นายธีระ วงษ์เจริญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดการสัมมนา "ศาสตร์พระราชาและนวัตกรรมเกษตร" ในงาน SIMA ASEAN Thailand 2018 ณ อาคาร 3 และ 4 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ว่า สถานการณ์และแนวโน้มของเทคโนโลยี และนวัตกรรมทางด้านการเกษตรที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ เช่น การนำเครื่องจักรกลมาใช้ในการเกษตรทดแทนแรงงาน การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อหน่วยให้สามารถทำผลผลิตได้ตลอดปี การพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในการเข้าถึงข้อมูล องค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านเกษตรต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์และการรวมกลุ่มให้เข้มแข็งนั้น นับว่าสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมจึงมีความจำเป็นตั้งแต่การผลิต การแปรรูป การบรรจุภัณฑ์ และระบบโลจิสติกส์ รวมทั้งการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานสินค้าเกษตรของอาเซียนและมาตรฐานสินค้าเกษตรของโลก ตลอดจนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายมุ่งมั่นให้ "เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี ประชาชนมีความมั่นคงด้านอาหาร เป็นฐานสร้างรายได้ให้แผ่นดิน" จึงได้ขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ 15 โครงการ โดยเฉพาะการส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรไทยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปปรับใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร ให้อยู่บนรากฐานของศาสตร์พระราชาและแนวทางหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งต่อยอดการพัฒนาภาคเกษตร และอุตสาหกรรมการเกษตร ด้วยการสร้างความเชื่อมโยงอุตสาหกรรมการเกษตรให้เกิดความเข้มแข็งระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างโอกาสในการขยายเครือข่ายทางธุรกิจสู่ภูมิภาคอาเซียนและตลาดโลก
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้กำหนดจัดงานสัมมนาภายใต้หัวข้อ "ศาสตร์พระราชาและนวัตกรรมการเกษตร" ในระหว่างวันที่ 7 – 8 มิถุนายน 2561 เวลา 10.00 – 16.00 น. ณ ห้องสัมมนาภายในอาคาร 4 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี/นวัตกรรมด้านการเกษตรและการน้อมนำศาสตร์พระราชามาใช้ และยกระดับทั้งศักยภาพของเกษตรกร และแก้ไขปัญหาด้านการเกษตร โดยมุ่งเน้นให้เกษตรกรสามารถเรียนรู้ และความรู้นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง เป็นการเสริมสร้างเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง ทั้งกระบวนการผลิตและโอกาสในการพัฒนาตนเองสู่การเป็น Start-Up หรือ SMEsด้านเกษตร ตลอดจนขยายตัวสู่เชิงเกษตรอุตสาหกรรม ส่งผลให้การพัฒนาภาคการเกษตรของไทยสามารถก้าวสู่สากลอย่างมั่นคง และเพิ่มโอกาสในการแข่งขันจนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาฯ ประกอบด้วย ผู้บริหารระดับนโยบายจากสภานิติแห่งชาติ ผู้บริหารและข้าราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกษตรกร ผู้แทนกลุ่มเกษตรกร สถาบันเกษตรกร ภาคเอกชน นักวิชาการ ผู้แทนสถาบันการศึกษา และผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนาฯ วันละ 1,000 คน รวม 2 วัน จำนวนทั้งสิ้น 2,000 คน
สำหรับการจัดสัมมนาประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1. การนำเสนอผลงานด้านนวัตกรรมเกษตร และ 2. การนำเสนอผลงานศาสตร์พระราชา โดยในช่วงเช้าเป็นภาคการบรรยาย และช่วงบ่ายเป็นการเสวนาจากวิทยากรที่มีประสบการณ์จริงมาถ่ายทอดซึ่งล้วนแต่เป็นประโยชน์ โดยแบ่งการสัมมนาออกเป็น 2 วัน ได้แก่ วันที่ 7 มิถุนายน 2561 เป็นการนำเสนอนวัตกรรรมเกษตร ซึ่งมุ่งเน้นนำเสนอผลงานเพื่อให้ผู้ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม คือ เกษตรกรและผู้ประกอบการเกษตร สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยมาเรียนรู้ในขั้นแรกด้วยการรู้จักดินว่าเหมาะกับการปลูกพืชด้วยนวัตกรรม Agri-map หรือแผนที่คุณภาพดินอย่างไร การใช้ปุ๋ยให้ผลผลิตมีคุณภาพ การทำเกษตรแม่นยำกับการผลิตข้าวของชาวนา นวัตกรรมเครื่องจักรกลกับการปลูกพืชไร่ เช่น มันสำปะหลัง นวัตกรรมสมุนไพร นวัตกรรมการเพิ่มมูลค่าผลผลิตจากข้าวและไยไหม พร้อมด้วยการเสวนาเรื่อง "นวัตกรรมการเกษตร 4.0 ยกระดับศักยภาพเกษตรไทย" ซึ่งผู้เสวนาประกอบไปด้วย ภาคเอกชน และเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จทางด้านการเกษตร จะกล่าวถึงนวัตกรรมการผลิตยางแบบลดต้นทุน การผลิตพืชผักผลไม้ในโรงเรือนทั้งระดับย่อม และระดับเกษตรอุตสาหกรรม ตัวอย่างของเกษตรกรแปลงใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในการใช้เครื่องจักรกลผลิตข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ และอ้อย
สำหรับวันที่ 8 มิถุนายน 2561 ได้รับเกียรติจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร) บรรยายพิเศษ เรื่อง "แนวพระราชดำริว่าด้วยศาสตร์พระราชา" และมีการนำเสนอผลงานศาสตร์พระราชา เรื่อง "การใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน ตามแนวทางทฤษฎีใหม่บนผืนดินเดิม" "ศาสตร์พระราชากับการพัฒนาข้าวและชาวนาไทย" "ศาสตร์พระราชากับการพัฒนาชุมชนต้นแบบการผลิตพืชตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" "บ้านเศรษฐกิจพอเพียงตามศาสตร์พระราชา" และ "การพัฒนาอย่างยั่งยืนจากยอดเขาสู่ท้องทะเล" ตลอดทั้งการเสวนาถ่ายทอดจากผู้มีประสบการณ์จริง เรื่อง "ศาสตร์พระราชากับการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน" โดยเน้นในเรื่องน้ำเพื่อการเกษตรซึ่งนับเป็นหัวใจสำคัญของการเกษตร ถ่ายทอดประสบการณ์ให้เกษตรกรได้รับความรู้และแนวทางปฏิบัติ เพื่อนำไปปฏิบัติได้จริง อาทิ "การสร้างฝายชะลอน้ำ โดยวิทยากรจากเครือข่ายฝายมีชีวิตแห่งประเทศไทย และจิตอาสากลุ่มรักษ์น้ำป่าน้ำรึม จ.ตาก" โครงการอ่างพวงเพื่อการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน จากกรมชลประทาน และโครงการฝนหลวงสร้างชีวิต โดยวิทยากรจากอาสาสมัครฝนหลวงดีเด่นระดับประเทศของไทย ซึ่งจะมีการถ่ายทอดความรู้แสดงให้เกษตรกรเห็นถึงการจัดหาน้ำเพื่อการเกษตรที่เป็นประโยชน์เน้นตามศาสตร์พระราชา เพื่อเกษตรกรสามารถนำไปพัฒนาและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
"การสัมมนาในครั้งนี้นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับเกษตรกร ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร นักวิชาการด้านการเกษตร ที่จะได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเยี่ยมชมนิทรรศการศาสตร์พระราชาและนวัตกรรมด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์หวังว่า ความรู้ที่ผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาได้รับโดยเฉพาะจากประสบการณ์ของเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ จะเป็นตัวอย่าง แนวทางและแรงบันดาลใจให้พี่น้องเกษตรกรและผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรนำไปปฏิบัติหรือปรับใช้ในการประกอบกิจการเกษตรของตน จึงขอเชิญชวนเกษตรกร ประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้าร่วมรับฟังในงานสัมมนาดังกล่าวเพื่อมาเรียนรู้ รับฟังการถ่ายทอดประสบการณ์จริง และนำไปปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ได้" ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว