โครงการ U.REKA เดินหน้าผลักดันภารกิจเร่งสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง รักษาที่ยืนของไทยบนเวทีเศรษฐกิจโลก

จันทร์ ๐๔ มิถุนายน ๒๐๑๘ ๑๕:๔๔
โครงการ U.REKA โดยความร่วมมือของดิจิทัล เวนเจอร์ส ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) และ The Knowledge Exchange for Innovation จัด U.REKA Open House & Bootcamp ก้าวสำคัญก้าวแรกของโครงการ U.REKA ซึ่งเกิดจากการร่วมมือครั้งแรกระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและภาคอุตสาหกรรมเพื่อส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมจากเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology) เปิดเวทีเสวนาวาระระดับชาติครั้งสำคัญด้วยกรณีศึกษาเส้นทางสู่ความเป็นชาติแห่งนวัตกรรมของอิสราเอล ระดมผู้บริหารองค์กรยักษ์ใหญ่ไทยถกแนวทางพลิกธุรกิจรับมือผลกระทบจากเทคโนโลยี อัพเดทพัฒนาการล่าสุดของ Deep Tech หลัก 6 ประเภท พร้อมเดินหน้าผลักดัน นักสร้างนวัตกรรมให้ตอบโจทย์ธุรกิจ ส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันของไทยในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

อรพงศ์ เทียนเงิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า "โครงการ U.REKA มีพันธกิจสำคัญในการสร้างระบบนิเวศที่เชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรมและภาคการศึกษาของไทยเข้าด้วยกัน เพื่อให้ภาคการศึกษามีโอกาสพัฒนานวัตกรรมจากเทคโนโลยีขั้นสูงที่ตอบโจทย์ได้ตรงความต้องการของภาคธุรกิจ และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ได้ จากการจัดอันดับล่าสุดของ IMD World Competitiveness Centre ในปี 2017 ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 27 ของโลก และความสามารถทางด้านดิจิทัลของไทยอยู่ในอันดับที่ 41 จากทั้งหมด 63 ประเทศ ซึ่งล่าสุดในปี 2018 ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยตกไปอยู่ที่อันดับ 30 ของโลก หากเรายังไม่สามารถเร่งสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ให้เร็วทันกับกระแสโลก ไทยมีโอกาสจะตกไปอยู่อันดับท้าย ๆ และอาจกลายเป็นประเทศไม่มีส่วนสำคัญอะไรต่อเศรษฐกิจโลกภายในเวลาเพียงไม่กี่ปีนับจากนี้"

"จากการเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการได้รับความสนใจเกินคาดจากทีมนักพัฒนาถึง 63 ทีมจากสถาบันการศึกษาทั้งไทย และต่างประเทศ รวมทั้งสถาบันชั้นนำจากสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และจีน และมี 32 ทีมได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมกิจกรรม Ideation Bootcamp และในปีแรกนี้ เราได้กำหนดโจทย์ที่มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ใน 3 อุตสาหกรรมคือ ค้าปลีก ท่องเที่ยว และบริการทางการเงิน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักที่มีบทบาทต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยทีมที่นำเสนอไอเดียและผ่านการคัดเลือกเข้าสู่ช่วง Incubation จะได้รับเงินทุนให้เปล่าทีมละ 200,000 บาทเพื่อเป็นทุนตั้งต้นในการพัฒนาตลอดระยะเวลา 3 เดือน หลังจากนั้น ทีมที่ได้รับคัดเลือกจะได้รับเงินทุนในการทำวิจัยต่ออีก 3 – 6 ล้านบาท และหากผลิตภัณฑ์หรือบริการเหล่านั้นสามารถตอบโจทย์ธุรกิจได้จริง จะได้รับเงินทุนเพื่อเริ่มต้นธุรกิจสูงสุด 10 ล้านบาท"

