ในปัจจุบัน มีบริษัทที่ได้เข้าประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตกับ CAC แล้ว 905 บริษัท ซึ่งในจำนวนนี้มีบริษัทที่ผ่านการรับรองจาก CAC ว่ามีนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันทุจริตครบตามเกณฑ์ที่ CAC กำหนดแล้วจำนวน 325 บริษัท
"ในช่วงสองไตรมาสที่ผ่านมา เรายังคงเห็นบริษัทต่าง ๆ ยื่นขอรับรองกับ CAC อย่างคึกคัก ทั้งบริษัทจดทะเบียนและบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าภาคเอกชนกำลังตื่นตัวและต้องการที่จะทำธุรกิจไทยอย่างโปร่งใส ยิ่งมีบริษัทเข้ามาร่วมมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้ภาคธุรกิจมีพลังที่จะขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันมากขึ้น และเพิ่มโอกาสที่จะทำให้การทุจริตคอร์รัปชันหมดไปจากสังคมได้" ดร. บัณฑิต กล่าว
CAC เป็นโครงการที่บริษัทเอกชนเข้าร่วมตามความสมัครใจ การประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมโครงการ CAC เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมต่อต้านคอร์รัปชันและการจ่ายสินบนของบริษัท ส่วนบริษัทที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ CAC หมายถึงบริษัทที่เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์กับโครงการ CAC และได้ผ่านกระบวนการประเมินตนเอง ที่มีการสอบทานและลงนามรับรองโดยประธานคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัท หรือผู้ตรวจสอบบัญชีภายนอก ว่าบริษัทมีการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการทุจริตครบถ้วนตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการ CAC กำหนด ดังนั้น การรับรองโดยโครงการ CAC เป็นการรับรองว่าบริษัทมีนโยบาย และระบบป้องกันคอร์รัปชันและการให้สินบน แต่ไม่ได้เป็นการรับรองพฤติกรรมของตัวบุคคลในบริษัท
การรับรองของ CAC มีอายุสามปี ดังนั้นบริษัทที่ผ่านการรับรองไปแล้วจะต้องดำเนินกระบวนการประเมินตนเองและยื่นขอรับรองใหม่ทุกสามปี
สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ CAC และรายชื่อบริษัทที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ และผ่านการรับรองได้ที่: http://www.thai-cac.com