เผยเทคนิคใหม่เพิ่มความสวยหล่ออย่างเป็นธรรมชาติและปลอดภัย พร้อมอัพเดทเทรนด์เสริมความงามที่กำลังมาแรง ในงานประชุมวิชาการนานาชาติ Aesthetic Dermatology Academy Conference (ADAC 2018) ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 4 และการอบรมหลักสูตรเข้มข้น "3rd iClass Anatomy Cadaver Course Asia" ซึ่งได้รับความสนใจจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจาก 10 ประเทศทั่วเอเชียกว่า 500 คน เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง ระหว่างวันที่ 23 – 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา
ศาสตราจารย์ นายแพทย์วรพงษ์ มนัสเกียรติ หัวหน้าสาขาตจศัลยศาสตร์ ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์เลเซอร์ผิวหนังศิริราช เผยว่า งานประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อนำวิทยาการความก้าวหน้าด้านศัลยกรรมความงาม ได้แก่ เลเซอร์ โบทูลินัม ทอกซิน และฟิลเลอร์ มาเผยแพร่ ให้แพทย์ในเอเชียแปซิฟิกได้รับความรู้ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ทันสมัยและเป็นความจริง ที่เน้นว่าเป็นความจริงก็เพราะว่างานประชุมวิชาการบางงานจะมีการแอบแฝงเรื่องการค้า บางงานวิทยากรถูกจ้างมาเพื่อโปรโมทสินค้า ซึ่ง ADAC ไม่ต้องการแบบนั้น เรามีสโลแกนว่า Science, Fact, Friendship ต้องการนำความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์ (science) ปราศจากการแทรกแซงเรื่องธุรกิจมาเผยแพร่ อะไรที่ได้ผลหรือไม่ได้ผลก็จะพูดตามความจริง (fact) และต้องการสร้างเครือข่ายมิตรภาพ (friendship) ทำให้แพทย์ผู้เข้าร่วมประชุมและบริษัทนำเข้าต่างๆ รู้สึกเหมือนเป็นเพื่อนกัน มีข้อมูลน่าสนใจก็มาแชร์กันในบรรยากาศที่เป็นกันเอง ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อการจัดงานสัมมนาวิชาการแบบนี้มากกว่ามานั่งฟังวิทยากรถ่ายทอดความรู้เพียงอย่างเดียว
"เราจัดในนาม ADAC เป็นปีที่ 4 ในปีนี้ ปีแรกมีหมอมาร่วมอบรม 250 คน และค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนปีนี้มีหมอถึง 500 คนจาก 10 ประเทศในเอเชีย ได้แก่ ไทย มาเลเซีย พม่า เวียดนาม กัมพูชา สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ฮ่องกงและจีน ถือว่าเป็นความสำเร็จที่น่าพอใจ เรายังคงเน้นในเรื่องความใกล้ชิดกับผู้เข้าอบรม โดยจัดให้มี section หนึ่งที่ได้รับความนิยมมากคือ Ask Me Anything เป็นการซักถามแบบโต๊ะกลม เปิดโอกาสให้ถามปัญหาที่ยังมีข้อสงสัยและให้วิทยากรผู้เชี่ยวชาญตอบปัญหานั้นอย่างใกล้ชิด" ศ.นพ.วรพงษ์ กล่าวเสริม
ด้าน ดร.ทรงวุฒิ ศักดิ์ชลาธร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเตอร์ฟาร์มา จำกัด ในฐานะผู้สนับสนุนงานสัมมนาเป็นปีที่ 2 กล่าวว่า "งานนี้เรานำเสนอเทคโนโลยีใหม่ๆ ในด้านหัตถกรรมการฉีดฟิลเลอร์ในผลิตภัณฑ์ที่ชื่อ Perfectha ที่ใช้ e-Brid Technology ที่จะทำให้ดูธรรมชาติแบบ 360 องศา และโบทูลินัม ทอกซิน เป็นโปรตีนลดเลือนริ้วรอยชื่อ Nabota เราเชิญผู้เชี่ยวชาญระดับโลกมาจากฝรั่งเศสและเกาหลี เพราะเล็งเห็นว่านอกจากผลิตภัณฑ์ที่ดีแล้ว เทคนิคการฉีดที่ดีก็สำคัญอย่างมาก เรายังได้จัดเวิร์คชอปที่เรียกว่า 3rd iClass Cadaver Workshop ซึ่งมีความพิเศษด้วยการเรียนผ่านอาจารย์ใหญ่แบบพิเศษคือ fresh cadaver เพราะการฉีดผลิตภัณฑ์ต่างๆ บนใบหน้าจะต้องดูว่าฉีดตรงไหนมีประสิทธิภาพดีที่สุดและปลอดภัยที่สุด ถ้าไม่รู้เทคนิคที่ถูกต้องอาจทำให้ใบหน้าบิดเบี้ยวผิดธรรมชาติ หลักสูตรครั้งนี้ advance มากขึ้น เผยถึงเทคนิคใหม่ๆ การฉีดตำแหน่งใหม่ๆ ซึ่งการฉีดแบบใหม่ๆ จะตอบโจทย์คนไข้ในแง่ของการไม่ต้องเจ็บตัวมากๆ จากการทำศัลยกรรม อีกทั้งการดูแลความสวยความงามแบบนี้ยังช่วยเรื่องการชะลอวัย เสริมความมั่นใจ มีงานวิจัยระบุว่ากลุ่มคนสูงอายุที่ทำศัลยกรรมเพิ่มความมั่นใจ จะทำให้ลดความเสี่ยงการเป็นโรคซึมเศร้าได้ และเข้าสังคมได้ดีขึ้น"
ศาสตราจารย์ฮัน ซึงโฮ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและประธานกลุ่มศาสตราจารย์สถาบันวิทยาศาสตร์พื้นฐานด้านการแพทย์ของประเทศเกาหลี วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้าน Anatomy กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือกระดูกโครงสร้างของใบหน้า ลักษณะการเปลี่ยนแปลงเมื่อมีอายุมากขึ้น ในแง่ของกล้ามเนื้อและผิวหนัง พื้นฐานใบหน้าของคนซีกโลกตะวันตกและตะวันออกไม่เหมือนกัน การใช้โบทูลินัม ทอกซินหรือฟิลเลอร์ จึงต้องใช้เทคนิคที่แตกต่างกัน แต่ไม่ว่าจะมีเทคนิค วิทยาการหรือนวัตกรรมความสวยความงามที่ใหม่แค่ไหนก็ตาม ถ้าหมอที่ลงมือรักษาคนไข้ไม่รู้เรื่องกายวิภาคบนใบหน้าดีพอ ก็ย่อมไม่เกิดประโยชน์และอาจเกิดโทษ แต่ถ้าเราเข้าใจกายวิภาค รู้ถึงความแตกต่างของพื้นฐานแต่ละคนได้ดีแล้ว ก็จะสามารถนำเทคโนโลยีบวกกับผลิตภัณฑ์ที่ดีมาปรับให้เหมาะสมกับแต่ละคนได้ โดยได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดและปลอดภัยที่สุดอีกด้วย
ผศ.นพ.มาศ ไม้ประเสริฐ รองคณบดีฝ่ายการแพทย์ และผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ วิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต เผยว่า วิทยาศาสตร์ด้านสุขภาพมันพัฒนาไปเรื่อยๆ เราเรียน Anatomy ตอนที่เราจบแพทย์มันไม่ได้ละเอียดมากพอที่จะนำไปใช้สำหรับความงาม ซึ่ง Anatomy ในใบหน้ามันมีความละเอียดลึกซึ้งมาก จะมีหลายชั้น หลายระดับ เช่น เราฉีดลงไปในคนไข้ในชั้นเดียวกันแต่ทำไมเห็นผลไม่เหมือนกัน เพราะมันมีรายละเอียดมากขึ้น ดังนั้นในกลุ่มแพทย์ การศึกษาจะไม่มีวันสิ้นสุด เพราะเวชศาสตร์ความงามมันไม่เคยมีรูปแบบการเรียนการสอนมาก่อน แต่มันมีวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ดังนั้นการที่เราศึกษาอยู่ตลอดเวลามันทำให้เราอัพเดต ทำให้เราทันสมัย ทำให้รู้ว่าตำแหน่งไหน จุดไหนที่ฉีดแล้วปลอดภัย ได้ผลมากที่สุด แพทย์ต้องเพิ่มมูลค่าหรือ Value ให้กับตัวเองโดยการไม่หยุดเรียนรู้ หมั่นศึกษาหาข้อมูลอยู่ตลอดเวลานั่นเอง
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงรังสิมา วณิชภักดีเดชา อาจารย์ประจำสาขาตจศัลยศาสตร์ ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อีกหนึ่งคนสำคัญผู้ริเริ่มและประสานงานด้านเนื้อหาของการประชุมวิชาการที่ทำให้เกิดงานนี้ขึ้น กล่าวว่า ในมุมของหมอที่ต้องดูแลรักษาคนไข้จะแบ่งออกเป็น 3 ข้อ คือ 1. ต้องมีจริยธรรม จะทำอะไรต้องมั่นใจว่าไม่อันตรายต่อผู้ป่วย 2. ต้องเลือกวิธีที่มีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์กับคนไข้มากที่สุด 3. ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ต้องมีคุณภาพ ไม่เกิดผลข้างเคียงกับคนไข้ ทั้งนี้ การทำหัตถกรรมในกลุ่มฟิลเลอร์ มีความนิยมมากขึ้นในช่วงหลัง พอยิ่งนิยมมากขึ้นก็มีความเสี่ยงที่จะเจอเคสที่เกิดผลข้างเคียงมากขึ้น ตัวอย่างผลข้างเคียงที่รุนแรง คือ ตาบอด เนื่องจากฉีดไปโดนระบบประสาทตา บางรายเกิดเนื้อตายบริเวณที่ฉีด เนื่องจากฟิลเลอร์ไปอุดตันเส้นประสาท เพราะฉะนั้นเทคนิคการฉีดที่ถูกต้องจึงสำคัญมากพอๆ กับการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ
"การที่หมอได้มาอบรมและเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับตำแหน่งและจุดอันตรายต่างๆ บนใบหน้า ได้อัพเดตความรู้จากผู้เชี่ยวชาญถึงระบบประสาทต่างๆ บนใบหน้าจึงมีความสำคัญมาก งานสัมมนาครั้งนี้มุ่งเน้นลดการเกิดความผิดพลาดหรือผลข้างเคียง ขณะที่การรักษาเมื่อเกิดกรณีผิดพลาด อย่างเคสที่ฉีดแล้วตาบอด ถ้ารู้ตัวว่ามีอาการตาบอดต้องรีบกลับมาหาหมอภายใน 90 นาที อาจจะสามารถรักษาระบบประสาทตาไว้ได้ จริงๆ แล้วการอบรมวันนี้ไม่ได้เน้นที่เทคนิคหรือ Anatomy เพียงอย่างเดียว เรายังให้ความสำคัญกับผลข้างเคียงว่าต้องทำอย่างไร หมอที่ดูแลต้องเป็นคนทำการรักษา แก้ปัญหาตรงนั้นด้วยตัวเองให้ได้"
รศ.พญ.รังสิมา ระบุอีกว่า "อีกเรื่องที่อยากฝาก ในฐานะที่คุณเป็นผู้บริโภคก็อยากให้เลือกบริโภคอย่างชาญฉลาด หาข้อมูลให้ดีและเช็คให้แน่นอนว่าหมอที่ไปหาเป็นหมอจริงๆ ไหม เดี๋ยวนี้เช็คได้ง่ายจากเว็บไซต์ของแพทยสภาได้เลยว่าหมอจบด้านไหน เชี่ยวชาญด้านไหน และการเลือกสถานที่ก็สำคัญ ควรต้องเป็น รพ. หรือคลินิกที่ผ่านการขึ้นทะเบียนแล้วเท่านั้น เพราะ รพ. และคลินิกที่มีทะเบียนถูกต้องจะมีข้อบังคับให้มีเครื่องมือช่วยชีวิตในกรณีฉุกเฉิน "อีกเรื่องที่สำคัญคือการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ ต้องตรวจสอบทุกครั้งว่ามี อย. รับรองไหม ซึ่งสามารถเช็คออนไลน์ได้ทันทีเหมือนกัน หลายคนอาจสงสัยถึงการรับรองจาก อย. ในช่วงนี้ กลัวว่าจะเชื่อถือไม่ได้เหมือนกรณีครีมและอาหารเสริมที่เป็นกระแสในตอนนี้ แต่จริงๆ แล้ว อย.จะมีมาตรการที่เข้มงวดมากในกรณีที่มาขอจดแจ้งเป็นยาที่ใช้ฉีดเข้าร่างกาย กระบวนการจะมากขึ้น ความปลอดภัยจะมากขึ้น ยาที่ใช้ฉีดเข้าร่างกายส่วนใหญ่ถ้ามี อย. รับรองจึงการันตีได้ว่าปลอดภัยจริงๆ
"แต่ก็จะมีกรณีที่เอายาที่ผ่านการรับรองมาใช้ผิดประเภท อย่างไปขอขึ้น อย.เป็นยาที่ใช้ภายนอก แต่พอเอามารักษาคนไข้กลับทำการฉีดเข้าไปแทน อันนี้อันตรายมาก แต่ก็ยังเห็นคลินิกบางที่ยังโฆษณากันอยู่ อย่างที่เราคุ้นๆ การฉีด Messo Fat หรือการฉีดลดไขมันในใบหน้า ทำให้หน้าเล็กลง จริงๆ แล้วทางการแพทย์ไม่มีตัวยาตัวไหนที่ฉีดแล้วลดไขมันบนใบหน้าได้ ยาที่คลินิกเอามาแอบอ้าง จริงๆ แล้วขึ้นทะเบียนเป็นยาทาภายนอกเท่านั้น ตรงนี้คือผิดและอันตรายมากๆ" รศ.พญ.รังสิมา เน้นย้ำ "หมอเองมองว่าประชาชนที่อยากเสริมความงามบางกลุ่มเลือกที่จะปิดหูปิดตาตัวเอง อาจเพราะด้วยปัจจัยทางด้านราคาที่ล่อตาล่อใจ หรือเห็นใครไปทำแล้วสวยและไม่ได้มีอะไรอันตรายให้เห็น เลยไปทำตามๆ กันบ้าง มันจึงเป็นเหมือนการสะท้อนว่า เสียงพูดจากนักวิชาการ ไม่ดังเท่าเสียงโฆษณาจากบริษัทพวกนี้" รศ.พญ.รังสิมา กล่าวทิ้งท้าย