เดแกน อโลนี (Dagan Alony) ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจและการค้า สถานทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย กล่าวในการบรรยายพิเศษเรื่องเส้นทางแห่งการก้าวสู่การเป็นประเทศศูนย์กลางสตาร์ทอัพของโลกของอิสราเอล ว่าแรงผลักดันที่ทำให้อิสราเอลต้องพัฒนาความเป็นผู้นำทางด้านการวิจัยและนวัตกรรมเกิดจากข้อจำกัดต่าง ๆ ทั้งความเป็นประเทศที่มีพื้นที่เล็ก ประชากรน้อย และส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพจากถิ่นอื่น มีทรัพยากรธรรมชาติน้อย การทำธุรกิจจึงมองแค่ตลาดในประเทศไม่ได้ แต่ต้องมองไกลถึงตลาดโลก ปัจจุบัน อิสราเอลมีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ สูงเป็นอันดับสามของโลก ใช้งบประมาณด้านวิจัยและพัฒนาเป็นสัดส่วนถึง 4.3% ของจีดีพีของประเทศ สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก เช่นเดียวกับสัดส่วนของวิศวกรต่อจำนวนประชากรที่สูงถึง 135 คนต่อประชากร 100,000 คน สูงกว่าสหรัฐฯ ที่มีเพียง 75 คนต่อประชากร 100,000 คนถึงเกือบเท่าตัว และมีการลงทุนแบบเวนเจอร์แคปิตอลเป็นสัดส่วนถึงเกือบ 0.40% ของจีดีพีของประเทศ ซึ่งการสร้างระบบนิเวศที่ส่งเสริมนวัตกรรมของอิสราเอลเกิดขึ้นจากแนวคิดการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนที่ดำเนินมานานกว่า 40 ปี ซึ่งเป็นการผสานความร่วมระหว่างทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง ทั้งระหว่างภาคอุตสาหกรรมและการศึกษา ระหว่างรัฐและหน่วยงานเอกชน และนโยบายของภาครัฐเอง

ในช่วงเสวนาพิเศษ ในหัวข้อผลกระทบจากเทคโนโลยีพลิกโฉมโลก (Disruptive Technology) ในธุรกิจต่าง ๆ ผู้บริหารองค์กรชั้นนำของไทยจากอุตสาหกรรมค้าปลีก ท่องเที่ยว และการเงิน มาร่วมเผยมุมมองการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดและคงความเป็นผู้นำ เริ่มจาก เกรียงศักดิ์ ตันติพิภพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดิ เอ็มโพเรี่ยม กรุ๊ป เห็นว่าอีคอมเมอร์ซคือเทรนด์ใหม่ แต่ยังไม่ได้มาทำลายธุรกิจรีเทลในประเทศไทยเหมือนอย่างที่เกิดขึ้นสหรัฐฯ หรือยุโรป เพราะลูกค้ายังต้องการประสบการณ์ในการไปจับจ่ายซื้อสินค้าด้วยตัวเอง และองค์ประกอบอื่น ๆ ซึ่งการซื้อสินค้าออนไลน์ไม่สามารถทดแทนได้ หน้าที่ของร้านค้าหรือศูนย์การค้าคือต้องสามารถทำหน้าที่เป็นเพื่อนกับลูกค้าได้ทุกวัน ตลอดเวลา (Personalization) ให้บริการที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะ (Customization) การขยายช่องทางสู่โมบายเพื่อเข้าถึงลูกค้าจากทั่วโลก (Digitization) และสร้างกิจกรรมพบปะสังสรรค์ (Socialization) เช่น อีเวนต์หรือปาร์ตี้ที่สนุกสนาน

ผู้บริหารจากธุรกิจท่องเที่ยว วัลลภา ไตรโสรัส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ที.ซี.ซี. แคปปิตอลแลนด์ จำกัด เสริมว่า ในวันนี้ บริการจองที่พักออนไลน์รายใหญ่ booking.com มีมูลค่าตามราคาตลาดสูงกว่าเว็บไซต์ของเครือโรงแรมชั้นนำของโลก 10 แห่งรวมกันเสียอีก จึงเห็นได้ชัดว่าธุรกิจที่เกี่ยวกับการเดินทางท่องเที่ยวได้เข้าไปอยู่บนออนไลน์แพล็ตฟอร์มแล้ว ผู้ประกอบการจำเป็นต้องสร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่สามารถสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่ตอบสนองความต้องการลูกค้า และเครื่องมือใหม่ ๆ ที่สามารถใช้ประโยชน์จากดาต้าเกี่ยวกับลูกค้าที่มีมหาศาลมาวิเคราะห์เพื่อสร้างความพึงพอใจใหม่ ๆ หรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่มาใช้ในการบริหารจัดการการใช้พลังงานไฟฟ้าในโรงแรมและอาคารต่าง ๆ

