โครงการ CG Fund เกิดขึ้นมาจากการรวมตัวขององค์กรในภาคตลาดทุน และตลาดการเงิน โดยมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม 11 แห่งที่ได้ออกจำหน่ายกองทุนรวมธรรมาภิบาลแล้วคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 4 พันล้านบาท และมีการกำหนดเกณฑ์การลงทุนร่วมกันว่าจะเลือกลงทุนเฉพาะหุ้นของบริษัทที่ผ่านการประเมินด้านธรรมาภิบาล (Corporate Governance Report of Thai Listed Companies) จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการไทย (IOD) ล่าสุดว่ามีคะแนนตั้งแต่ 4 ดาวขึ้นไป และต้องเป็นบริษัทที่ผ่านการการรับรองจาก CAC ว่ามีนโยบายและแนวปฏิบัติที่ได้มาตรฐานเพื่อป้องกันการทุจริตครบตามเกณฑ์ที่ CAC กำหนด
นอกจากนี้ ในการออกแบบโครงสร้างของ CG Fund บลจ. ทุกแห่งตกลงที่จะบริจาคเงิน 40% ของค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุนในโครงการ เพื่อนำไปบริจาคให้กับหน่วยงานที่ดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการต่อต้านการทุจริตอีกด้วย
"การที่กองทุน CG Fund ซึ่งเปรียบเสมือนตัวแทนของนักลงทุนสถาบันในประเทศเห็นถึงความสำคัญของโครงการ CAC และเลือกให้การสนับสนุนในครั้งนี้ ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่ากลุ่มนักลงทุนที่เป็นเสาหลักของตลาดทุนไทยเห็นความสำคัญและสนับสนุนการขยายเครือข่ายบริษัทที่ทำธุรกิจอย่างโปร่งใส ซึ่งกำลังขยายวงใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทย" ดร. บัณฑิต นิจถาวร เลขาธิการ CAC กล่าว
หลังจากที่บริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ของประเทศซึ่งมีพลังทางเศรษฐกิจสูงจำนวนมากเข้ามาร่วมประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการรับ-จ่ายสินบนกับ CAC และหลายบริษัทได้ผ่านการรับรองว่ามีนโยบายและแนวปฏิบัติป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันแล้ว ทางCAC ได้ริเริ่มพัฒนากระบวนการให้การรับรองบริษัท SME โดยปรับเกณฑ์การพิจารณารับรองให้อยู่ในรูปแบบที่กระชับ และปฏิบัติได้ง่ายขึ้นเพื่อให้เหมาะสมกับโครงสร้าง และศักยภาพของ SME แต่ยังคงสาระสำคัญเอาไว้ และอ้างอิงอยู่กับหลักพิจารณาความพอเพียงของแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการรับ-จ่ายสินบนของบริษัทที่กำหนดโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.)
ในปัจจุบัน มีบริษัทที่ได้เข้าประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตกับ CAC แล้ว 905 บริษัท ซึ่งในจำนวนนี้มีบริษัทที่ผ่านการรับรองจาก CAC ว่ามีนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันทุจริตครบตามเกณฑ์ที่ CAC กำหนดแล้วจำนวน 325 บริษัท
CAC เป็นโครงการที่บริษัทเอกชนเข้าร่วมตามความสมัครใจ การประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมโครงการ CAC เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมต่อต้านคอร์รัปชันและการจ่ายสินบนของบริษัท ส่วนบริษัทที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ CAC หมายถึงบริษัทที่เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์กับโครงการ CAC และได้ผ่านกระบวนการประเมินตนเอง ที่มีการสอบทานและลงนามรับรองโดยประธานคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัท หรือผู้ตรวจสอบบัญชีภายนอก ว่าบริษัทมีการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการทุจริตครบถ้วนตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการ CAC กำหนด ดังนั้น การรับรองโดยโครงการ CAC เป็นการรับรองว่าบริษัทมีนโยบาย และระบบป้องกันคอร์รัปชันและการให้สินบน แต่ไม่ได้เป็นการรับรองพฤติกรรมของตัวบุคคลในบริษัท