเงินประมาณ 3,600 บาท (ขึ้นอยู่กับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในจังหวัด) โดยใช้แรงงาน 4 ราย ระยะเวลาทำงาน 3 วันต่อฝาย 1 แห่ง
และวัสดุสำคัญที่ใช้ทำกิจกรรม คือ
1. ไม้ไผ่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3" – 4" ความยาว 6 เมตร จำนวน 26 ท่อน
2. ปูนซีเมนต์ จำนวน 14 ถุง
3. ทรายหยาบ จำนวน 4.50 ลูกบาศก์เมตร
4. ตะปูตอกไม้ ขนาด 5" จำนวน 2.50 กิโลกรัม
5. กระสอบทราย 18" x 30" จำนวน 130 ใบ
6. เชือกใยยักษ์ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 มิลลิเมตร จำนวน 265 เมตร