ดร.นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวว่าโรคเมลิออยโดสิส เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งพบได้ทั่วไปในดินและน้ำ มักพบในช่วงหลังฝนตกประมาณ 1-2 เดือน โรคเมลิออยโดสิสสามารถติดต่อจากการสัมผัสกับดินหรือน้ำ ผ่านทางบาดแผลที่ผิวหนัง หรือหายใจเอาฝุ่นจากดินหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อเจือปนอยู่เข้าไป เชื้อเมลิออยโดซิสสามารถอยู่ได้ในซากสัตว์ที่อยู่ในดินและน้ำ สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคนี้ส่วนใหญ่คือผู้ที่มีอาชีพที่ต้องสัมผัสดินและน้ำ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคไต และผู้ที่มีสุขภาพอ่อนแอ เช่น ติดสุราหรือทานยากดภูมิคุ้มกัน โรคนี้ก็อาจเข้าแทรกซ้อนได้ อาการโดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีไข้สูง หรือมีไข้เป็นเวลานานโดยไม่ทราบสาเหตุ หายใจไม่สะดวก หรือหอบเหนื่อย ซึมแบบไม่รู้ตัว ผู้ป่วยบางรายมีอาการคล้ายโรคปอดบวมรุนแรง บางรายมีอาการคล้ายวัณโรค
สำหรับสถานการณ์โรคเมลิออยโดสิสในเขตพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 7 มิถุนายน 2561 พบผู้ป่วยโรคเมลิออยโดสิสแล้วจำนวน 18 ราย โดยพบที่จังหวัดสงขลา 14 ราย จังหวัดตรัง 2 ราย จังหวัดสตูล 1 ราย จังหวัดนราธิวาส 1 ราย และพบผู้เสียชีวิตที่จังหวัดสงขลาจำนวน 3 ราย ซึ่งสาเหตุที่ทำให้พื้นที่ภาคใต้พบจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตสูงขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว คาดว่าอาจเป็นเพราะช่วงที่ผ่านมาพื้นที่ภาคใต้ประสบกับภาวะฝนตกหนักและมีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน น้ำจึงชะเอาเชื้อที่อยู่ในดินขึ้นมาอยู่ที่บริเวณผิวดิน ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
สำหรับการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรคเมลิออยโดสิส คือ ป้องกันไม่ให้เกิดบาดแผลเมื่อต้องสัมผัสดินและน้ำ หากมีแผลถลอกหรือไหม้ซึ่งสัมผัสกับดินหรือน้ำควรทำความสะอาดทันที ในบุคคลที่มีอาการของโรคเบาหวาน และมีบาดแผลรุนแรง ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับดินและน้ำ ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้สวมถุงมือและรองเท้ายางเพื่อป้องกัน และหากมีอาการไข้นานเกิน 5 วัน หรือมีบาดแผลอักเสบเรื้อรัง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคเมดิออยโดสิสสามารถโทรศัพท์สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422