ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯกล่าวตอนหนึ่งในการปาฐกถาพิเศษว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีนโยบายและกลไกการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมให้สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมอาหารและพัฒนาสินค้ามูลค่าเพิ่มสูงออกสู่ตลาด ครอบคลุมตั้งแต่การแข่งขันของวิสาหกิจชุมชน SMES ผู้ประกอบการรายใหญ่และรายใหม่ รวมถึงเกษตรกรและประชาชน อาทิ โครงการคูปองนวัตกรรม โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรม (iTAP) โครงการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันผู้ประกอบการโอทอปด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) 5 ภูมิภาค นอกจากนั้นกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ยังให้ความสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านการเกษตรและอาหารให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้อย่างเติบโต อาทิเช่น โครงสร้างพื้นฐานของ วว.ที่ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ ได้แก่ โรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร ศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม ศูนย์ความเป็นเลิศด้านสาหร่าย ตลอดจนการพัฒนา Food Design & Packaging,Smart Packaging รวมถึงงานบริการเพื่อขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ การรับรองมาตรฐานอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น
"...วทน. มีบทบาทสำคัญในการทำให้ประเทศเกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน ทำให้ประชาชน สังคม มีความเป็นอยู่ที่ดี อาหารยุคนี้และยุคหน้าไม่ใช่กินเพื่ออยู่ แต่จะเป็น food for healthy มากขึ้น และเป็น food safety รวมทั้งจะคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อาหารจะต้องเพียงพอกับประชากรของโลก ไม่มากไปหรือน้อยไป เชื่อมั่นว่าประเทศไทยสามารถแข่งขันด้านอาหารได้ในระดับโลก โดยใช้ วทน.มาประยุกต์ เตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมูลค่าของอาหารจะสูงขึ้นๆ ฉะนั้นเราจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จาก วทน. ให้เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ..." รศ.นพ.สรนิตฯ กล่าวสรุป
กิจกรรมภายในงาน "Taste of TISTS " ประกอบด้วยการเสวนาเรื่อง "Trends and Innovation in Global Food Business" และการเสวนาเรื่อง " Trends in Global Food Safety" รวมทั้งสาธิตการทำอาหารด้วยส่วนประกอบจากโครงการภายใต้การดำเนินงานการสนับสนุนของ วว.