การเรียกร้องค่าเสียหายกรณีถุงลมนิรภัยทาคาตะบกพร่อง
ศาสตราจารย์เอริก ดี. กรีน เจ้าหน้าที่พิเศษซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากศาลให้กำกับดูแลกองทุน Takata Individual Restitution Fund ("IRF") มูลค่า 125 ล้านดอลลาร์ของกระทรวงยุติธรรม และทรัสตีที่ศาลแต่งตั้งขึ้นสำหรับกองทุน Takata Airbag Tort Compensation Trust Fund ("TATCTF") ซึ่งจัดตั้งขึ้นในคดีล้มละลายของบริษัททาคาตะ ได้ประกาศในวันนี้ว่า เขาได้เปิดโครงการชดเชยค่าเสียหายสำหรับการบาดเจ็บของบุคคล (personal injury) หรือการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นโดยมิชอบ (wrongful death) อันเนื่องมาจากการระเบิดของตัวสูบลม (inflator) ในถุงลมนิรภัยทาคาตะที่ใช้แอมโมเนียมไนเตรตในการพองตัว ("ความบกพร่องของตัวสูบลมในถุงลมนิรภัยทาคาตะ") โดยกองทุน TATCTF มีมูลค่าประมาณ 140 ล้านดอลลาร์
บุคคลที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตโดยมิชอบ อันเนื่องมาจากตัวสูบลมในถุงลมนิรภัยทาคาตะ สามารถดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายได้สามประเภท ได้แก่ (i) "IRF Claim" เป็นการเรียกร้องค่าเสียหายจากกองทุน IRF ซึ่งเป็นกองทุนชดเชยค่าสินไหมทดแทนสำหรับบุคคลที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตโดยมิชอบ กองทุนนี้กำกับดูแลโดยเจ้าหน้าที่พิเศษ และจัดตั้งขึ้นภายใต้คำสั่ง Restitution Order ของศาลแขวงสหรัฐสำหรับเขตตะวันออกของรัฐมิชิแกน ("ศาลแขวง") ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560 สืบเนื่องจากการดำเนินคดีอาญาของกระทรวงยุติธรรมต่อบริษัททาคาตะ, สหรัฐ กับ ทาคาตะ คอร์ปอเรชั่น (U.S. v. Takata Corporation), คดีหมายเลข 16-cr-20810 (E.D. Mich.), (ii) การเรียกร้องประเภท "Trust Claim" ต่อทาคาตะ ซึ่งต้องดำเนินการผ่านทางกองทุน TATCTF ที่กำกับดูแลโดยทรัสตี และจัดตั้งขึ้นตามแผนฟื้นฟูกิจการมาตรา 11 ("แผนล้มละลาย") ของทาคาตะ ในศาลล้มละลายสำหรับเขตเดลาแวร์ ("ศาลล้มละลาย") และ (iii) การเรียกร้องประเภท "POEM Claim" ต่อผู้ผลิตอุปกรณ์ดั้งเดิมที่เข้าร่วมโครงการ ("POEM" อนึ่ง ปัจจุบันมี POEM รายเดียวคือ Honda/Acura) ซึ่งการตัดสินจะต้องเป็นไปตามแผนล้มละลาย ผ่านทางกองทุน TATCTF ที่ดูแลโดยทรัสตี
การเรียกร้องค่าเสียหายแต่ละประเภทจากทั้งสามประเภทดังกล่าวนี้ มีข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องในแต่ละประเภท และการเรียกร้องค่าเสียหายแต่ละประเภทจะครอบคลุมเฉพาะการบาดเจ็บทางร่างกายและการเสียชีวิตโดยมิชอบ ซึ่งเป็นผลมาจากความบกพร่องของตัวสูบลมในถุงลมนิรภัยทาคาตะ โดยการเรียกร้องค่าเสียหายทั้งสามประเภทที่อธิบายในข้างต้นนั้นจะไม่ครอบคลุมถึงการเรียกร้องที่เกี่ยวกับการบาดเจ็บหรือการเสียชีวิตอันมีสาเหตุจากชิ้นส่วนอื่น ๆ ของถุงลมนิรภัย เช่น ถุงลมนิรภัยไม่ทำงาน การพองตัวขึ้นเองของถุงลมนิรภัย การบาดเจ็บจากการชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับตัวสูบลม หรือการได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจ (economic losses) ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บทางร่างกายหรือการเสียชีวิต
บุคคลสามารถขอรับแบบฟอร์มการเรียกร้องค่าเสียหาย ซึ่งรวมถึงคำแนะนำโดยละเอียดเกี่ยวกับวิธีการยื่นคำร้องในเว็บไซต์ IRF, www.takataspecialmaster.com หรือเว็บไซต์ TATCTF, www.TakataAirbagInjuryTrust.com
การกำกับดูแลกระบวนการเรียกร้องค่าเสียหายและแหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
ศาสตราจารย์กรีนได้รับการแต่งตั้งโดยศาลแขวงให้ทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่พิเศษดูแลเรื่องการเรียกร้องค่าเสียหายจากกองทุน IRF และได้รับการแต่งตั้งจากศาลล้มละลายให้ทำหน้าที่เป็นทรัสตีดูแลการเรียกร้องค่าเสียหายประเภท Trust Claims และการเรียกร้องค่าเสียหายประเภท POEM Claims
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ที่จะมีสิทธิยื่นคำร้อง, กำหนดวันยื่นคำร้อง และวิธีการยื่นคำร้อง กรุณาเข้าไปที่ www.takataspecialmaster.com , www.TakataAirbagInjuryTrust.com , อีเมล [email protected] หรือโทรฟรีที่หมายเลข (888) 215-9544
ที่มา: Takata Special Master/Trustee