ด้านมุมมองจากตัวแทนอุตสาหกรรมบริการด้านการเงิน อรพงศ์ เทียนเงิน กล่าวว่า วันนี้ คู่แข่งของธนาคารไม่ใช่เพียงธนาคารด้วยกันเองอีกแล้ว แต่ยังหมายรวมไปถึงผู้เล่นรายใหญ่ที่มีเทคโนโลยีล้ำยุคและเงินทุนมหาศาลอยู่ในมือ ไม่ว่าจะเป็น Alibaba หรือ Tencent หรือแม้แต่ Grab ซึ่งกำลังจะให้บริการสินเชื่อสำหรับคนขับแท็กซี่ และ LINE ที่กำลังเปิดบริการรับแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลและบริการทางการเงิน เป็นสัญญาณเตือนที่ธนาคารต่าง ๆ ต้องเร่งปรับตัวขนานใหญ่เพื่อให้ทันกับการแข่งขันบนสนามใหม่ ๆ

ในโอกาสนี้ ไมโครซอฟท์ ยังได้นำเสนอข้อมูลและภาพรวมเกี่ยวกับ Deep Tech สาขาสำคัญที่กำลังจะพลิกโฉมโลก เริ่มจาก Cloud Computing ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้รูปแบบการทำธุรกิจในยุคนี้ง่ายขึ้น ไม่จำเป็นต้องลงทุนกับทรัพย์สินด้านไอที อย่างเซิร์ฟเวอร์ที่มีราคาแพง และช่วยลดต้นทุนในการจัดเก็บข้อมูลขององค์กรได้มากมายมหาศาลโดยที่ยังให้ขีดความสามารถด้านปริมาณข้อมูลได้อย่างไม่จำกัด เพื่อจะได้มุ่งใช้เงินลงทุนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลัก และยังเป็นเทคโนโลยีที่เข้าเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลองค์กร ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าหากมีระบบที่น่าเชื่อถือ ข้อมูลสามารถเก็บรักษาไว้ที่ใดก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่ของเจ้าของธุรกิจ

ส่วนเทคโนโลยี AI ในวันนี้ ก็เรียกได้ว่าพัฒนาไปถึงจุดที่เทียบเคียงได้กับความสามารถของมนุษย์แล้ว โดยในปีที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ประสบความสำเร็จในการพัฒนาความสามารถในการเข้าใจคำพูด (Speech Recognition) และสามารถสร้างภาพจากคำพูดได้ (Language to Image Systhesis) และความสามารถในการแปลภาษาจากอังกฤษเป็นจีน และจีนเป็นอังกฤษ และระบบ AI มีการนำไปใช้ประโยชน์จริงแล้วในหลากหลายรูปแบบ เช่น การใช้โดรนที่ควบคุมด้วย AI เพื่อตรวจสอบจุดที่มีปัญหาของสายไฟฟ้าแรงสูงในพื้นที่ภูมิประเทศห่างไกลซึ่งยากลำบากในการเข้าถึงของมนุษย์ ใช้ในการตรวจสอบสินค้าบนชั้นวางในร้านค้าว่าจัดวางได้ถูกต้องตามประเภทหรือไม่ และใช้ในการตรวจสอบการทำงานของเครื่องจักร และส่วนประกอบของเครื่องบินในศูนย์ซ่อมบำรุง เพื่อประเมินแนวทางการซ่อมบำรุงก่อนที่จะเกิดปัญหา

ภายในงาน U.REKA Open House & Bootcamp นี้ ภารกิจที่ทั้ง 32 ทีมที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการของ ทั้ง 3 วัน คือ การคิดนวัตกรรมชั้นสูงใหม่ ๆ ที่จะแก้ปํญหาให้กับ 3 ธุรกิจหลัก โดยอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งมี 11 ทีมที่ได้ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่ช่วง Incubation เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อบ่มเพาะความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีในมิติของธุรกิจจากการสนับสนุนต่าง ๆ จากพันธมิตรโครงการ U.REKA

เกี่ยวกับ U.REKA

โครงการ U.REKA เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและภาคอุตสาหกรรมเพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพในทุก ๆ ด้าน ตั้งแต่การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology) จนกระทั่งพัฒนาให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการเพื่อนำออกสู่ตลาดได้ อีกทั้งโครงการนี้ยังมีจุดมุ่งหมายที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกันพัฒนาประเทศด้านระบบนิเวศทางนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างแท้จริงและยั่งยืน

พันธมิตรโครงการ U.REKA ประกอบด้วย ภาคธุรกิจ บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ด้านเทคโนโลยี ได้แก่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ด้านกฎหมาย ได้แก่ Baker & McKenzie ภาคการศึกษาได้แก่ Knowledge Exchange (KX) และคณะวิศวกรรมศาสตร์จากสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ข้อมูลเพิ่มเติม http://www.u-reka.co/

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO